ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 21 June 2022 22:31
- Hits: 5750
ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง (เดือนมกราคม-มีนาคม) ปี 2565 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 (5) ที่บัญญัติให้ สศช. รายงานภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสหนึ่ง (เดือนมกราคม-มีนาคม) ปี 2565 สรุปได้ ดังนี้
1.1 สถานการณ์แรงงาน
1.1.1 ภาพรวมการจ้างงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาการผลิต สาขาการขายส่ง/ขายปลีก และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า ขณะที่สาขาก่อสร้างและสาขาโรงแรม/ภัตตาคารมีการจ้างงานลดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่รุนแรงขึ้นในไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 ประกอบกับมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่มาก และในส่วนชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นทั้งในภาพรวมและภาคเอกชนแต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
1.1.2 การว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ว่างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 6.1 แสนคน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีจำนวน 6.3 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.53 ซึ่งต่ำที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ มีประเด็นที่น่สนใจ เช่น (1) ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนยังคงเพิ่มขึ้น (2) ผู้ว่างงานระยะยาวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และ (3) กลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาสูงยังมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง
1.1.3 ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ (1) การฟื้นตัวของการจ้างงานภาคท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยแม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นจากโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐแต่ยังไม่สามารถชดเชยรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ (2) ผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าต่อค่าครองชีพของแรงงานและการจ้างงาน เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 จากราคาน้ำมันและปัจจัยการผลิตในสินค้าบางชนิดที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของแรงงาน รวมทั้งอาจกระทบต่อการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมเนื่องจากราคาปุ๋ยสูงขึ้นและการจ้างงานในสาขาขนส่งเนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น และ (3) การหามาตรการแก้ไขปัญหาการว่างงานระยะยาวและการว่างงานของผู้จบการศึกษาใหม่ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
1.2 หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสี่ ปี 2564 (เดือนตุลาคม-ธันวาคม) ขยายตัวชะลอลง ส่วนคุณภาพสินเชื่อยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังต้องติดตามผลกระทบจากรายได้ครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัว ความเปราะบางของฐานะการเงินของครัวเรือน และค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ โดยไตรมาสสี่ ปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.58 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9 แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน (เดือนกรกฎาคม-กันยายน) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.1 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross, Domestic Product: GDP) ส่วนด้านความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPLs) ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 4.0 คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.73 ทั้งนี้ ต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจาก (1) ครัวเรือนมีฐานะการเงินเปราะบางมากขึ้นจากการเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวเป็นเวลานาน ทำให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยมีสภาพคล่องต่ำ (2) รายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัวแม้การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมง การทำงานยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ และผู้เสมือนว่างงานยังมีจำนวนมาก และ (3) ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้
1.3 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง ภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตดีขึ้นแต่ยังต้องติดตามการได้รับวัคซีนของประชาชนและการสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดการขยะติดเชื้อ โดยจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจาก 70,287 ราย เหลือเพียง 43,670 ราย ขณะที่ภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตดีขึ้นในทุกด้าน อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการได้รับวัคซีนของประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพียงร้อยละ 39.1 และยังไม่เคยได้รับวัคซีนร้อยละ 18.7 รวมทั้งควรสร้าง การรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดการขยะติดเชื้อ ซึ่งในปี 2564 ประเทศไทยมีขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก ปี 2563 ถึงร้อยละ 87
1.4 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.6 โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ขณะที่การบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ในระยะถัดไปควรให้ความสำคัญกับ (1) การควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นและมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของ โควิด-19 (2) การรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ในบ้าน เนื่องจากผลสำรวจข้อมูลพบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 23.7 มีการสูบบุหรี่ในบ้าน ซึ่งส่งผลให้สมาชิกในครอบครัวได้รับควันบุหรี่มือสองและมือสาม (3) การปราบปรามการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีการโฆษณา และจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างแพร่หลายทำให้เยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย
1.5 คดีอาญาโดยรวมลดลงแต่คดียาเสพติดยังอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง ได้แก่ (1) การให้ความสำคัญกับการนำผู้เสพยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟู รวมทั้งป้องกันการกลับมาเป็นผู้เสพซ้ำและ (2) การกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงต้องให้ความสำคัญกับครอบครัวในการร่วมขจัดปัญหาและสร้างความเข้าใจกับสังคม โดยรณรงค์ให้ประชาชนไม่เป็นผู้กระทำความรุนแรง ไม่ยอมรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นและไม่นิ่งเฉยต่อการกระทำดังกล่าว
1.6 การเกิดอุบัติเหตุการจราจรทางบกมีจำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตลดลง เนื่องจากประชาชนลดการเดินทางในช่วงไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 มีการเกิดอุบัติเหตุลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่มีผู้เสียชีวิดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรบูรณาการความร่วมมือเพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเพื่อลดอุบัติเหตุและอำนวยความสะดวกแก่ผู้สัญจรทางถนน
1.7 การรับเรื่องร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลดลงโดยด้านที่ได้รับเรื่องร้องเรียนมากที่สุด คือ ด้านฉลากสินค้า ด้านโฆษณา และด้านขายตรงและตลาดแบบตรงขณะที่การร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด ทั้งนี้ มีประเด็นติดตามและเฝ้าระวัง ได้แก่ (1) การหลอกลวงผ่าน Call Center และข้อความ SMS โดยในปี 2564 มีการหลอกลวงเพิ่มขึ้นร้อยละ 270 และ 57 ตามลำดับ และ (2) ปัญหาการปนเปื้อนในอาหารที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและ การแสดงฉลากสินค้าที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด โดยอาจพิจารณาบทลงโทษให้มากขึ้นและสร้างระบบตรวจสอบห่วงโซ่การผลิต เพื่อให้สามารถหาสาเหตุของปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ
2.1 ภาวะการเรียนรู้ถดถอย : โอกาสการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ภาวะการเรียนรู้ถดถอยหรือการสูญเสียการเรียนรู้มีสาเหตุส่วนใหญ่จากความไม่ต่อเนื่องในการศึกษาและการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีการปิดเรียนเป็นระยะเวลานานส่งผลให้เด็กสูญเสียการเรียนรู้ และจากผลสำรวจสถานการณ์การศึกษาจากครูและบุคลากรทางการศึกษาพบว่า ปัญหาการเรียนรู้ถดถอยของนักเรียน ส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง โดยนักเรียนประถมศึกษาตอนต้นเป็นระดับที่มีปัญหาภาวะถดถอย มากที่สุด ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดแคลนอุปกรณ์ ไม่มีสมาธิในการเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองไม่มีเวลาติดตาม การเรียน ไม่สามารถสอนการบ้านให้ได้ และมีฐานะยากจน
ปัจจุบันไทยมีเครื่องมือในการลดช่องว่างการเรียนรู้ คือ นวัตกรรม Learning Box1 หรือชุดกล่องการเรียนรู้ เพื่อช่วยสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน ลดข้อจำกัดด้านอุปกรณ์และสัญญาณอินเทอร์เน็ต ส่งเสริมให้ครูสามารถออกแบบการเรียนรู้ได้ตามพื้นที่และบริบท ซึ่งสามารถรองรับการเปิดเรียนเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย นอกจากนี้ การเรียนรู้ถดถอยส่งผลให้เกิดการปรับตัวของผู้เกี่ยวข้อง โดยเกิดการผลักดันการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยี การสร้างรูปแบบทางการศึกษาใหม่ๆ และแอปพลิเคชันที่ช่วยเสริมสร้างความรู้และพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ส่งผลให้ฐานการเรียนรู้จากโรงเรียนมีความสำคัญลดลง และอาจจำเป็นต่อการปรับกระบวนทัศน์การจัดการศึกษาที่ให้ผู้เรียนเป็นฐานการเรียน ดังนั้น ภาครัฐและคนในสังคมจำเป็นต้องเร่งสร้างระบบนิเวศน์การเรียนรู้และปรับปรุงโครงสร้างการศึกษาที่สนับสนุนให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
2.2 ความท้าทายของตลาดคาร์บอนไทยและประเด็นที่ต้องคำนึงถึง จากการที่ไทยประกาศเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2608 ทำให้ต้องมีมาตรการในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งตลาดคาร์บอน2 เป็นกลไกหนึ่งที่มีต้นทุนในการดำเนินการน้อยที่สุดและเป็นเครื่องมือในการลดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่คุ้มค่าที่สุด ทั้งนี้ ตลาดคาร์บอนของไทยในปัจจุบันมีประเด็นท้าทาย ได้แก่ (1) การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยยังมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมของประเทศ (2) การขาดแพลตฟอร์มการซื้อขายและแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต (3) ต้นทุนการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบในการรับรองคาร์บอนเครดิตอยู่ในระดับสูง และ (4) ตลาดคาร์บอนยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายของประเทศ ดังนั้น การที่ไทยจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ตามการประกาศเจตนารมณ์โดยใช้ตลาดคาร์บอนเป็นเครื่องมือ จึงต้องให้ความสำคัญ ดังนี้ (1) การจูงใจให้ภาคเอกชนเข้าร่วมตลาดคาร์บอนมากขึ้น(2) การกำหนดเกณฑ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เช่น กำหนดระดับการปล่อยก๊าซในกรณีฐานของแต่ละอุตสาหกรรม (3) การจัดทำระบบฐานข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (4) การส่งเสริมให้มีการลงทุนในเทคโนโลยีที่สามารถลดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนฯ หรือการลงทุนเพื่อผลิตคาร์บอนเครดิต เช่น การจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และ (5) การสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ท้องถิ่นและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างรายได้แก่ชุมชน
3. บทความเรื่อง “สภาพปัญหาการหลอกลวงยุคดิจิทัลและแนวทางแก้ไข” การหลอกลวงผ่านเครื่องมือสื่อสารเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถพบได้ในชีวิตประจำวันและสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าสูง ซึ่งในปี 2564ไทยมีการใช้โทรศัพท์เพื่อหลอกลวงมากกว่า 6.4 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 270 และมีข้อความ SMS หลอกลวงเพิ่มขึ้นร้อยละ 57 มูลค่าความเสียหายรวมมากกว่า 1,000 ล้านบาท และจากการศึกษาของ สศช. พบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ (1) คนไทยประมาณครึ่งหนึ่งมีประสบการณ์ถูกหลอกลวงในช่วง 1 ปี และประมาณ 2 ใน 5 ถูกตกเป็นเหยื่อและ (2) ผู้ตกเป็นเหยื่อมากกว่าครึ่งหนึ่งไม่มีการดำเนินการใดๆ และเห็นว่า การป้องกันและจัดการปัญหาของภาครัฐยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร นอกจากนี้ปัจจัยที่ส่งผลต่อการถูกหลอกและการเอาตัวรอด พบว่า (1) พฤติกรรมเสี่ยงในการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่และบุคลิกภาพส่วนบุคคลเป็นปัจจัยที่เปิดโอกาสให้ตกเป็นเหยื่อ (2) การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการหลอกลวง ทำให้โอกาสการตกเป็นเหยื่อลดลงได้ (3) เทคโนโลยีและทักษะ/กลยุทธ์ของมิจฉาชีพเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและการตกเป็นเหยื่อ นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในการรับมือกับปัญหา ได้แก่ มีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวงใหม่ๆ ตลอดเวลา ข้อมูลเกี่ยวกับ การหลอกลวงมีความกระจัดกระจายและการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลยังไม่เป็นระบบ รวมทั้งการจัดการปัญหา การหลอกลวงของหน่วยงานภาครัฐยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย (1) สร้างภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตยุคดิจิทัลโดยรณรงค์/ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน และรณรงค์ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลเบาะแสเพื่อให้ การป้องปรามเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (2) สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น การให้อำนาจผู้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มีอถือสามารถระงับสัญญาณเลขหมายที่ต้องสงสัยได้ (3) พิจารณาตั้งหน่วยงานเฉพาะที่มีหน้าที่กำกับดูแล ป้องกันและป้องปรามการหลอกลวงผ่านอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารสมัยใหม่ และ (4) สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติทางไซเบอร์โดยการประสานข้อมูล ข่าวสารและการอำนวยความสะดวกในการสืบสวนสอบสวน
–––––––––––––––––––––––––
1Leaning Box หรือชุดกล่องการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน จะประกอบด้วยหนังสือเล่มเล็ก แผนภูมิขั้นตอนทำกิจกรรม วัสดุและอุปกรณ์การเรียน แบบบันทึกการเรียนรู้ของนักเรียน และแบบบันทึกและแบบประเมินสำหรับผู้ปกครองและครูประจำชั้น
2ตลาดคาร์บอน คือแนวคิดเพื่อลดการปล่อยและควบคุมปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ให้อยู่ในระดับมาตรฐานตามที่ภาครัฐกำหนด โดยใช้กลไกตลาดในการจัดสรรปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโดยผู้ประกอบการรายใดสามารถปล่อยก๊าซได้ต่ำกว่าค่ามาตรฐานจะสามารถเสนอขายเป็นคาร์บอนเครดิตให้แก่ผู้ประกอบการที่ปล่อยก๊าซเกินค่ามาตรฐานได้ ซึ่งเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการทุกรายปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สู่อากาศน้อยลง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6667