รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนเมษายน และ 4 เดือนแรกของปี 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 30 June 2022 20:24
- Hits: 986
รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนเมษายน และ 4 เดือนแรกของปี 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนเมษายน และ 4 เดือนแรกของ ปี 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนเมษายน และ 4 เดือนแรกของปี 2565
การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2565 มีมูลค่า 23,521.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (782,146 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 9.9 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 6.9 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ท่ามกลางการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานการผลิต รวมถึงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ นอกจากนี้ ยังมีภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ดี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ยังอยู่เหนือระดับ 50 โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย เกาหลีใต้ และอาเซียนรวมทั้งมีความต้องการสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนเมษายน 2565 การส่งออก มีมูลค่า 23,521.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.9 การนำเข้า มีมูลค่า 25,429.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.5 ดุลการค้าขาดดุล 1,908.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ ภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-เมษายน) การส่งออก มีมูลค่า 97,122.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.7 การนำเข้า มีมูลค่า 99,975.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 19.2 ดุลการค้า ขาดดุล 2,852.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนเมษายน 2565 การส่งออก มีมูลค่า 782,146 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.3 การนำเข้า มีมูลค่า 856,253 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 31.7 ดุลการค้า ขาดดุล 74,107 ล้านบาท ขณะที่ ภาพรวมการส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-เมษายน) การส่งออก มีมูลค่า 3,183,591 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 24.3 การนำเข้า มีมูลค่า 3,322,907 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 30.3 ดุลการค้า 4 เดือนแรกของปี 2565 ขาดดุล 139,316 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 10.8 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 49.5 (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน และสหรัฐฯ) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 44.0 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน เซเนกัล และโมซัมบิก) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 126.7 (ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย เมียนมา เวียดนาม ญี่ปุ่น และกัมพูชา) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 87.9 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมา และสิงคโปร์) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 24.7 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิตาลี มาเลเซีย ออสเตรเลีย และเวียดนาม) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 12.4 (หดตัวในตลาดจีน ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม และญี่ปุ่น) ยางพารา หดตัวร้อยละ 8.6 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น) เครื่องดื่ม หดตัวร้อยละ 14.5 (หดตัวในตลาดเมียนมา เวียดนาม จีน และฟิลิปปินส์) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง หดตัวร้อยละ 12.7 (หดตัวในตลาดจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ลาว และเมียนมา) นมและผลิตภัณฑ์นม หดตัวร้อยละ 25.7 (หดตัวในตลาดกัมพูชา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เมียนมา และเวียดนาม) 4 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 12.6
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 8.3 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 19.9 (ขยายตัวในตลาดจีน เวียดนาม อินเดีย กัมพูชา และสิงคโปร์) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 15.3 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไต้หวัน) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 48.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 25.6 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม) ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ขยายตัวร้อยละ 53.2 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เวียดนาม และจีน) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 10.9 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ หดตัวร้อยละ 30.7 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 5.2 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม และเกาหลีใต้) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 8.1 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอินเดีย) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัวร้อยละ 8.6 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม ฮ่องกง ญี่ปุ่น และจีน) 4 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 13.3
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่ชะลอตัวลง ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ขณะที่การส่งออกไปตลาดจีนหดตัวเนื่องจากผลกระทบจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 7.6 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 13.6 อาเซียน (5) ร้อยละ 26.9 CLMV ร้อยละ 9.3 ขณะที่ตลาด จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (27) หดตัวร้อยละ 7.2 ร้อยละ 0.3 ร้อยละ 0.2 ตามลำดับ (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 12.4 ขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 33.9 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 25.4 ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 14.9 และลาตินอเมริกา ร้อยละ 2.0 ขณะที่ทวีปออสเตรเลีย และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 4.5 และ 65.2 ตามลำดับ และ (3) ตลาดอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 172.2 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 392.2
2. ปัจจัยสนับสนุนและมาตรการส่งเสริมการส่งออก
มาตรการและแผนส่งเสริมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ที่สำคัญ อาทิ (1) ส่งเสริมการส่งออกข้าว ประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิไทยในต่างประเทศ (2) ขยายความร่วมมือทางการค้ากับตลาดใหม่ๆ อาทิ การประชุม JTC ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 4 ผลักดันการส่งออกสมุนไพรและยาแผนโบราณ การประชุม JTC ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 4 เพื่อเจรจา การอำนวยความสะดวกการส่งออกผลไม้ไทยผ่านแดนเวียดนามไปจีน และขอให้เวียดนามยกเลิกระงับการนำเข้าเนื้อไก่ เงาะ และมะม่วง นอกจากนี้ มีการลงนาม Mini-FTA กับ อินเดีย (รัฐเตลังคนา) และจีน (มณฑลกานซู่) เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า รวมถึงการผลักดันการส่งออกในการหารือระดับรัฐมนตรีกับชาติต่างๆ อาทิ เปรู เวียดนาม ฮ่องกง และมองโกเลีย เป็นต้น และ (3) ส่งเสริมการส่งออกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคในต่างประเทศโดยตรง
แนวโน้มการส่งออกของไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศคู่ค้าต้องการรักษาความมั่นคงทางอาหาร สินค้าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากสินค้าขั้นกลาง เช่น เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ก๊าซธรรมชาติ) ขณะเดียวกันการส่งออกไทยได้รับประโยชน์จากทิศทางเงินบาทอ่อนค่าที่เอื้อต่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศคู่ค้าหลัก ซึ่งอาจเป็นปัจจัยบั่นทอนการส่งออกในระยะถัดไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6922