รายงานผลการดำเนินงานโครงการอาคารแสดงประเทศไทย งาน World Expo 2020 Dubai
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 21 June 2022 22:27
- Hits: 5197
รายงานผลการดำเนินงานโครงการอาคารแสดงประเทศไทย งาน World Expo 2020 Dubai
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ รายงานผลการดำเนินงานโครงการอาคารแสดงประเทศไทย งาน World Expo 2020 Dubai โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564-31 มีนาคม 2565 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (17 กรกฎาคม 2561) ที่เห็นชอบในหลักการแผนการดำเนินงานและกรอบงบประมาณเพื่อใช้จัดงานนิทรรศการ World Expo 2020 Dubai วงเงิน 950.53 ล้านบาท และมติคณะรัฐมนตรี (23 มิถุนายน 2563) รับทราบ การลงคะแนนรับรองข้อเสนอเลื่อนกำหนดจัดงาน World Expo 2020 Dubai จากเดิมวันที่ 20 ตุลาคม 2563- 16 เมษายน 2564 เป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2564-31 มีนาคม 2565] สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ/ผลการดำเนินการ |
|
1. ภาพรวมโครงการ |
1.1 ตลอดระยะเวลาจัดแสดงงาน มีผู้เข้าชมแล้วกว่า 2.35 ล้านคน เฉลี่ยวันละ 13,000 คน โดยได้รับคะแนนความนิยมจากสาธารณชนสูงที่สุดในโชน Mobility และเป็นลำดับที่ 41 จากอาคารจัดแสดงระดับประเทศทั้งหมดในงาน World Expo 2020 Dubai นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับรางวัล Honorable Mention2 ในกลุ่ม Editor's Choice Award จากนิตยสาร EXHIBITOR Magazine รวมทั้งจากผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้เข้าชมอาคารแสดงประเทศไทย พบว่าผู้ชมอาคารแสดงประเทศไทยตัดสินใจเลือกชมอาคารแสดงประเทศไทยจากกระแสความนิยมและการบอกต่อในฐานะที่อาคารแสดงประเทศไทยเป็นหนึ่งในอาคารที่น่าสนใจอันดับต้นๆ ของงานและตัดสินใจเลือกชมอาคารแสดงประเทศไทยจากความสนใจในศิลปวัฒนธรรม นอกจากนี้ ในแง่ความประทับใจของผู้เข้าชมพบว่า ร้อยละ 97 ของผู้ชมมีความชื่นชอบในระดับ “มาก” ถึง “มากที่สุด” 1.2 ปัจจัยความสำเร็จของอาคารแสดงประเทศไทย นอกเหนือจากความน่าสนใจของเนื้อหานิทรรศการภายในอาคารทั้ง 4 ห้อง ที่นำเสนอความงดงามของศิลปวัฒนธรรมไทยการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงภูมิภาคและพัฒนาการของประเทศไทย พระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทยจากอดีตจนปัจจุบัน โดยเป็นการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ คณะกรรมการบริหารประจำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และภาคเอกชน เพื่อร่วมนำเสนอศักยภาพของประเทศไทยในทุกมิติผ่านการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ เช่น 1) เทศกาลอาหารไทยและสุขภาพ 2) เทศกาลลอยกระทง 3) นิทรรศการนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตและอนาคตที่ยั่งยืน 4) เทศกาลดิจิทัลและนวัตกรรมโดยนำเสนอผลงานโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของไทยและโครงการเน็ตประชารัฐ และ 5) เทศกาลสงกรานต์โดยนำเสนอศิลปวัฒนธรรมและความสนุกสนานแบบไทยพร้อมกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ร่วมกับอาคารแสดงประเทศต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนร่วมแสดงศักยภาพของประเทศไทย เช่น 1) บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) 2) บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) และ 3) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) |
|
2. การดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์โครงการฯ |
2.1 การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย (1) เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในการเผยแพร่สินค้าไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังภูมิภาคใกล้เคียงโดยได้คัดเลือกสินค้าไทยที่มีศักยภาพในการจำหน่ายและมีโอกาสเติบโตในภูมิภาคตะวันออกกลางใน 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) งานฝีมือ 2) สุขภาพ สปาและเครื่องสำอาง 3) ของที่ระลึก 4) เครื่องประดับ และ 5) อาหารพร้อมรับประทาน รวมกว่า 150 รายการ เพื่อจัดจำหน่ายและทดสอบตลาดในร้านขายของที่ระลึกของอาคารแสดงประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น (ดิจิทัลสตาร์ทอัพ) 9 ราย และส่งเสริมโอกาสในการทำความเข้าใจตลาดภูมิภาคตะวันออกกลาง และสร้างโอกาสเจรจาธุรกิจทั้งภายในและภายนอกงาน นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมบทบาทของผู้สนับสนุนโครงการซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ผ่านการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการผ่านหน้าจออาคารแสดงประเทศไทย เช่น การใช้วัสดุก่อสร้างอาคารและสุขภัณฑ์จากบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ การประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มของ บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด (กลุ่มธุรกิจ TCP) สำหรับการรับรองบุคคลสำคัญที่เยี่ยมชมอาคารแสดงประเทศไทยในโอกาสต่างๆ ทั้งนี้ ในช่วงของการจัดงานมียอดการเจรจาธุรกิจโดยบริษัทขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท (2) โอกาสด้านการท่องเที่ยว โดยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและการใช้ชีวิตในประเทศไทยผ่านเนื้อหาในห้องนิทรรศการที่ 4 ซึ่งบอกเล่าเสน่ห์ของประเทศไทย ด้านศิลปวัฒนธรรม อาหารไทย และการบริการ ผ่านสายตาของชาวต่างชาติรวมถึงความพร้อมและศักยภาพของประเทศไทยด้านการแพทย์และการทำธุรกิจ ซึ่งจะเป็นปัจจัยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปประเทศไทย ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลความพึงพอใจของผู้เข้าชมอาคารแสดงประเทศไทย พบว่าผู้ชมกว่าร้อยละ 95 ต้องการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยหลังมีโอกาสได้รับชมนิทรรศการภายในอาคารฯ 2.2 การประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของประเทศ (1) ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรมและ Soft Power เช่น 1) แสดงศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านการแสดงประจำวัน รวมกว่า 900 รอบ สามารถดึงดูดให้ผู้สนใจได้ทำความรู้จักประเทศไทยผ่านศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ประยุกต์เข้ากับการแสดงร่วมสมัยที่มีความสนุกสนาน 2) นำเสนออาหารไทยโดยคัดเลือกผู้ประกอบการร้านอาหารไทยที่มีประสบการณ์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์โดยตลอดระยะเวลาจัดงาน ร้านอาหารไทยได้ให้บริการอาหารกว่า 220,000 จาน นอกจากนี้ อาหารไทยยังได้ถูกสอดแทรกในเนื้อหาในห้องนิทรรศการผ่านการบอกเล่าเรื่องราวของชาวต่างชาติ รวมไปถึงจัดกิจกรรมพิเศษที่นำเสนออาหารไทยในโอกาสต่างๆ เช่น เทศกาลอาหารไทยและสุขภาพ สาธิตการทำอาหารไทยและน้ำสมุนไพรไทยเพื่อสุขภาพ ภายใต้แนวคิด “อาหารคือยารักษาโรค” และเทศกาล Thai SELECT ซึ่งเป็นตราที่กระทรวงพาณิชย์มอบให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ผ่านมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ โดยมีร้านอาหารที่ได้รับตรา Thai SELECT ในเมืองดูไบ 8 ร้าน และร่วมสาธิตการทำอาหารไทยสู่สายตาของนักท่องเที่ยวกว่าวันละ 10,000 คน และ 3) จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับมวยไทยผ่านการนำเสนอในห้องนิทรรศการที่ 4 รวมถึงจัดการแสดงประจำชุด Thai Fighting Spirit ซึ่งผสมผสานศิลปะการป้องกันตัวและแม่ไม้มวยไทยเข้ากับแอนิเมชันในรูปแบบเกมและอีสปอร์ต และ การจัดการแสดงชุดพิเศษเกี่ยวกับแม่ไม้มวยไทย ตลอดจนการจัดแข่งขันชกมวยไทย นอกจากนี้ ประเทศเจ้าภาพ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ยังได้บรรจุการแข่งขันมวยไทยเป็นหนึ่งในกิจกรรมพิเศษของ Expo บริเวณพื้นที่ Expo Sport Arena ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างสูงเช่นเดียวกัน (2) ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ในด้านศักยภาพของคนไทย ผ่านเวทีต่างๆ ของ Expo สู่เวทีระดับโลก เช่น 1) ให้การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่โครงการที่มีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและทรัพยากรของโลกให้มีความยั่งยืนโดยผลิตภัณฑ์ของบริษัท สยามออร์แกนิค จำกัด ได้รับการยอมรับในแง่ความคิดริเริ่มในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มเกษตรกรรมไทยและวิสาหกิจชุมชนให้สามารถหลุดพ้นกับดักความยากจน ด้วยการทำงานร่วมกับเกษตรกรเพื่อให้เข้าใจถึงต้นตอของปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่มีราคาต่ำ 2) ผลงานแพลตฟอร์มดิจิทัล Hydrogence โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้รับรางวัลชนะเลิศและรางวัลขวัญใจมหาชน ในการแข่งขันในรายการ MindSphere Future World Series ภายใต้หัวข้อ “อนาคตของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” (Future Water Hack) โดยผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) และ Machine Learning เชื่อมต่อข้อมูลแบบเรียลไทม์บนเส้นทางการไหลของน้ำในคลองและเส้นทางการระบายน้ำ เพื่อทำการประมวลผลคาดการณ์ปริมาณน้ำเพื่อการควบคุมการไหลของน้ำแบบอัตโนมัติ หรือทำการควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำอย่างเหมาะสม และ 3) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 43 ผู้บริหารจาก ทั่วโลก ร่วมเป็นวิทยากรในงาน Global Business Forum ASEAN ในงาน Expo 2020 Dubai ภายใต้หัวข้อ “Drive: Attracting Investors of the Future” เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับภูมิภาคอาเซียน 2.3 ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (1) ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผ่านการจัดกิจกรรมนิทรรศการฉลองครบรอบ 45 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อบอกเล่าประวัติความเป็นมา และพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐบาล ภาคเอกชนและประชาชนของทั้งสองประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก (2) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมร่วมกับประเทศต่างๆ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย สาธารณรัฐบอตสวานา สาธารณรัฐอินโดนีเชีย สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านสหพันธรัฐมาเลเชีย สาธารณรัฐมัลดีฟส์ สหรัฐเม็กชิโก สาธารณรัฐเกาหลี สมาพันธรัฐสวิส และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อกระขับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมร่วมกัน (3) กระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านกิจกรรมวันอาเซียน กิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและทำการแสดงของประเทศต่างๆ ณ อาคารอาเซียน รวมถึงจัดกิจกรรม ASEAN Trail เพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้าชมงานชมอาคารแสดงประเทศสมาชิกอาเซียนให้ครบเพื่อแลกรับของรางวัล (4) ส่งเสริมความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรชาอุดีอาระเบีย (ซาอุดีอาระเบีย)นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ตามคำเชิญของ His Royal Highness Prince Mohammad bin Salman bin Abdulaziz Al Saud โดยอาคารแสดงประเทศไทยและอาคารแสดงซาอุดีอาระเบียได้ริเริ่มจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่าน 2 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ 1) กิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมซึ่งอาคารแสดงประเทศไทยได้ทำการแสดงชุด Thai Rhythm (การแสดงวัฒนธรรมสี่ภาคของไทย) และซาอุดีอาระเบียได้ทำการแสดงพื้นบ้าน Khubaiti และ 2) กิจกรรมแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน โดยยุวทูตของอาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion Youth Ambassador) 2 คน ได้มีโอกาสร่วมปฏิบัติงานในฐานะเจ้าหน้าที่ประจำอาคารซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสรับรองบุคคลสำคัญระดับราชวงศ์ ระดับรัฐบาล และองค์การระหว่างประเทศ เช่น 1) Princess Sora bint Saud A!-Saud ซาอุดีอาระเบีย และ 2) รัฐมนตรีกระทรวงเทศบาลกิจการชนบท และการเคหะ ซาอุดีอาระเบีย 2.4 เสริมสร้างและต่อยอดบทบาทที่เข้มแข็งของไทยในเวที World Expo เช่น 1) ให้การต้อนรับและแสดงศักยภาพความพร้อมของประเทศไทยในการต้อนรับ Mr.Tim Briercliffe เลขาธิการ International Association of Horticultural Producers ในการเยี่ยมชมอาคารแสดงประเทศไทย 2) ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานรับมอบการเป็นเจ้าภาพงานพืชสวนโลก ปี 2569 ณ จังหวัดอุดรธานี และจัดกิจกรรมพิเศษแก่คณะผู้บริหารสมาคม International Association of Horticultural Producers ในโอกาสเยี่ยมชมอาคารแสดงประเทศไทยอย่างเป็นทางการและ 3) ร่วมจัดกิจกรรมต้อนรับเพื่อเสนอตัวยื่นประมูลสิทธิเป็นเจ้าภาพงาน Specialized Expo 2028 ณ จังหวัดภูเก็ต |
|
3. ข้อเสนอแนะสำหรับอาคารแสดงประเทศไทยครั้งต่อไป |
3.1 เห็นควรเสนอให้จัดสรรพื้นที่เพิ่มเติม 2 ส่วนในอาคารแสดงประเทศไทย ได้แก่ 1) พื้นที่เชิงธุรกิจ เช่น ห้องรับรองและเจราจาทางธุรกิจ หรือห้องจัดกิจกรรมหรือประชุมสัมมนาขนาดกลาง และ 2) พื้นที่อเนกประสงค์สำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียน เพื่อเปิดโอกาสในเชิงธุรกิจและส่งเสริมให้หน่วยงานภาคีเครือข่ายของการจัดงานสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงศักยภาพของประเทศไทยได้ในทุกมิติ 3.2 ควรเสนอให้มีการจัดทำคลังข้อมูลการเข้าร่วมจัดแสดงงาน World Expo ของประเทศไทย โดย ดศ. ได้จัดทำหนังสือที่ระลึกสรุปโครงการอาคารแสดงประเทศไทยฯ รวมทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการจัดเตรียมพื้นที่ ชิ้นงาน และเนื้อหาเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์อาคารแสดงประเทศไทย World Expo 2020 Dubai โดยจะใช้พื้นที่ Thailand Digital Valley (TDV) 2- Digital Startup Knowledge Exchange Center เป็นพื้นที่จัดแสดง โดยจะจัดแสดงนิทรรศการจำลองของอาคารแสดงประเทศไทย 360 องศา ในรูปแบบ Virtual Reality และนิทรรศการเกี่ยวกับเบื้องหลังการเตรียมงานตลอดระยะเวลา 4 ปีของโครงการ ตลอดจนจัดแสดงชิ้นงานบางส่วนที่เคยใช้งานจริง 3.3 ควรมีการพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการมอบหมายหน่วยงานกลางเพื่อดูแลความต่อเนื่องในเชิงปฏิบัติการสำหรับการร่วมจัดแสดงอาคารแสดงประเทศไทยในทุกครั้ง เนื่องจากเนื้องานในการเข้าร่วมจัดแสดงแต่ละครั้งมีขั้นตอนและรายละเอียดจำนวนมากที่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในเชิงลึกและจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ ในขณะเดียวกัน จากข้อสังเกตในการเข้าร่วมงานของอาคารจัดแสดงประเทศอื่นพบว่า กรณีประเทศที่มีหน่วยงานที่ดูแลโดยเฉพาะจะมีข้อได้เปรียบในแง่ความต่อเนื่องในการประสานงาน และสามารถสร้างเครือข่ายของผู้ปฏิบัติงานในระยะยาว |
–––––––––––––––––––––––––
110 อันดับแรก ประกอบด้วย (1) ซาอุดีอาระเบีย (2) ปากีสถาน (3) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (4) ไทย (5) สโลวีเนีย (6) ซีเรีย (7) เยอรมนี (8) รัสเซีย (9) ออสเตรเลีย และ (10) ญี่ปุ่น
2คือรางวัลขวัญใจมหาชนประเภท EDITOR'S CHOICE AWARD 2022 จากนิตยสาร Exhibitor Magazine ซึ่งเป็นนิตยสารชั้นนำด้านการจัดแสดงจากประเทศสหรัฐอเมริกา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6666