(ร่าง) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเสริมสร้างศักยภาพเชิงสถาบันและเชิงเทคนิคเพื่อดำเนินการตามกรอบการดำเนินงานด้านความโปร่งใสภายใต้ความตกลงปารีส
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 21 June 2022 21:42
- Hits: 4212
(ร่าง) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเสริมสร้างศักยภาพเชิงสถาบันและเชิงเทคนิคเพื่อดำเนินการตามกรอบการดำเนินงานด้านความโปร่งใสภายใต้ความตกลงปารีส
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ (Project Cooperation Agreement: PCA) โครงการเสริมสร้างศักยภาพเชิงสถาบันและเชิงเทคนิคเพื่อดำเนินการตามกรอบการดำเนินงานด้านความโปร่งใสภายใต้ความตกลงปารีส ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข (ร่าง) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ส่งผลกระทบผูกพันเชิงนโยบายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการฯ ร่วมกับผู้แทนโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) และหน่วยงานร่วมดำเนินการตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ข้อตัดสินใจที่ 1 วรรค 84 และวรรค 86 ของการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) สมัยที่ 21 (Decision 1/CP.21) ได้ตัดสินใจจัดตั้งโครงการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อดำเนินการตามกรอบการดำเนินงานด้านความโปร่งใส (The Capacity Building Initiative for Transparency: CBIT) เพื่อเป็นการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความโปร่งใสของความตกลงปารีส โดยร้องขอให้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) จัดเตรียมกลไกลทางการเงินเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งและการดำเนินงานของโครงการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อดำเนินการตามกรอบการดำเนินงานด้านความโปร่งใส (CBIT)
2. โครงการเสริมสร้างศักยภาพเชิงสถาบันและเชิงเทคนิคเพื่อดำเนินการตามกรอบการดำเนินงานด้านความโปร่งใสภายใต้ความตกลงปารีส เป็นการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อให้ประเทศไทยสามารถจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งจะช่วยติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดด้านความโปร่งใสของความตกลงปารีส โดยคราวนี้ มีเป้าหมายการดำเนินการเน้นที่ภาคการเกษตร ปศุสัตว์ การป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นหลัก โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนบงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) เป็นจำนวนเงิน 1.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานดำเนินโครงการ (Executing Agency) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง [สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร] จะต้องร่วมสมทบงบประมาณในรูปแบบที่ไม่ใช่ตัวเงิน (In-kind) (เช่น ทรัพยากรบุคลากร) มูลค่าทรัพยากรการดำเนินงาน เป็นจำนวนเงิน 2.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นงบประมาณและทรัพยากรที่แต่ละหน่วยงานได้รับจัดสรรในทุกปีตามปกติ ไม่ใช่การขอรับจัดสรรเพิ่มเติม ส่วนข้อตกลงความร่วมมือ (Project Cooperation Agreement: PCA) ของโครงการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอคณะรัฐมนตรีขอความเห็นชอบการลงนามในครั้งนี้เป็นการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยผู้ลงนาม 3 ฝ่าย ได้แก่ (1) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) เป็นผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงานเจ้าของโครงการและสำนักเลขาธิการกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (2) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการ และ (3) ศูนย์สารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการเกษตรและการจัดการทรัพยากร ในฐานะหน่วยงานร่วมดำเนินการ (Co-Executing Agency) โดยการลงนาม 3 ฝ่ายดังกล่าวจะทำให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เนื่องจากศูนย์สารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการเกษตรและการจัดการทรัพยากรจะเป็นผู้ดำเนินโครงการตามแผนการดำเนินงาน รวมทั้งรับเงินโอนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) และจัดส่งรายงานผลการดำเนินงานและรายงานการเงินให้แก่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) โดยตรง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6657