ผลการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 21 June 2022 21:35
- Hits: 4390
ผลการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอผลการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2565 และมอบหมายส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามผลการเยือนไทยฯ ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า เมื่อวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2565 นายคิชิดะ ฟูมิโอะนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ในโอกาสครบรอบ 135 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่น รวมถึงการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค และเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น (ปี 2564-2567) โดยเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 นายกรัฐมนตรีได้หารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในประเด็นความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ทั้งในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาค และภูมิภาค และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สนใจร่วมกัน สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
ผลการหารือฯ |
|
(1) ประเด็นทวิภาคี |
(1.1) ภาพรวม ได้แก่ 1) นายกรัฐมนตรีเสนอที่จะยกระดับสถานะความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น จาก “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์" เป็น "หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน”ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยินดีกับการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นที่แน่นแฟ้นในทุกด้านและรับจะพิจารณาข้อเสนอของฝ่ายไทย และ 2) นายกรัฐมนตรียินดีที่ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มกลับมาแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงภายหลังจากเว้นว่างไปเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) (1.2) ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เช่น 1) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมกันหาข้อสรุปในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นระยะ 5 ปี โดยมุ่งมั่นที่จะประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ ในห้วงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 6 ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 2) รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจแก่นักลงทุนญี่ปุ่นในไทย และส่งเสริมให้นักลงทุนญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์ ดิจิทัล เกษตรอัจฉริยะ Big Data และกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) โดยพิจารณาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( Eastern Economic Corridor: EEC) เป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะพื้นที่โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) และนายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้เอกชนญี่ปุ่นลงทุนในการผลิต EV รวมทั้งผลิตแบตเตอรี่ในไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแจ้งว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นกำลังเร่งพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง และ 3) การขอรับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นในการพิจารณาขยายการจัดตั้งสถาบันโคเซ็นในไทยเพิ่มเติม 2 แห่ง และขยายหลักสูตรการเรียนการสอนแบบโคเซ็นไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ ของไทย รวมถึงการจัดตั้ง KOSEN Education Center ในไทยเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและภูมิภาคอาเชียน ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นรับจะพิจารณาด้วยดี (1.3) ความร่วมมือด้านความมั่นคง กลาโหม และยุติธรรม ได้แก่ 1) ทั้งสองฝ่ายยินดีกับการลงนามความตกลงว่าด้วยการมอบโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นหวังให้ทั้งสองฝ่ายหารือกันเพื่อดำเนินโครงการที่เป็นรูปธรรม ขณะที่นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ การต่อต้านการก่อการร้าย ความมั่นคงทางไซเบอร์ และความมั่นคงทางทะเล และ 2) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา |
|
(2) ความร่วมมือในกรอบภูมิภาคและ อนุภูมิภาค |
(2.1) ความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เพื่อการพัฒนาประเทศที่สาม นายกรัฐมนตรีแสดงความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือฯ โดยเฉพาะ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นๆ และยินดีที่ฝ่ายญี่ปุ่นมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ในพื้นที่ต่างๆ ในไทย รวมทั้งชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (2.2) ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ทั้งสองฝ่ายย้ำความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านกรอบความร่วมมือญี่ปุ่น-ลุ่มน้ำโขง และกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณญี่ปุ่นที่สมทบทุนในกองทุนเพื่อการพัฒนาของ ACMECSมูลค่า 1.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (2.3) ความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-ญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรียืนยันความมุ่งมั่นของไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น (ปี 2564-2567) ในการร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเชียน-ญี่ปุ่น และการสอดประสานความร่วมมือระหว่างมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก กับแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างของญี่ปุ่น รวมทั้งการผลักดันวาระการครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น (ปี 2566) ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เชิญนายกรัฐมนตรีเยือนญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ในเดือนธันวาคม 2566 นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันความพร้อมของไทยในการเป็นที่ตั้งของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแสดงความหวังว่าอาเชียนจะสามารถหาข้อสรุปในประเด็นดังกล่าวโดยเร็ว (2.4) ความร่วมมือภายใต้กรอบเอเปค นายกรัฐมนตรีขอรับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ภายใต้หัวข้อ Open. Connect. Balance. และการรับรองเอกสาร Bangkok Goals on BCG Economy ซี่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแสดงความพร้อมสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่และจะเดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปคในเดือนพฤศจิกายน 2565 |
|
(3) ประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ |
(3.1) สถานการณ์ในยูเครน ทั้งสองฝ่ายต่างให้ความสำคัญกับหลักการของการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎบัตรสหประชาชาติ และมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับการทวีความตึงเครียดของสถานการณ์ โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติการใช้ความรุนแรง และใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างถึงที่สุด นอกจากนี้ ได้หารือเกี่ยวกับผลกระทบของสถานการณ์ดังกล่าวและพร้อมร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวยูเครนอย่างต่อเนื่อง (3.2) สถานการณ์ในเมียนมา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันเพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมาผ่านความร่วมมือในกรอบต่างๆ และสนับสนุนกลไกของอาเชียนโดยเฉพาะกัมพูชาในฐานะประธานอาเชียนในปีนี้ รวมถึงย้ำความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมา (3.3) อื่นๆ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีและประเด็นการลักพาตัว การปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประซาชาติ การปลอดและไม่แพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ และกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก |
2. พิธีลงนามความตกลงและหนังสือแลกเปลี่ยน นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้เป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงและหนังสือแลกเปลี่ยน 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ความตกลงว่าด้วยการมอบโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย (2) หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น และ (3) หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความช่วยเหลือแบบให้เปล่าของรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้โครงการ The Programme for COVID-19 Crisis Response Emergency Support ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น
3. กต. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลการเยือนฯ มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการต่างๆ เช่น
ประเด็น |
การดำเนินการที่สำคัญ |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
||
(1) การยกระดับสถานะความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” |
ติดตามผลการพิจารณาจากฝ่ายญี่ปุ่น และหารือเกี่ยวกับช่วงเวลาและแนวทางในการประกาศการยกระดับความสัมพันธ์ |
กต. |
||
(2) การจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นระยะ 5 ปี |
หารือกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องของไทยและฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ให้สมบูรณ์ |
กต. กค. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) |
||
(3) การส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่นในไทย |
ดำเนินการเพื่อดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมเป้าหมายมายังไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น EV อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์ และ BCG โดยพิจารณาลงทุนใน EEC เป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะพื้นที่ EECi |
กต. กษ. อว. ดศ. พน. สธ. สกท. และ สกพอ. |
||
(4) การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า |
ดำเนินการเพื่อดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่น โดยสนับสนุนให้เอกชนญี่ปุ่นลงทุนในการผลิต EV รวมทั้งผลิตแบตเตอรี่ในไทย |
กค. กต. พน. อก. สกท. และ สกพอ. |
||
(5) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ |
ติดตามผลการพิจารณาของฝ่ายญี่ปุ่นเกี่ยวกับการขอรับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นในการพิจารณาขยายการจัดตั้งสถาบันโคเซ็นในไทยเพิ่มเติมจาก 2 แห่งในปัจจุบันและขยายหลักสูตรการเรียนการสอนแบบโคเซ็นไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ ของไทย รวมทั้งการจัดตั้ง KOSEN Education Center ในไทย เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและภูมิภาคอาเซียน |
กค. กต. อว. ศธ. และ อก. |
||
(6) การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน |
ดำเนินความร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในไทย เช่น เมืองอัจฉริยะ โครงการบางซื่อ ระบบราง โครงข่ายดิจิทัล และ 5G |
กต. คค. และ ดศ. |
||
(7) การบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 |
ดำเนินความร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต |
กค. กต. และ สธ. |
||
(8) ความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-ญี่ปุ่น |
ดำเนินการหารือกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องที่ตั้งของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ในโอกาสแรก ซึ่งไทยมีความพร้อมในการเป็นประเทศที่ตั้งของศูนย์ฯ |
กต. และ สธ. |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6655