ร่างปฏิญญาทางการเมืองในการประชุม High-level Meeting on Improving Global Road Safety
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 30 June 2022 19:58
- Hits: 818
ร่างปฏิญญาทางการเมืองในการประชุม High-level Meeting on Improving Global Road Safety
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุม High-level Meeting on Improving Global Road Safety ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขถ้อยคำหรือประเด็นที่มิใช่สาระสำคัญต่อร่างปฏิญญาทางการเมืองฯ และไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ผู้แทนไทยที่ได้รับมอบหมาย ร่วมรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองฯ เป็นผู้ใช้ดุลพินิจในเรื่องนั้นๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
2. เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ได้รับมอบหมาย เป็นผู้แทนไทยร่วมรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุม High-level Meeting on Improving Global Road Safety
3. รับทราบองค์ประกอบของคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาความปลอดภัยทางถนน (High-level Meeting of the United Nations General Assembly on Improving Global Road Safety)
สาระสำคัญ
ร่างปฏิญญาทางการเมืองในการประชุม High-level Meeting on Improving Global Road Safety เอกอัครราชทูต รองผู้แทนถาวรรัสเซียประจำสหประชาชาติ และเอกอัครราชทูต รองผู้แทนถาวรโกตดิวัวร์ประจำสหประชาชาติ ในฐานะผู้ประสานงานร่วม (co-facilitators: CoFs) ได้เวียน zero draft ของร่างปฏิญญาฯ ที่ได้ร่วมจัดทำกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ สรุปสาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ ดังนี้
1. ที่มา ถ้อยคำส่วนใหญ่ zero draft มีพื้นฐานมาจากเอกสารด้านความปลอดภัยทางถนนต่างๆ อาทิ ข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) เรื่อง Improving Global Road Safety เอกสารผลลัพธ์ของการประชุม Global Ministerial Conference on Road Safety ค.ศ. 2020 (Stockholm Declaration) และข้อมติคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ด้านความปลอดภัยทางถนน รวมถึงข้อมูลจากกิจกรรมสนับสนุนการประชุม High-level Meeting on Improving Global Road Safety เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 และเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565
2. ส่วนอารัมภบท (preambular part) กล่าวถึงสภาพปัญหาของความไม่ปลอดภัยทางถนน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงหลัก (major risk factors) ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน
3. ส่วนปฏิบัติการ (operative part) กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการและความมุ่งมั่นที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาที่ระบุไว้ในส่วนอารัมภบท อาทิ (1) การใช้แนวทาง whole-of-government/whole-of-society ในทุกระดับ เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (2) การย้ำเป้าประสงค์ข้อ 3.6 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เรื่องความปลอดภัยทางถนน (3) การส่งเสริมแนวทาง safe systems และ (4) การใช้เครื่องมือและกลไกต่างๆ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน อาทิ การวางผังเมืองการใช้เทคโนโลยี การเสริมสร้างระบบสาธารณสุข การแก้และบังคับใช้กฎหมาย การจัดสรรงบประมาณ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ
4. การติดตามผล เสนอให้ (1) เลขาธิการสหประชาชาติ (UN Secretary General: UNSG) จัดทำรายงานความคืบหน้าของการดำเนินการตามปฏิญญาฯ และเสนอต่อการประชุม UNGA สมัยที่ 78 ในปี ค.ศ. 2024 และสมัยที่ 80 ในปี ค.ศ. 2026 และ (2) จัดการประชุม High-level Meeting on Improving Global Road Safety ในปี ค.ศ. 2026 เพื่อติดตามผลการดำเนินการตามปฏิญญาฯ และให้เป็น mid-term review ของ Second Decade of Action for Road Safety ค.ศ. 2021 – 2030 (ประกาศโดยข้อมติ UNGA ที่ 74/299)
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติมีกำหนดจัดการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาความปลอดภัยทางถนน (High-level Meeting of the United Nations General Assembly on Improving Global Road Safety) ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00 - 18.00 น. (เวลานครนิวยอร์ก) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในรูปแบบร่วมประชุมด้วยตนเอง (in-person)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6913