ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 และฉายวีดิทัศน์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 21 June 2022 20:44
- Hits: 4119
ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 และฉายวีดิทัศน์
คณะรัฐมนตรีมีติรับทราบสรุปผลการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 (2nd Asia-Pacific Regional Education Minister’s Conference on SDG4-Education 2030 (APREMC-II) และนำเสนอฉายวีดิทัศน์เรื่อง งานประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. ภาพรวม การประชุม APREMC-II ประสบความสำเร็จด้วยดีตามเจตนารมณ์ของกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานยู่เนสโก กรุงเทพฯ ในการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อคิดเห็น วิสัยทัศน์ และแนวทางการพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อรับมือกับสถานการณ์และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก รวมถึงการฟื้นฟูการศึกษาจากโรคโควิด-19 โคยมีรัฐมนตรีศึกษาจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเดินทางมาเข้าร่วมการประชุม จำนวน 17 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมแบบทางไกล 3 ประเทศ ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ หน่วยงาน องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมประมาณ 350 คน
2. สรุปสาระสำคัญ
2.1 การประชุมเชิงวิชาการ จัดขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ประกอบด้วย การนำเสนอและรายงานเกี่ยวกับดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDG4 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และการประชุมกลุ่มย่อยเกี่ยวกับประเด็นด้านการศึกษา เพื่ออภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ปัญหาท้าทาย และแนวทางส่งเสริมการพัฒนาด้านการศึกษาอย่างครอบคลุมในมิติต่างๆ จำนวน 10 หัวข้อ ดังนี้
1) Learning Recovery and Addressing the Learning Crisis การฟื้นฟู การเรียนรู้และการจัดการวิกฤตการเรียนรู้จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนในโรงเรียน และต้องเรียนรู้ผ่านระบบทางไกล ซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงการศึกษาและคุณภาพที่ไม่เท่าเทียม ดังนั้นการฟื้นตัวจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยการใช้กลยุทธ์การฟื้นฟูที่เหมาะสม ซึ่งกลยุทธ์การฟื้นฟูการเรียนรู้จะแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละภูมิภาค
2) Equity, Inclusion and Gender Equality ความเสมอภาค ความครอบคลุมและความเท่าเทียมระหว่างเพศในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ เด็กจากครอบครัวและชุมชนชายขอบและด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กผู้หญิง เด็กพิเศษ เด็กกลุ่ม LGBTI เด็กและเยาวชนที่ไม่เคยเข้าเรียนหรือออกจากโรงเรียนกลางคัน ดังนั้น จึงมีกรอบแนวคิด “การกลับมาที่ดีกว่าเดิมและเท่าเทียมมากขึ้น” เพื่อพัฒนาการศึกษาหลังการแพร่ระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มเด็กชายขอบและเด็กเปราะบาง
3) Digital Transformation การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลด้านการศึกษานำไปสู่การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ซึ่งช่วยสนับสนุนการศึกษาที่ครอบคลุมได้มากยิ่งขึ้น เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลและความรู้ เสริมสร้างกระบวนการทางการศึกษา และพัฒนาผลการเรียนรู้ โดย ICT เป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถช่วยให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในช่วงที่มีการหยุดชะงักทางการศึกษาและโรงเรียนปิด ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในการศึกษาจะช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูการเรียนรู้ และการปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความครอบคลุม ความยืดหยุ่นและคุณภาพของการจัดการศึกษา
4) Higher Education and Adult Learning การอุดมศึกษาและการศึกษาผู้ใหญ่ควรได้รับการฟื้นฟูจากการสูญเสียโอกาสทางการเรียนในช่วงการแพร่ระบาด การอุดมศึกษาจำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับพลเมืองโลกและนักคิดที่สร้างสรรค์ ส่วนด้านการศึกษาผู้ใหญ่นั้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพัฒนาด้านการอ่านออกเขียนได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในระดับอนุภูมิ อัตราการอ่านออกเขียนได้ของเยาวชนและผู้ใหญ่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระดับโลก ดังนั้น จึงต้องเร่งดำเนินการเพื่อเพิ่มอัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ต่อไป
5) Financing and Governance การเงินและการจัดการบริหาร มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาท้าทายที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ได้แก่ การจัดสรรค่าใช้จ่ายในภาคสังคมและภาครัฐที่ไม่เพียงพอและล่าช้า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของรัฐลดลงอยู่ในระดับต่ำสุดของเกณฑ์มาตรฐาน ตามกรอบการดำเนินงานวาระการศึกษา 2030 จึงได้เสนอแนะว่าควรกำหนดงบประมาณสำหรับการศึกษาร้อยละ 4 - 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product : GDP)
6) Transformative Education (ESD, GCED, Health and Wellbeing) การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงเน้นการส่งเสริมให้ทุกคนพัฒนาศักยภาพเพื่อสันติและการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development : ESD) พลเมืองโลกศึกษา (Global Citizenship Education : GCED) การศึกษาเพื่อสุขภาพและสุขภาวะที่ดี (Education for Health and Well-being : EHW) และสุขภาพและโภชนาการภายในโรงเรียน (School Health and Nutrition : SHN) อันเป็นปัจจัยสู่การมีวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงชีวิต สังคม และโลก รวมถึงการสร้างสังคมที่สงบสุข ยุติธรรม และยั่งยืน
7) Early Childhood Care and Education การดูแลและการศึกษาเด็กปฐมวัย โดยช่วงวัยแรกเกิดถึงอายุ 8 ปี เป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาซึ่งสามารถส่งผลต่อช่วงวัยต่อไปในชีวิต ดังนั้น เด็กปฐมวัยจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาและปราศจากอุปสรรคต่างๆ เช่น ความยากจน ความหิวโหย ความรุนแรง และการถูกคุกคาม เพื่อให้เกิดพัฒนาการทางจิตใจอารมณ์ พฤติกรรม และการเรียนรู้ที่ดีต่อไป
8) Adolescents and Youth Learning and Skills development การเรียนรู้และการพัฒนาทักษะของวัยรุ่นและเยาวชน เพื่อให้มีศักยภาพและทักษะที่เหมาะสม สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานและการมีส่วนร่วมในสังคมได้ โดยให้ความสำคัญทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ
9) Teachers การส่งเสริมศักยภาพและการเตรียมความพร้อมครูเพื่อรับมือกับผลกระทบของโรคโควิด-19 ทั้งด้านการเรียนการสอน ทักษะการใช้เทคโนโลยี ความเครียดทางกายและทางใจ ดังนั้น จึงควรปรับโครงสร้างในการจ้างและการฝึกอบรมครูเพื่อให้สามารถฟื้นฟูการเรียนรู้ใด้อย่างทันเหตุการณ์
10) Data and Monitoring การจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้องและการประเมินอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้สามารถเก็บข้อมูลการศึกษาระดับชาติได้ดีมากยิ่งขึ้น ช่วยให้สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์สภาพจริง ปัญหา และความต้องการทางการศึกษาได้อย่างตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น รวมทั้งนำไปสู่แนวทางการฟื้นฟูการเรียนรู้และการปฏิรูปการศึกษาต่อไป
2.2 การประชุมระดับรัฐมนตรี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 - 7 มิถุนายน 2565 โดยมีการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี แบ่งออกเป็น 2 หัวข้อ ได้แก่
(1) The Learning Recovery and Addressing the Learning Crisis การฟื้นฟูการเรียนรู้และการแก้ไขวิกฤตการเรียนรู้ โดยรัฐมนตรีศึกษาประเทศต่างๆ แสดงวิสัยทัศน์เชิงนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความมั่นใจในการกลับไปเรียนในโรงเรียนอย่างปลอดภัย และการฟื้นฟูการเรียนรู้อย่างมีศักยภาพในอีก 2 ปีข้างหน้า อีกทั้งยังได้ระบุถึงขอบเขตในการฟื้นฟูการศึกษาจากโรคโควิด-19 ได้แก่ การเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ การกลับเข้าไปเรียนใหม่อย่างมีศักยภาพและการรักษาสถานภาพของผู้เรียนอย่างเท่าเทียม ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูการเรียนรู้ รวมถึงการประเมินระดับการเรียนรู้และระบุถึงช่องว่าง การกำหนดมาตรการการเยียวยา เช่น โปรแกรมการเรียนที่มีความแตกต่างและโปรแกรมให้ผู้เรียนสามารถติดตามการสอนได้ทัน การประยุกต์หลักสูตร การปรับปฏิทินโรงเรียนและเวลาการสอน การบริหารจัดการด้านงบประมาณสำหรับฟื้นฟูการศึกษาโดยมีงบประมาณอย่างพอเพียง การจัดสรรงบประมาณอย่างเท่าเทียม และการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
(2) Transforming Education and its Systems โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาเพื่อสร้างความเท่าเทียม ยืดหยุ่น และรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้มากขึ้น เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับปัจเจกบุคคล สังคม เศรษฐกิจ ส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ การมีส่วนร่วม และความยั่งยืนในอนาคตเพื่อมนุษยชาติและโลก ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาเพื่อให้มีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคตได้มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า ผู้เรียนได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพในการใช้ชีวิตและอาชีพการงานที่เหมาะสมกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพสำหรับดำเนินการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ไทยได้รับ คือ การได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนาด้านการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมุมมองใหม่และข้อคิดเห็นระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงทิศทางการดำเนินงานที่เข้มแข็งเพื่อเตรียมพร้อมเดินหน้าสำหรับการฟื้นฟูด้านการศึกษาหลังจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการรับมือกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สถานการณ์ที่คาดไม่ถึง รูปแบบการเรียนรู้ที่ต้องปรับเปลี่ยนตามบริบท รวมถึงบทบาทของเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในการศึกษาให้มีคุณภาพและเท่าเทียม นอกจากนี้ ยังได้กระชับความร่วมมือทั้งด้านการศึกษาและภายใต้กรอบงานยูเนสโกระหว่างสำนักงานยูเนสโกระดับภูมิภาคและประเทศสมาชิกในการฟื้นฟูกิจกรรมที่หยุดชะงักไป โดยมีข้อริเริ่มโครงการและความร่วมมือจากประเทศสมาชิกที่ส่งเสริมพัฒนาด้านการศึกษา การพัฒนาครู ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย SDG4
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6652