การเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการ The Asia initiative และการลงนามในปฏิญญา The Asia Initiative (The Asia Initiative Declaration)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 July 2022 22:02
- Hits: 2669
การเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการ The Asia initiative และการลงนามในปฏิญญา The Asia Initiative (The Asia Initiative Declaration)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกในโครงการ The Asia Initiative ของ Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes และเห็นชอบในสารัตถะของร่างปฏิญญา The Asia Initiative และให้แก้ไขได้กรณีที่มีการแก้ไขในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามเป็นผู้ลงนามในร่างปฏิญญาดังกล่าว โดยให้กระทรวงการต่างประเทศนำส่งปฏิญญาฉบับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามแล้วผ่านช่องทางการทูต เพื่อให้เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอินโดนีเซียเข้าร่วมพิธีส่งมอบปฏิญญาดังกล่าวให้คณะเลขานุการ Global Forum ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 ณ เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซียโดยให้เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอินโดนีเซียและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากงบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. โครงการ The Asia Initiative มีระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2565 (ค.ศ. 2022) ถึงปี 2569 (ค.ศ. 2026) เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียทั้งหมดที่เป็นสมาชิก Global Forum ได้รับเชิญให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวโดยการลงนามในร่างปฏิญญาฯ ที่กำหนดสาระสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรฐานสากลด้านความโปร่งใสทางภาษีที่ Global Forum กำหนดอย่างเต็มศักยภาพ และก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อขจัดการหลบเลี่ยงภาษีและการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นภายในประเทศผ่านความร่วมมือระหว่างสมาชิกในภูมิภาคเอเชียในการร่วมกันกำหนดมาตรฐานเพื่อสร้างความโปร่งใสทางภาษีที่สอดคล้องกับมาตรฐานของ Global Form การร่วมกันจัดกิจกรรมพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยจัดเก็บภาษีในภูมิภาคเอเชีย และการใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี (Multilateral Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters : MAC) (ความตกลง MAC) ผ่านความร่วมมือระหว่างสมาชิก
2. โครงสร้างการบริหารโครงการ The Asia Initiative คือ ประธานร่วม (Co-chair) เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง (Senior Official) จากหน่วยจัดเก็บภาษีหรือกระทรวงการคลังที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมาชิกเพื่อปฏิบัติงานเป็นเวลา 2 ปี ทำหน้าที่พิจารณาแผนการปฏิบัติงานประจำปี และแผนการประชุมระหว่างสมาชิกเพื่อดำเนินการตามวัดถุประสงค์ของโครงการ สำหรับปี 2565 สาธารณรัฐอินโดนีเซียในฐานะเจ้าภาพ G20 ได้รับการเสนอให้เป็น Ad hoc Chair และเป็นประธานร่วมในปี 2566 โดยมีคณะเลขานุการ Global Forum เป็นฝ่ายเลขานุการของโครงการดังกล่าว
3. โครงการ The Asia Initiative ถือเป็นกรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่มิได้เป็นพันธกรณีเพิ่มเติม ไม่มีภาระผูกพันหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของโครงการ โดยเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียทั้งหมดที่เข้าร่วมการประชุม The First Asia Initiative Meeting ได้ตอบรับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้การเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการ The Asia Initiative ของประเทศไทยจะส่งผลในทางที่ดี ต่อประเทศไทย เช่น ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสมาชิก Global Forum และเป็นภาคีความตกลง MAC ด้วยแล้ว การเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการ The Asia Initiative จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถยกระดับ การดำเนินการด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอและการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติตามมาตรฐาน CRS ให้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การบริหารจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพสูงสุดรวมถึงใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดจากการเป็นภาคีความตกลง MAC ผ่านความร่วมมือในระดับภูมิภาค
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 กรกฎาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7184