รายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ รอบ 12 เดือน ปี 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 30 June 2022 20:29
- Hits: 837
รายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ รอบ 12 เดือน ปี 2564
คณะรัฐมนตรีรีบทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ รอบ 12 เดือน ปี 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พ.ศ. 2550 มาตรา 20 (10) ที่บัญญัติให้สำนักงาน คปภ. จัดทำรายงานประจำปีเพื่อแสดงผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของ คปภ. และสำนักงาน คปภ. เสนอต่อคณะรัฐมนตรี] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ภาพรวมธุรกิจประกันภัยของไทย รอบ 12 เดือน ปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 3.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 878,578 ล้านบาท ประกอบด้วย เบี้ยประกันภัยจากธุรกิจประกันชีวิต 613,841 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.34 และเบี้ยประกันภัยจากธุรกิจประกันวินาศภัย 264,737 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.56 ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. คาดการณ์ว่า ในปี 2565 ธุรกิจประกันภัยจะมีอัตราการเติบโตร้อยละ 0.84 ถึง 2.84 คิดเป็นมูลค่าเบี้ยประกันภัยประมาณ 870,381-887,644 ล้านบาท
2. การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) และตามนโยบายของรัฐบาล สรุปได้ ดังนี้
การดำเนินการ |
ปัญหา/อุปสรรค/แนวทางการแก้ไข |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปรับเปลี่ยน : ปรับเปลี่ยนและเพิ่มมิติการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง พร้อมรับมือความเสี่ยงใหม่และสอดคล้องกติกาสากล |
||
1) ปรับเปลี่ยนกรอบการกำกับดูแลเพื่อให้เกณฑ์การกำกับดูแลมีความยืดหยุ่น กำกับเท่าที่จำเป็น และสอดคล้องกติกาสากล โดยดำเนินโครงการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายอนุบัญญัติ ปรับปรุงกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัย และปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันภัย เป็นต้น 2) พัฒนาเครื่องมือและเพิ่มมิติการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้เท่าทัน พร้อมป้องกัน และประเมินความเสี่ยงใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น เตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พัฒนาระบบประมวลผลอัจฉริยะเพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทประกันภัย ระยะที่ 2 และศึกษาแนวทางการควบคุมคุณภาพการสอบบัญชีธุรกิจประกันภัย 3) สร้างกลไกและเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการฉ้อฉลประกันภัย เช่น ออกประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดแบบรายงานพฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัยและช่องทางการรายงานการฉ้อฉลประกันภัยสำหรับบริษัทประกันชีวิต/บริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564 4) ส่งเสริมงานวิจัยและยกระดับองค์ความรู้ด้านการประกันภัยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยให้ทุนสนับสนุนการวิจัยหรือนวัตกรรม จัดสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัยประจำปี 2564 และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย 5) สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้กำกับดูแลทั้งในและต่างประเทศอย่างบูรณาการเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบประกันภัยและสนับสนุนการเชื่อมโยงตลาดประกันภัย เช่น ศึกษาแนวทางการเจรจาการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินสาขาประกันภัยภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน |
การออกหรือปรับกฎเกณฑ์ใหม่ต้องคำนึงถึงความพร้อมในด้านต่างๆ ของภาคธุรกิจประกันภัยที่มีความแตกต่างกัน เช่น ขนาดธุรกิจ บุคลากร ระบบเทคโนโลยีเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปฏิบัติตามได้ |
|
ยุทธศาสตร์ 2 เชื่อมั่น : สร้างความเชื่อมั่นและปลูกฝังค่านิยมด้านการประกันภัยด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยและกลไกที่เป็นธรรม |
||
1) เร่งสร้างความตระหนักถึงความรู้และความสำคัญด้านการประกันภัยด้วยเครื่องมือและช่องทางที่หลากหลาย ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยี เช่น จัดการอบรมความรู้ประกันภัยผ่านโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนและโครงการ พ.ร.บ. รุกทั่วไทย 2) ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มเพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้นและใช้ในการวางแผนทางการเงินและการประกันภัย เช่น โครงการสร้างระบบการให้ความรู้ด้านการประกันภัยครบวงจร 3) ยกระดับมาตรฐานการให้บริการด้านการประกันภัยและพฤติกรรมทางตลาดของบริษัทประกันภัยและคนกลางประกันภัยให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม เช่น ปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการอบรมความรู้เกี่ยวกับการประกันชีวิต/วินาศภัย 4) เพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยของสำนักงาน คปภ. เช่น พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนงานคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย |
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้ต้องปรับกิจกรรมการลงพื้นที่เพื่อส่งเสริมความรู้ดานการประกันภัยเป็นการผลิตสื่อเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรู้ เช่น การจัดทำสื่อวีดิทัศน์หรือคลิปเสียง เพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ก้าวล้ำ : สนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยปรับตัวให้ทันกับความก้าวล้ำของเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้ระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมและการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญและจำเป็น |
||
1) เร่งผลักดันและสร้างระบบนิเวศน์ด้านกฎเกณฑ์และโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมให้ธุรกิจประกันภัยปรับตัวเป็นดิจิทัล เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยง ความต้องการของลูกค้า และปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาการกลั่นกรองการขึ้นทะเบียนการดำเนินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์บริหารข้อมูลด้านการประกันภัยแห่งชาติ 2) พัฒนาหลักเกณฑ์และแนวทางเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรูปแบบใหม่รองรับสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง โดยการกำหนดแนวทางและออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย 3) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการประกันภัยและมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีประกันภัย เช่น ขยายบทบาทศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านประกันภัยในการให้คำแนะนำแก่บริษัทประกันภัยและ Startups 4) สร้างกลไกความร่วมมือและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ เช่น จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรายงานข้อมูลประกันภัยรถภาคบังคับและพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการประกันภัย 5) ยกระดับความสามารถของธุรกิจประกันภัยในการป้องกันตรวจจับ และตอบสนองต่อความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่น การพัฒนาและส่งเสริมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของธุรกิจประกันภัยและการเตรียมความพร้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ของธุรกิจ |
ข้อมูลด้านการประกันภัยมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงหลายภาคส่วน จึงต้องใช้เวลาในการจัดทำฐานข้อมูลและสร้างความเข้าใจร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ระบบมีความสมบูรณ์มากที่สุด |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนา : ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและความสามารถในการรับความเสี่ยงภัยที่สอดคล้องกับภูมิทัศน์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป |
||
1) สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้บริษัทมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ ที่รองรับความต้องการและรูปแบบการดำเนินชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปและสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้รวดเร็วขึ้น เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางการเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมทางด้านประกันภัยและผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สะท้อนความเสี่ยงเฉพาะราย 2) ต่อยอดและขยายผลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จำเป็นและตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น การประกันภัยสำหรับรายย่อยและการประกันภัยพืชผล รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และผลักดันกฎหมายแม่บทที่เกี่ยวข้อง 3) ผลักดันการประกันสุขภาพภาคเอกชนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการประกันสุขภาพมากขึ้น เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสุขภาพด้วยการประกันภัยและจัดทำคู่มือประกอบการซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพสำหรับประชาชน 4) ส่งเสริมให้การประกันภัยมีบทบาทสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภาครัฐ เช่น โครงการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 |
ผู้บริโภคมีความต้องการความคุ้มครองเฉพาะรายและเฉพาะความเสี่ยงมากขึ้น บริษัทประกันภัยจึงต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบสนองความต้องการ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ทั้งนี้ อัตราการเจ็บป่วยและจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากโควิด-19 อาจส่งผลให้บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงกว่าที่คาดการณ์ |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ปรับเปลี่ยนสู่การเป็นองค์กรชั้นนำ บุคลากรมีศักยภาพสูง กระบวนการทำงานมีความคล่องตัวและขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย |
||
1) พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพและสมรรถนะให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของสำนักงาน คปภ. และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น จัดอบรมหลักสูตรผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัย 2) วางโครงสร้างและรูปแบบการทำงานใหม่ รวมถึงปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการทำงานร่วมกัน เช่น โครงการศึกษาการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ Smart OIC* ระยะที่ 2 3) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพ สอดรับกับทิศทางและยุทธศาสตร์องค์กร เช่น การศึกษาแนวโน้มและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางยุทธศาสตร์การดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. และธุรกิจประกันภัยไทย 4) ปรับกระบวนการทำงานและระบบงานที่สนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. และใช้เทคโนโลยีและข้อมูลในการตัดสินใจ รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมการทำงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลที่มีความคล่องตัวสูง เช่น พัฒนาแพลตฟอร์มระบบการให้บริการ การออกใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย/ผู้ประเมินวินาศภัยทางอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร 5) สร้างกลไกการมีส่วนร่วม เปิดรับมุมมองจากทุกภาคส่วนและเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารกับสาธารณชนและภายในองค์กร โดยเข้ารับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐผ่านการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อกำหนดทิศทางและกรอบการดำเนินงานด้านการเงินที่ยั่งยืนในภาคการเงินไทย |
- |
3. มาตรการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อผู้เอาประกันภัย ประชาชน ภาคธุรกิจประกันภัย และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง
3.1 มาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ เช่น มาตรการให้บริษัทสามารถให้ส่วนลดอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตและกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโควิด-19 และขยายสิทธิให้ผู้เอาประกันภัยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนามและหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ
3.2 มาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับบริษัทประกันภัย เช่น มาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทนโควิด-19 เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องในการดำเนินงาน เช่น การยกเว้นการคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านการประกันภัยจากการรับประกันภัยโควิด-19
3.3 มาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับคนกลางประกันภัย เช่น กำหนดให้หน่วยงานที่มีความประสงค์จัดอบรมแบบสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ขอรับความเห็นชอบในการจัดอบรมต่อสำนักงาน คปภ.
3.4 มาตรการเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. เช่น การออกประกาศหลักเกณฑ์และอัตราการใช้จ่ายงบฉุกเฉินของสำนักงาน คปภ. สำหรับกรณีจำเป็นหรือมีเหตุอันสมควรเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19
4. การประเมินผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดของสำนักงาน คปภ. รอบ 12 เดือน ปี 2564 ซึ่งประกอบด้วย 16 ตัวชี้วัด มีค่าคะแนนถ่วงน้ำหนักรวมอยู่ที่ 4.70 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งได้ 4.625 คะแนน
5. ผลสำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการด้านประกันภัยกับสำนักงาน คปภ. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในปี 2564 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,105 ราย โดยประเมินผลความพึงพอใจ 3 ด้าน ได้แก่ คุณภาพการให้บริการ การเข้าถึงบริการ และความเป็นธรรม มีระดับความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ที่ระดับความพึงพอใจมากที่สุดที่ร้อยละ 93.20 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 32.20
___________________________
* Smart OIC คือแผนการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจประกันภัย ผ่านการศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบจากโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมทั้งแนวโน้มรูปแบบธุรกิจเพื่อกำกับดูแลและส่งเสริมภาคธุรกิจประกันภัยให้มีความมั่นคงและยั่งยืน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6923