ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 4 และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 21 June 2022 21:30
- Hits: 4086
ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 4 และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 4 และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายให้ส่วนราชการดำเนินการตามผลการประชุมฯ เพื่อให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-เวียดนามเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ตามที่ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า การประชุม JTC ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 4 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม เป็นประธานร่วม ซึ่งมีผลการประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้
1. ผลการประชุมฯ และผลการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
1.1 ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการค้าทวิภาคี |
||
(1) เป้าหมายการค้า |
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะบรรลุเป้าหมายการค้า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 |
|
(2) ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า |
(2.1) ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดนและการขนส่งสินค้าผ่านแดนไปยังประเทศที่สาม โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าผลไม้บริเวณด่านชายแดนเวียดนาม-จีนในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว รวมถึงสนับสนุนการแลกเปลี่ยนนโยบายและกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าระหว่างกัน (2.2) ปัญหาทางการค้าที่มีการแก้ไขปัญหาให้กันแล้ว ดังนี้ (2.2.1) การส่งออกรถยนต์จากไทยไปสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เวียดนาม) โดยฝ่ายเวียดนามได้ปรับปรุงกฎระเบียบการนำเข้ารถยนต์ซึ่งเป็นการลดขั้นตอนการตรวจสอบและได้ให้สัตยาบันข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียนแล้ว (2.2.2) การส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กจากเวียดนามมายังไทย โดยฝ่ายไทยได้เปิดให้ผู้ผลิตในต่างประเทศสามารถส่งเอกสารเพื่อตรวจประเมินระบบคุณภาพโรงงานแทนการเดินทางไปตรวจประเมินโรงงานที่ต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ ผู้นำเข้าสามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กของเวียดนามโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบสินค้าที่ท่าเรือในทุกการขนส่งสินค้า (2.3) ประเด็นปัญหาทางการค้าที่ยังเป็นข้อกังวล ดังนี้ (2.3.1) การส่งออกผลิตภัณฑ์ยาจากไทยไปยังเวียดนาม โดยฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายเวียดนามปรับปรุงกฎระเบียบในการขออนุญาตจำหน่ายยาของเวียดนามซึ่งมีการขอข้อมูลและเอกสารประกอบเกินกว่าที่อาเซียนได้ตกลงกันไว้ ทำให้ผู้ส่งออกมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น โดยฝ่ายเวียดนามรับทราบข้อกังวลและแจ้งว่าอยู่ระหว่างเวียนร่างกฎระเบียบฉบับใหม่ (2.3.2) การส่งออกสินค้าเกษตรเวียดนามมายังไทย โดยฝ่ายเวียดนามขอให้ไทยยกเลิกการยื่นหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ในการนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมมายังไทย ซึ่งฝ่ายไทยยืนยันว่าหนังสือรับรองฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลการนำเข้าและไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอุปสรรคทางการค้า ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการยื่นเรื่องขออนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากประเทศเวียดนามภายใต้ AFTA |
|
(3) ด้านการเกษตร |
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะรื้อฟื้นกลไกความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจด้านการบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และใช้ประโยชน์จากกลไกดังกล่าวในการพิจารณาออกใบอนุญาตการนำเข้าให้กับสินค้าเกษตรที่แต่ละฝ่ายผลักดัน เช่น สินค้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ ลูกไก่ และไข่ฟัก ผลไม้ (เช่น เงาะ เสาวรส และน้อยหน่า) ข้าว และยางพารา รวมถึงสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวปฏิบัติด้านการประมงระหว่างกัน |
|
(4) ด้านมาตรการเยียวยาทางการค้า |
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าเมื่อจำเป็นโดยจะอำนวยความสะดวกในกระบวนการไต่สวนและแจ้งให้อีกฝ่ายทราบถึงความเป็นไปได้ในการเปิดไต่สวน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการมาตรการเยียวยาทางการค้า |
|
(5) ด้านการส่งเสริมการค้า |
ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันสนับสนุนการใช้เครือข่ายค้าปลีกของแต่ละฝ่ายในการนำสินค้าเข้าสู่ตลาด และส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมของหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม |
|
(6) ด้านการเชื่อมโยงการขนส่ง |
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะผลักดันการปฏิบัติตามข้อตกลงด้านการขนส่งข้ามพรมแดนในกรอบอนุภูมิภาคและอาเซียน รวมถึงการหาข้อสรุปในเรื่องรูปแบบการให้บริการเดินรถโดยสารในเส้นทางเชื่อมต่อ ฮาติงห์ (เวียดนาม)-ท่าแขก[สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ลาว)]-นครพนม (ไทย) และการจัดทำความตกลงการเดินเรือร่วมสามฝ่ายระหว่างไทย-กัมพูชา-เวียดนาม |
|
1.2 ความร่วมมือด้านการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ |
||
(1) ด้านการลงทุน |
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการลงทุนในสาขาที่ได้รับประโยชน์ร่วมกัน เช่น อาหาร ยานยนต์ พลังงาน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เคมีภัณฑ์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และไทยขอให้เวียดนามเร่งจัดตั้งกลไกการหารือเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างกันเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านการลงทุนของทั้งสองฝ่าย |
|
(2) ด้านการธนาคาร |
ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับธนาคารกลางเวียดนาม เช่น การเปิดตัวการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินด้วยรหัสคิวอาร์ (QR Code) และการออกใบอนุญาตจัดตั้งสาขาธนาคารพาณิชย์ไทยในเวียดนาม |
|
(3) ด้านพลังงาน |
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการจัดการประชุม Thailand-Vietnam Energy Forum ครั้งที่ 2 ในโอกาสแรก โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพ เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างกัน และฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายเวียดนามอำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในสาขาพลังงานสะอาด |
|
(4) ด้านแรงงาน |
ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดกระบวนการพิจารณาร่างบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงานฉบับปรับปรุงให้ได้ข้อสรุปและมีการลงนามโดยเร็ว |
|
(5) ด้านทรัพย์สินทางปัญญา |
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างไทยและเวียดนามอย่างต่อเนื่องและส่งเสริมการคุ้มครองสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ซึ่งกันและกัน |
|
(6) ความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาค ภูมิภาค และพหุภาคี |
ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือและให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และพหุภาคีที่ทั้งสองฝ่ายเป็นสมาชิก รวมถึงการดำเนินการตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) อย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนการเป็นประธานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ของไทยในปี 2565 |
|
1.3 กิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง |
||
กิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ |
พณ. ได้จัดกิจกรรมฯ คู่ขนานกับการประชุม JTC ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ ๔ โดยสามารถสร้างมูลค่าการสั่งซื้อ 71 ล้านบาท ในกลุ่มสินค้าเป้าหมาย เช่น อะไหล่ยานยนต์ อาหาร และสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม |
2. พณ. มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้
2.1 การประชุม JTC ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 4 ประสบความสำเร็จอย่างดี โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือเพื่อขยายโอกาสการค้าการลงทุนและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ทั้งนี้ การค้ารวมไทย-เวียดนาม ในปี 2564 มีมูลค่า 19,477.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 17.31 ซึ่งเป็นการขยายตัวของทั้งการนำเข้าและการส่งออก จึงคาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการค้า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568
2.2 เวียดนามยังคงให้ความสำคัญกับการขาดดุลการค้ากับไทยและขอให้ไทยช่วยแก้ไขเรื่องการขาดดุลดังกล่าวโดยการอำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าจากเวียดนาม เช่น ลดขั้นตอนและเอกสารที่ใช้ประกอบการนำเข้าสินค้า ไม่ขยายระยะเวลาการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้านำเข้าจากเวียดนาม อนุญาตให้มีการนำเข้าผลไม้ของเวียดนามเพิ่มเติม ตลอดจนสนับสนุนการจัดจำหน่ายสินค้าของเวียดนามในไทยซึ่งเป็นประเด็นที่เวียดนามต้องการผลักดันกับไทยมาอย่างต่อเนื่อง
2.3 ปัญหาอุปสรรคในการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยไปยังเวียดนาม เช่น ผลิตภัณฑ์ยา และรถยนต์ โดยเวียดนามมีการประกาศใช้กฎระเบียบใหม่บ่อยครั้งและให้ความยืดหยุ่นกับผู้ผลิตภายในประเทศ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยจึงควรติดตามการบังคับใช้กฎระเบียบทางการค้าของเวียดนามอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและพิจารณาผลักดันกับฝ่ายเวียดนามในโอกาสต่างๆ นอกจากนี้ เวียดนามพยายามผลักดันให้ไทยอนุญาตให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผลไม้จากเวียดนามเพิ่มขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่เวียดนามจะพิจารณายกเลิกการระงับใบอนุญาตนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย จึงเห็นควรสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายมีการหารืออย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อหาทางออกร่วมกัน
3. พณ. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลการประชุมฯ มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการต่างๆ เช่น
ประเด็น |
การดำเนินการที่สำคัญ เช่น |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
||
(1) เป้าหมายการค้า |
ประสานงานและอำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 |
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)พณ.และกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) |
||
(2) การส่งออกรถยนต์ไทยไปเวียดนาม |
- เร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน ที่มีผลใช้บังคับเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๕ - ติดตามความคืบหน้าการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยไอเสีย EURO 5 ของเวียดนาม ผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกยานยนต์ของไทย |
กระทรวงคมนาคม (คค.) พณ.อก. และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย |
||
(3) การส่งออกยาและผลิตภัณฑ์ยา ไปเวียดนาม |
ติดตามความคืบหน้าการออกร่างกฎระเบียบฉบับใหม่เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนยาของเวียดนาม |
กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) พณ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) และสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม |
||
(4) การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window: ASW) |
- เร่งแก้ไขปัญหาทางเทคนิคในการแลกเปลี่ยนเอกสาร (ATIGA e-Form D) รวมถึงความคืบหน้าการเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนเอกสารทางการค้าอื่นๆ ระหว่างไทยกับเวียดนามผ่านระบบ ASW - ติดตามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมและเอกสารหลักฐานจากภาคเอกชนเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ด่านชายแดนเวียดนาม ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบและอนุมัติหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน |
กระทรวงการคลัง พณ. สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย |
||
(5) การอำนวยความสะดวกการขนส่งผลไม้ไทยผ่านแดนเวียดนามไปยังจีน |
ติดตามความคืบหน้าการใช้มาตรการ/การผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ณ ด่านชายแดนเวียดนาม-จีน และผลกระทบ/ปัญหาอุปสรรคต่อการขนส่งผลไม้และผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ จากไทยผ่านเวียดนามไปยังจีน โดยเฉพาะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว |
พณ. |
||
(6) การนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นม รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ จากเวียดนามมายังไทย |
ติดตามข้อร้องเรียนของเวียดนามเกี่ยวกับประเด็นปัญหาอุปสรรคและสถานการณ์การนำเข้าสินค้าเกษตรจากเวียดนามมาไทย |
พณ. |
||
(7) การออกหนังสือรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้แก่ผลิตภัณฑ์เหล็กจากเวียดนาม |
- จัดส่งเอกสารภาษาอังกฤษเกี่ยวกับขั้นตอนในการขอใบอนุญาตนำเข้าสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อนให้ฝ่ายเวียดนาม - ติดตามสถานการณ์การนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กที่เป็นข้อกังวลของเวียดนาม |
อก. |
||
(8) ความร่วมมือด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช |
ติดตามความคืบหน้าการดำเนินความร่วมมือด้านการบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช |
กษ. |
||
(9) การนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างกัน |
ติดตามความคืบหน้าการหารือระหว่าง กษ. ของทั้งสองฝ่ายและประเด็นที่เวียดนามแจ้งความประสงค์ที่จะให้ไทยอนุญาตให้มีการนำเข้าอะโวคาโด ส้ม สับปะรด มะพร้าว แตงโม และสตรอเบอร์รี่ จากเวียดนามเพิ่มเติม |
กษ. |
||
(10) การสนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าไทยและเวียดนาม |
ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าของอีกฝ่ายผ่านเครือข่ายการค้าปลีกของตน รวมถึงบนแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ |
พณ. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม |
||
(11) การให้บริการรถโดยสารประจำทาง 3 ประเทศ (เวียดนาม ลาว และไทย) |
ติดตามและผลักดันให้ลาวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานสามฝ่าย ครั้งที่ 2 เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องรูปแบบการดำเนินธุรกิจบริการเดินรถโดยสารในเส้นทางฮาติงห์ (เวียดนาม)-คำม่วน (ลาว)-นครพนม (ไทย) โดยเร็ว |
คค. |
||
(12) ด้านพลังงาน |
ประสานฝ่ายเวียดนามเพื่อกำหนดจัดประชุม Thailand-Vietnam Energy Forum ครั้งที่ 2 ภายในไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ของปี 2565 |
กต. และกระทรวงพลังงาน |
||
(13) ด้านแรงงาน |
เร่งรัดกระบวนการพิจารณาร่างบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงานฉบับปรับปรุงให้ได้ข้อสรุปและมีการลงนามโดยเร็ว และการขยายสาขาอาชีพที่ไทยจะอนุญาตให้แรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานในไทยได้ |
กระทรวงแรงงาน |
||
(14) ความร่วมมือในกรอบ อนุภูมิภาคและภูมิภาค |
ประสานงานและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดภายใต้กรอบความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และพหุภาคี ที่ทั้งสองประเทศเป็นภาคีอยู่ |
พณ. |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6654