การขออนุมัติแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2570 ต่อคณะรัฐมนตรี
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 July 2022 22:40
- Hits: 2326
การขออนุมัติแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2570 ต่อคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอดังนี้
1. อนุมัติแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2570 (แผนการป้องกันฯ)
2. มอบหมายให้กระทรวง กรม องค์กร และหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่นๆ ถือปฏิบัติตามแผนการป้องกันฯ
3. มอบหมายให้สำนักงบประมาณ (สงป.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ อปท. พิจารณาให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยและผลักดันให้มีงบประมาณเชิงบูรณาการด้าน การจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย
4. มอบหมายให้หน่วยงานแต่ละระดับจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับยุทธศาสตร์และบรรจุแผนงานและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไว้ในแผนปฏิบัติราชการประจำปีด้วย
5. มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สนับสนุนที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญในการประเมินมูลค่าความเสียหายในเชิงเศรษฐศาสตร์ที่เกิดจากผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากสาธารณภัยในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุข การผลิต การเกษตร การศึกษา ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภคที่สำคัญ การให้บริการขั้นพื้นฐาน โบราณสถาน และการท่องเที่ยว
6. มอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญในการประเมินความคุ้มค่า (cost effective analysis) ในการลงทุนเพื่อการลดความเสี่ยงจาก สาธารณภัย
7. มอบหมายให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาครวบรวมข้อมูลผลกระทบที่เกิดจากสาธารณภัยส่งให้คลังข้อมูล สาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อการประเมินมูลค่าความเสียหาย เพื่อการลงทุนด้านสาธารณภัยในอนาคต
8. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยส่งเสริมการจัดทำการประกันสำหรับสาธารณภัยในราคาที่เหมาะสมกับประชาชน เพื่อลดมูลค่าการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายจากรัฐบาล
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงมหาดไทยเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2564 - 2570 ซึ่งเป็นแผนที่ต่อเนื่องมาจากแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2558 ซึ่งสิ้นสุดไปเมื่อปี พ.ศ. 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางสำหรับจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศ ภายใต้แนวคิดการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยแบบอัจฉริยะ (Resilience by Smart DRM for 3s) โดยมีเป้าหมาย เช่น 1) ลดความเสี่ยงที่มีอยู่เดิมและป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงใหม่ และ 2) ประยุกต์ใช้งานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยี และภูมิปัญญา เพื่อให้ทุกภาคส่วนรู้เท่าทันการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การมุ่งเน้นการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย เป็นแนวคิดและวิธีปฏิบัติในการลดโอกาสที่จะได้รับผลกระทบทางลบจากสาธารณภัย ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการและการประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านสาธารณภัยเป็นการนำระบบบริหารจัดการและนวัตกรรมมาใช้เพิ่มศักยภาพในการป้องกันและจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย เป็นการพัฒนาศักยภาพการจัดการสาธารณภัยตามหลักสากลและส่งเสริมบทบาทของประเทศในฐานะแกนนำด้านการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย ยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการในภาวะฉุกเฉินแบบบูรณาการ เป็นการกำหนดแนวทางของการจัดตั้งองค์กรปฏิบัติในการจัดการภาวะฉุกเฉินและแนวทางปฏิบัติในการสนับสนุนการปฏิบัติงาน และยุทธศาสตร์ที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน เป็นการดำเนินงานภายหลังเกิดภาวะฉุกเฉินเพื่อให้ชุมชนหรือสังคมสามารถฟื้นฟูกลับมาได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เห็นชอบแผนการป้องกันดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 กรกฎาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7193