ผลการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 4
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 21 June 2022 21:43
- Hits: 4407
ผลการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 4
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เสนอผลการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 23-24 เมษายน 2565 ณ เมืองคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น [คณะรัฐมนตรีมีมติ (19 เมษายน 2565) เห็นชอบร่างปฏิญญาคุมาโมโตะซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 4 และเห็นชอบให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างปฏิญญาฯ ในการประชุม] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. นายกรัฐมนตรีได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในช่วงพิธีเปิดการประชุมฯ ผ่านระบบวีดิทัศน์แบบถ่าย ทอดสด โดยชื่นชมข้อริเริ่มและความมุ่งมั่นด้านน้ำของญี่ปุ่นในการสร้างสังคมคุณภาพที่มีภูมิคุ้มกัน ยั่งยืน ครอบคลุม และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและบูรณาการในทุกมิติรวมถึงการพัฒนาอย่างเท่าเทียม สนับสนุนการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำภายในปี ค.ศ. 2030 และการบูรณาการโครงสร้างสีเขียวในโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการน้ำ เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นในการปรับตัว เพิ่มภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดความสูญเสียจากภัยพิบัติโดยสนับสนุนความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในระดับพื้นที่จนถึงระดับนโยบายเพื่อการบริหารจัดการที่มั่นคง และยั่งยืน
2. ที่ประชุมได้รับรองปฏิญญาคุมาโมโตะ ซึ่งเป็นร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสำหรับการบริหารจัดการน้ำในบริบทการฟื้นฟูจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคส่วนน้ำโดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อดำเนินการบูรณาการร่วมกันในการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีการปรับแก้ถ้อยคำที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เพื่อให้มีความครอบคลุมและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (19 เมษายน 2565) ให้ความเห็นชอบไว้และยังคงประเด็นสำคัญของร่างปฏิญญาฯ จำนวน 4 ประการ คือ 1) ความท้าทายด้านน้ำท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการให้บริการด้านน้ำ และการเข้าถึงน้ำที่สะอาดปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ 2) การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่มุ่งเน้นคุณภาพ ซึ่งจะบรรลุความสำเร็จได้โดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านน้ำ อย่างยั่งยืนด้วยการมีส่วนร่วมและความร่วมมือของทุกภาคส่วน (เช่น การจัดการภัยพิบัติด้านน้ำ และการสนับสนุนมาตรการลดผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงโดยการใช้พลังงานที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ) 3) การเร่งรัดการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคส่วนน้ำ โดยบูรณาการโครงสร้าง ด้านกายภาพ โครงสร้างด้านความรู้ และการบริหารจัดการข้อมูล (เช่น การส่งเสริมความร่วมมือขององค์กรด้านน้ำและองค์กรภาคประชาสังคมทุกภาคส่วน และการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อผลิตนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนเพื่อแก้ปัญหาด้านน้ำ) และ 4) ผลลัพธ์การประชุมฯ โดยจะนำแนวปฏิบัติภายใต้บริบทของ ปฏิญญาฯ ไปร่วมพิจารณาและหารือในเวทีด้านน้ำระดับโลกต่อไป เช่น การประชุมทบทวนการดำเนินการด้านน้ำในห้วงครึ่งแรกของทศวรรษฯ ของสหประชาชาติที่จะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2566 การประชุมเวทีระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6658