ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤษภาคม 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 30 June 2022 20:35
- Hits: 856
ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤษภาคม 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤษภาคม 2565 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
1.1 สศช. ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติผ่านการจัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยดำเนินการตามหลักความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลโดยใช้ห่วงโซ่คุณค่าแห่งประเทศไทยของ 140 เป้าหมายแผนแม่บทย่อยของแผนแม่บทฯ ในการวิเคราะห์และจัดทำโครงการ/การดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐที่พุ่งเป้าการพัฒนาประเทศ โดยปัจจุบันมีข้อมูลความเกี่ยวข้องของหน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่าที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานในแต่ละปัจจัย รวมถึงมีการกำหนดปัจจัยและประเด็นที่จำเป็นต้องดำเนินการขับเคลื่อนให้บรรลุผลได้ตามเป้าหมายในปี 2566-2570 จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ “จัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ซึ่ง สศช. ได้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์เพื่อให้หน่วยงานนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งสามารถวางแผนและจัดทำข้อเสนอโครงการได้ตรงโจทย์มากขึ้น
1.2 สศช. อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนแม่บทฯ ซึ่งยังคงไว้ทั้ง 23 ประเด็นแผนแม่บทฯ 37 เป้าหมายระดับประเด็น และ 140 เป้าหมายแผนแม่บทย่อยของแผนแม่บทฯ โดยจะมุ่งเน้นการปรับปรุงตัวชี้วัดให้สามารถสะท้อนการบรรลุผลลัพธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเนื่องจากในปัจจุบันการจัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัดบางส่วนไม่มีความต่อเนื่องและอาจไม่สะท้อนเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงค่าเป้าหมายให้สอดคล้องตามตัวชี้วัดที่เปลี่ยนไป โดยค่าเป้าหมายจะต้องไม่น้อยกว่าค่าที่กำหนดไว้ ในปี 2561-2565 และการปรับปรุงแนวทางการพัฒนาให้ครอบคลุมบริบทการพัฒนาประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปและสอดรับกับองค์ประกอบและปัจจัยของห่วงโซ่คุณค่าฯ 140 เป้าหมาย แผนแม่บทย่อยของแผนแม่บทฯ ซึ่งการปรับปรุงตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย และแนวทางการพัฒนาดังกล่าวจะทำให้สามารถวัดผลลัพธ์การบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทฯ ได้อย่างชัดเจน สามารถแปลงเป้าหมายการพัฒนาไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลต่อการบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ สศช. จะเสนอ (ร่าง) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ฉบับปรับปรุง) ต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 รวมทั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
1.3 คณะรัฐมนตรีมีมติ (3 พฤษภาคม 2565) เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) โดยมีความเห็นและข้อเสนอแนะที่สำคัญ เช่น 1) การขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ ควรสร้างความรู้ความเข้าใจให้หน่วยงานและภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้มีคณะกรรมการรับผิดชอบในการขับเคลื่อนแต่ละหมุดหมาย ให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับประเด็นการพัฒนาในแต่ละหมุดหมาย รวมทั้งกำหนดค่าเป้าหมาย/ตัวชี้วัดของเป้าหมายหลักและเป้าหมายในระดับหมุดหมายเป็นรายปี และ 2) การติดตามและประเมินผล ควรจัดเก็บข้อมูลให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน และทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศช. จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะของหน่วยงานไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
1.4 ความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) สศช. ได้ขับเคลื่อนการดำเนินการบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์โดยใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนในทุกมิติ ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไป ดังนี้ 1) เติมเต็มข้อมูลในระบบ TPMAP ให้ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาทุกมิติและทุกพื้นที่ในประเทศเพื่อให้ ศจพ. ทุกระดับและทีมปฏิบัติการสามารถดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดความยั่งยืน 2) แก้ไขปัญหาในระดับบุคคล/ครัวเรือน ลงพื้นที่ตรวจสอบกลุ่มเป้าหมายวิกฤต และเยี่ยมบ้านเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายวิกฤตอยู่รอดและดำรงชีพได้ตามภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ 3) แก้ไขปัญหาและพัฒนาคนอย่างยั่งยืนผ่านการจัดทำแผนจังหวัด โครงการ และแผนพัฒนาพื้นที่เพื่อให้ ศจพ. ทุกระดับ ทีมปฏิบัติการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่มุ่งเน้นการพัฒนาแบบยั่งยืนมากกว่าการสงเคราะห์ช่วยเหลือ และ 4) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลเพื่อให้ความช่วยเหลือและพัฒนากลุ่มคนเป้าหมายได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สศช. อยู่ระหว่างเสนอแนวทางการขับเคลื่อนฯ ต่อคณะรัฐมนตรี1
2. ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ (รอบเดือนมกราคม-มีนาคม 2565) มีกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ที่ดำเนินการล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock ที่ควรให้ความสำคัญในการติดตามและเร่งรัดอย่างต่อเนื่อง 5 กิจกรรม สรุปได้ ดังนี้
ด้าน/กิจกรรม |
ความคืบหน้า |
|
ด้านการเมือง กิจกรรมปฏิรูปที่ 3 การสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ |
สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดองได้จัดจ้างที่ปรึกษาและจัดทำรายละเอียดแผนการดำเนินงานไว้แล้ว โดยจะศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลและลงพื้นที่เพื่อสำรวจและจัดเก็บข้อมูล รวมทั้งจัดทำสรุปผลและข้อเสนอให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดต่อไป |
|
ด้านกฎหมาย กิจกรรมปฏิรูปที่ 2 จัดให้มีกลไกทางกฎหมาย เพื่อให้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนโทษทางอาญาที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงให้เป็นโทษปรับเป็นพินัย เพื่อลดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน |
- (ร่าง) พระราชบัญญัติว่าด้วยโทษปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... อยู่ระหว่างพิจารณาของรัฐสภา (ไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมจากการรายงานรอบที่แล้ว ณ เดือนเมษายน 2565)
|
|
กิจกรรมปฏิรูปที่ 5 จัดทำประมวลกฎหมายเพื่อรวบรวมกฎหมายเรื่องเดียวกันไว้ด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการใช้งาน |
- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่ง (ร่าง) พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก พ.ศ. .... ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว2 | |
ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กิจกรรมปฏิรูปที่ 2 การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ |
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว และได้ส่ง (ร่าง) พระราชบัญญัติดังกล่าวให้ สลค. เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว3 |
|
ด้านกระบวนการยุติธรรม กิจกรรมปฏิรูปที่ 3 การจัดหาทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจให้ครบทุกสถานีทั่วประเทศ |
จัดให้มีทนายความให้คำปรึกษาในสถานีตำรวจ 203 สถานี จาก 1,482 สถานีทั่วประเทศ (ไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม จากการรายงานรอบที่แล้ว ณ เดือนเมษายน 2565) |
และในส่วนการจัดทำ/ปรับปรุงกฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) จำนวนทั้งสิ้น 45 ฉบับ มีกฎหมายที่ดำเนินการแล้วเสร็จเพิ่มขึ้น 2 ฉบับ4 ได้แก่ 1) ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA Framework Guideline) โดยได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 และ 2) กฎ ก.พ. ว่าด้วยการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล พ.ศ. 2565 โดยได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565
3. การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้พัฒนาระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) โดยได้เปิดใช้งาน “ระบบวิเคราะห์ความคล้ายของโครงการด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินโครงการ/การดำเนินงานที่ผ่านมาและนำไปกำหนดประเด็นในการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทฯ เพื่อให้สามารถจัดทำโครงการฯ ที่เหมาะสม ไม่ซ้ำซ้อน และคุ้มค่ากับงบประมาณ โดยหน่วยงานสามารถเรียกดูข้อมูลโครงการที่มีความคล้ายกันได้ทั้งในมิติภาพรวมหรือในแง่มุมต่างๆ ทั้งจากชื่อโครงการ วัตถุประสงค์ เป้าหมายเชิงผลผลิต กลุ่มเป้าหมาย และพื้นที่ดำเนินการ
4. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ หน่วยงานของรัฐควรให้ความสำคัญกับการจัดทำรายงานผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทางการขับเคลื่อนของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทบทวนปัญหา อุปสรรคในการปฏิบัติ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงการดำเนินการให้ตอบโจทย์และพุ่งเป้าการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ในการจัดทำรายงานผลสัมฤทธิ์ ประกอบด้วย ผลสัมฤทธิ์ในระดับโครงการ ซึ่งจะต้องรายงานความก้าวหน้าทุกสิ้นไตรมาส และผลสัมฤทธิ์ในระดับแผนระดับที่ 3 ทั้งแผนปฏิบัติราชการรายปี ราย 5 ปี และแผนปฏิบัติการด้าน... ซึ่งจะต้องรายงานผลเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของแผนฯ และต้องนำเข้าข้อมูลในระบบ eMENSCR ตามรอบการรายงานฯ ที่กำหนดไว้ เพื่อใช้ในการปรับปรุงแก้ไข พัฒนา และยกระดับกระบวนการดำเนินโครงการ/การดำเนินงานให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและเป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ได้อย่างเป้นรูปธรรมต่อไป
______________________________
1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (21 มิถุนายน 2565) เห็นชอบให้ ศจพ. ทุกระดับ ทีมปฏิบัติการฯ หน่วยงานเจ้าภาพหลักและภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย บนฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ ตามมติคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไปอย่างเคร่งครัด
2 อยู่ระหว่างรอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3 สลค. ได้ส่งคืน (ร่าง) พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้ สปน. เพื่อดำเนินการรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นไม่สอดคล้องกัน
4 ณ ปัจจุบัน มีกฎหมายที่ดำเนินการแล้วเสร็จ รวม 4 ฉบับ [กฎหมายที่ดำเนินการแล้วเสร็จก่อนหน้านี้ ได้แก่ (1) พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 และ (2) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยคณะกรรมการชุมชนของเทศบาล พ.ศ. 2564]
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6924