ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 25
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 July 2022 22:06
- Hits: 2315
ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 25
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 25 (ASEAN+3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM+3) ผ่านการประชุมรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม [คณะรัฐมนตรีมีมติ (10 พฤษภาคม 2565) เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุม AFMGM+3 ครั้งที่ 25 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. สรุปผลการประชุม AFMGM+3 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชียและรองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ร่วมกันหารือในประเด็นต่างๆ สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
(1) พัฒนาการและแนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาค |
- รับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจจากผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งเห็นพ้องว่าเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียน+3 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจากมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นโยบายการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและจำนวนผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น โดย IMF คาดการณ์ว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 และเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 ส่วนในปี 2566 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 และเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียจะขยายตัวร้อยละ 5.1 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 ยังคงเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงควรดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและมีนโยบายการคลังที่สนับสนุนกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยว่ามีการฟื้นตัวต่อเนื่องจากการดำเนินมาตรการทางการเงินและการคลัง เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การกระตุ้นภาคการบริโภคในประเทศ และมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยคาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 |
|
(2) การเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินของภูมิภาค |
- AMRO ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามภารกิจหลักของ AMRO ได้แก่ การเฝ้าระวังเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 การสนับสนุนการดำเนินการภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี* (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) และการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการกับประเทศสมาชิกอาเซียน+3 และมอบหมายให้ AMRO จัดทำทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ฉบับใหม่เพื่อยกระดับการดำเนินงานและสนับสนุนกลไก CIMM ในอนาคต - CIMM ที่ประชุมได้เน้นย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของ CIMM ให้เป็นกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 รวมทั้งรับทราบข้อสรุปร่วมของประเทศสมาชิกในประเด็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่สำหรับ CIMM และการนำเงินสกุลท้องถิ่นมาสมทบใน CIMM และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 พิจารณากำหนดทิศทางการดำเนินการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของ CIMM ในอนาคต - มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าของ ABMI ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน การสร้างระบบนิเวศสำหรับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ และการส่งเสริมการสร้างมาตรฐานและการประสานกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้ และมอบหมายคณะทำงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อสนับสนุนการออกตราสารหนี้เงินสกุลท้องถิ่นของอาเซียน+3 โดยเฉพาะการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนและตราสารหนี้สีเขียว เพื่อเป็นกลไกทางการเงินในการสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืน - ทิศทางความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 ในอนาคต ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ (1) การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน (2) การพัฒนากลไกเพื่อแก้ปัญหาด้านมหภาคและปัญหาเชิงโครงสร้าง (3) การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงินเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ และ (4) การส่งเสริมความร่วมมือด้านนโยบายเพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเห็นชอบให้เรื่องการเงินดิจิทัลและการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนเป็นหัวข้อความร่วมมือทางการเงินใหม่ของอาเซียน+3 |
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาตลาดพันธบัตรของภูมิภาคอาเซียน+3 โดยการส่งเสริมการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเพื่อเป็นการระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนความคิดริเริ่มในการหารือเกี่ยวกับประเด็นเทคโนโลยีทางด้านการเงินและการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน เนื่องจากอาเซียน+3 สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงินในการพัฒนาประสิทธิภาพของกลไกความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาค อีกทั้งการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนสามารถสนับสนุนให้สมาชิกบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ นอกจากนี้ ทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าวยังมีความสอดคล้องกับประเด็นสำคัญของกรอบ การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคประจำปี 2565 ในวาระที่ไทยดำรงตำแหน่งเจ้าภาพเอเปคด้วย
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ได้เห็นชอบเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม AFMGM+3 ในรูปแบบแถลงการณ์ร่วม AFMGM+3 ครั้งที่ 25 ซึ่งที่ประชุมได้มี การปรับปรุงถ้อยคำเพื่อให้มีความเหมาะสมและสะท้อนข้อเท็จจริงมากขึ้น โดยไม่ให้กระทบหรือขัดต่อผลประโยชน์ของไทยและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 เช่น การเพิ่มข้อความเพื่อแสดงการสนับสนุนโครงการกองทุนประกันภัยพิบัติของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสะท้อนจุดยืนร่วมกันในการสร้างความร่วมมือด้านการเงินในการรับมือกับความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ และการเพิ่มข้อความเน้นย้ำความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการวิเคราะห์เศรษฐกิจและนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้แก่ประเทศสมาชิกของ AMRO
__________________________________
* มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (CIMM) คือ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 กรกฎาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7185