โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 30 June 2022 20:59
- Hits: 1216
โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก). เสนอดังนี้
1. รับทราบผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ก่อนการดำเนินการคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินทั้ง 4 แปลง ในขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาอนุญาตประทานบัตรตามพระราชบัญญัติเหมืองแร่ พ.ศ. 2560 ต่อไป
2. เห็นชอบทบทวนเพื่อยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ได้นำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่งในการอนุญาตประทานบัตรจะพิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่แล้วเท่านั้น
สาระสำคัญ
1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (9 ธันวาคม 2557) รับทราบรายงานข้อมูลเกี่ยวกับโครงการทำเหมืองแร่โพแทชในประเทศไทยว่า มีผู้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โพแทชจำนวน 3 ราย และผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทช อีก 1 บริษัท และให้กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่โพแทชในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ผลดีและประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการนี้ในอนาคต และให้ อก. เสนอผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการข้างต้นต่อคณะรัฐมนตรีโดยจะต้องมีความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ก่อนที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (29 ธันวาคม 2558) รับทราบผลการดำเนินงานเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทช ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 โดย อก. รายงานว่าได้อนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองแร่โพแทชแล้ว จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด และ อก. ได้เสนอผลการจัดการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียโครงการเหมืองแร่โพแทช เฉพาะของ 2 บริษัท ดังกล่าว ยังเหลือผลการจัดการรับฟังความคิดเห็นในอีก 1 ราย คือ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการเกี่ยวกับการยื่นคำขอประทานบัตรในพื้นที่
2. อก. แจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า ภายหลังจากออกอนุญาตประทานบัตรให้บริษัท เหมืองแร่โปแตช อาเซียน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด แล้วพบว่าทั้ง 2 บริษัท ประสบปัญหาในการดำเนินงานและยังไม่สามารถขุดแร่ขึ้นมาใช้ได้ ดังนี้
บริษัท |
ปัญหา |
|
บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) มีกำลังการผลิต 1.1 ล้านตัน ต่อปี |
ไม่สามารถระดมทุนเพื่อนำมาประกอบกิจการได้ ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินงานได้กำหนดสัดส่วนหุ้นของบริษัทมาจากประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ร้อยละ 20 ภาคเอกชนของไทย ร้อยละ 20 และหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ร้อยละ 20 รวมทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ซึ่งถือหุ้นในนามของประเทศไทยก็ยังไม่สามารถจัดหางบประมาณสำหรับร่วมทุนในการดำเนินการดังกล่าวได้ |
|
บริษัท ไทยคาลิ จำกัด มีกำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี |
ได้ดำเนินงานโดยได้ขุดอุโมงค์ลงไปใต้ดินแล้ว แต่เกิดปัญหามีน้ำรั่วเข้ามาในอุโมงค์และไม่สามารถดำเนินงานต่อได้ จึงมีแผนจะย้ายจุดขุดอุโมงค์ออกไปจากจุดเดิมในการดำเนินงานระยะต่อไป |
อย่างไรก็ตาม พื้นที่คำขอประทานบัตรทั้ง 2 รายข้างต้น ถือเป็นพื้นที่ที่มีแร่โพแทชคุณภาพต่ำ โดยมีสัดส่วนแร่ 1 ส่วน ต่อเกลือ 6 ส่วน ซึ่งต่างจากพื้นที่คำขอประทานบัตรของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่เสนอมาในครั้งนี้ ซึ่งมีสัดส่วนแร่ 1 ส่วน ต่อเกลือ 2 ส่วน และยังถือเป็นโครงการที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในจำนวนคำขอทั้งหมด 3 ราย คือ 2 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทช อีก 1 บริษัท คือ บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด คำขอดังกล่าวได้หมดอายุลงแล้ว และ อก. อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายอายุอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทชดังกล่าว
3. ในครั้งนี้ อก. ได้เสนอผลการดำเนินการเกี่ยวกับคำขอประทานบัตรและผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทที่เหลือซึ่งยังไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีในครั้งก่อนคือ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป (ขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาอนุญาตประทานบัตร) ซึ่งภายหลังจากเสนอคณะรัฐมนตรีแล้ว คณะกรรมการแร่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 (ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน) จะได้ดำเนินการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว มีการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและส่วนราชการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว
4. นอกจากนี้ อก. เสนอขอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ที่กำหนดให้ อก. เสนอผลสัมฤทธิ์ของการสร้างความเข้าใจกับประชาชนต่อคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป เนื่องจากเห็นว่ามีพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน เงื่อนไขเกี่ยวกับทำเหมืองแร่และการอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ชนิดต่างๆ ไว้แล้ว เช่น กำหนดให้การอนุญาตประทานบัตรจะพิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่แล้วเท่านั้น รวมทั้งจะต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตในแต่ละประทานบัตรอยู่ด้วยแล้ว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6928