WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565-2570

GOV 7

ร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน .. 2565-2570

        คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน .. 2565 - 2570 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ กค. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อขับเคลื่อนและผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติต่อไป

        ร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินฯ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

        1. วิสัยทัศน์ คนไทยมีความตระหนักรู้ ความรู้ และทักษะในการบริหารจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและมีวินัยทางการเงิน เพื่อสร้างความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีให้ตนเองและครอบครัว

        2. วัตถุประสงค์ 

             2.1 เพื่อเป็นกรอบนโยบายและกลไกบูรณาการการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินของประเทศไทย

             2.2 เพื่อเป็นแนวทางการจัดทำโครงการและกิจกรรมที่เสริมสร้างทักษะทางการเงินของคนไทยให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด

 

EXIM One 720x90 C J

 

        3. องค์ประกอบของร่างแผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย 8 มาตรการ 19 แผนงาน ดังนี้

 

เป้าหมาย

 

มาตรการ/แผนงาน

เป้าหมายที่ 1

คนไทยตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการเงินและเข้าถึงข้อมูลทางการเงิน

 

มาตรการที่ 1 ยกระดับความสำคัญการพัฒนาทักษะทางการเงิน

แผนงาน

1) กำหนดให้มีการรณรงค์ระดับชาติและจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการตระหนักรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชน โดยกำหนดรูปแบบ (Theme) การรณรงค์ระดับชาติที่เปลี่ยนไปทุกปี และเน้นการรณรงค์สร้างค่านิยมพื้นฐานทางการเงินที่ดี

2) กำหนดให้การพัฒนาทักษะทางการเงินเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ

ตัวชี้วัด เช่น จำนวนผู้เข้าถึงการรณรงค์ต่อปี กำหนดให้การให้ความรู้ทางการเงินเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ เป็นต้น

มาตรการที่ 2 ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้ทางการเงินที่ถูกต้องและเชื่อถือได้เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้และสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางการเงินด้วยตนเองของประชาชน

แผนงาน

1) ใช้เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลเพื่อเพิ่มระดับการเข้าถึงข้อมูล องค์ความรู้และข่าวสารทางการเงินที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ผ่านช่องทางออนไลน์/สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) รวมทั้งการเตือนภัยทางการเงิน

2) พัฒนาเว็บไซต์ความรู้ทางการเงินเพื่อคนไทย www.รู้เรื่องเงิน.com เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูล ความรู้ และข่าวสารด้านการเงินสำหรับประชาชน โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ

3) ประชาสัมพันธ์ช่องทางติดต่อและศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินของหน่วยงานต่างๆ อาทิ ศูนย์รับฟังปัญหาลูกค้า ปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ ปรึกษาการลงทุนด้านการเงิน เป็นต้น

ตัวชี้วัด เช่น จำนวนข้อมูลความรู้ในรูปแบบดิจิทัลที่มีการเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ของหน่วยงาน จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ www.รู้เรื่องเงิน.com หน่วยงานมีการประชาสัมพันธ์แจ้งช่องทางติดต่อและศูนย์ให้คำปรึกษาของตนในช่องทาง/วิธีการที่เหมาะสม เป็นต้น

เป้าหมายที่ 2

คนไทยมีความรู้และทักษะทางการเงินเพียงพอที่จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต

 

มาตรการที่ 3 กำหนดกรอบสมรรถนะทางการเงินสำหรับคนไทย 

แผนงาน พัฒนากรอบสมรรถนะทางการเงินสำหรับคนไทยแต่ละกลุ่มเป้าหมาย1

ตัวชี้วัด มีกรอบสมรรถนะทางการเงินสำหรับคนไทยที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

 

มาตรการที่ 4 ผลักดันการพัฒนาทักษะทางการเงินในหลักสูตรการเรียนในระบบการศึกษา

แผนงาน

1) ผลักดันการพัฒนาทักษะทางการเงินในหลักสูตรการเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสม มุ่งให้เกิดการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง รวมทั้งมีการทบทวนปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่เสมอ

2) ยกระดับความรู้และพัฒนาครูผู้สอน โดยการดำเนินโครงการส่งเสริมความรู้ด้าน Financial Literacy แก่กลุ่มข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยการนำเสนอหลักสูตร SET e - Learning (หลักสูตรเกี่ยวกับการวางแผนการเงินและการลงทุน) เพื่อประกอบการขอมี/เลื่อนวิทยฐานะ

3) ส่งเสริมการเรียนการสอนเรื่องการเงินส่วนบุคคลในระดับอุดมศึกษา โดยกำหนดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการเงินส่วนบุคคลแก่นักศึกษา

ตัวชี้วัด เช่น มีการพัฒนาเนื้อหา/แนวทางการเรียนการสอนเรื่องการเงินในหลักสูตรการเรียน จำนวนครูที่ได้รับความรู้จากหลักสูตร SET e - Learning จำนวนมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมส่งเสริมการเรียนการสอนเรื่องการเงินส่วนบุคคลในระดับอุดมศึกษาต่อปี เป็นต้น

มาตรการที่ 5 พัฒนาทักษะทางการเงินของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายตลอดช่วงชีวิต 

แผนงาน ดำเนินโครงการให้ความรู้และพัฒนาทักษะทางการเงิน รวมถึงการเงินดิจิทัล ภัยและกลโกงการเงิน และการป้องกันและจัดการความเสี่ยงให้ประชาชนทุกกลุ่มผ่านการฝึกอบรม การสัมมนา และกิจกรรมให้ความรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายตามสภาพปัญหาและความจำเป็นเร่งด่วน ดังนี้

 

กลุ่มเป้าหมาย

 

ตัวอย่างโครงการ/กิจกรรม

กลุ่มเด็กและเยาวชน

 

เช่น (1) โครงการการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการคุ้มครองเงินฝากและการบริหารจัดการทางการเงินแก่เยาวชนในสถานศึกษา (2) โครงการธนาคารโรงเรียน ซึ่งเป็นธนาคารจำลองที่เปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นผู้ดำเนินการธนาคารด้วยตนเองภายใต้การดูแลของธนาคารออมสิน (3) โครงการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน กลุ่มอาชีวศึกษา (โครงการ Fin ดี We Can Do!!!) (4) การผลักดันหลักสูตรเกี่ยวกับการประกันภัยเข้าสู่ระบบการศึกษาทุกช่วงชั้นและผลักดันให้มีกิจกรรมนอกห้องเรียน เช่น โครงการอัจฉริยะยุวชนประกันภัย กิจกรรมประกวดโรงเรียนต้นแบบด้านประกันภัย เป็นต้น และ (5) การให้ความรู้ทักษะการบริหารจัดการเงินแก่เด็กและเยาวชน เช่น โครงการภายใต้ความร่วมมือกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ผ่านการพัฒนาทักษะการเป็นวิทยากรมืออาชีพ (train the trainer) โครงการโรงเรียนธนาคารของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น

กลุ่มอุดมศึกษา

 

เช่น (1) การพัฒนาแอปพลิเคชัน ACMO me ระบบจัดการบัญชีรายรับ - รายจ่ายออนไลน์ผ่านมือถือ เพื่อช่วยในการบริหารจัดการและวางแผนทางการเงิน (2) การจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยและเส้นทางสายอาชีพในด้านการประกันภัยในสถานศึกษา (3) โครงการเสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่สู่ตลาดทุน และ (4) การจัดทำโครงการ Bond Academy ให้ความรู้และพัฒนาทักษะการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านการอบรมและการทำ workshop

กลุ่มผู้มีงานทำ (เอกชน

มีนายจ้าง/ผู้ประกอบอาชีพอิสระ/ผู้ประกอบการ)

 

เช่น (1) โครงการ Happy Money สุขเงินสร้างได้ สำหรับแรงงานในระบบ/นอกระบบ เพื่อเสริมทักษะการบริหารรายได้ การจัดการหนี้สิน และการออม (2) โครงการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบดิจิทัลด้วย SET Financial Literacy Platform (3) โครงการ Smart Entrepreneurs จัดทำศูนย์รวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวิธีการระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการ โดยเน้นกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SME) และธุรกิจสร้างใหม่ (Startup) (4) โครงการส่งเสริมทักษะความรู้ทางการเงินสำหรับคนวัยทำงาน (โครงการ Fin ดี Happy Life!!!) และ (5) โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ SME โดยมีการดำเนินการ เช่น การจัดทำชุดความรู้สำหรับพัฒนาทักษะทางการเงิน การจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ทางการเงินและบัญชี เป็นต้น

กลุ่มภาครัฐ

 

เช่น (1) โครงการการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการคุ้มครองเงินฝากและการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินให้กับประชาชนภาคธุรกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (2) โครงการส่งเสริมสหกรณ์นอกภาคการเกษตรให้เป็นกลไกพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (3) การวางแนวทางการพัฒนาทักษะทางการเงินสำหรับข้าราชการสมาชิกตลอดช่วงชีวิต และ (4) โครงการส่งเสริมความรู้ทางการเงินพื้นฐานสำหรับข้าราชการใหม่

กลุ่มประชาชนระดับฐานราก

(ผู้มีรายได้น้อยในกลุ่มอาชีพต่างๆ อาทิ เกษตรกร

ผู้ประกอบการรายย่อย

ในชุมชน แรงงานทั่วไป

อาชีพอิสระ เป็นต้น)

 

เช่น (1) กิจกรรมการให้ความรู้ทางการเงินควบคู่กับการให้สินเชื่อให้กับลูกค้าฐานราก ลูกค้าองค์กรชุมชน และสมาชิกภายในกลุ่มองค์กรชุมชน (2) โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นเพื่อพัฒนาความรู้ทางการเงิน ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มองค์กรชุมชน/วิสาหกิจชุมชน (3) โครงการซะกาต (การบริจาคทานตามหลักการศาสนาอิสลาม) เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับผู้ยากจน และ (4) กิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยเชิงรุก โดยการลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ ของประเทศ

กลุ่มองค์กรการเงินชุมชน

 

เช่น (1) การสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันการเงินประชาชนเพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ การให้บริการทางการเงินและพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกในกลุ่มองค์กรการเงินชุมชน (2) โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือนที่ถูกต้อง เน้นการสร้างวินัยการเงินและการเตรียมความพร้อมในการกู้เพื่อมีบ้าน (3) การจัดตั้งทีมขับเคลื่อนการส่งเสริมการออมและการพัฒนาทักษะทางการเงิน (4) โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนของประชาชน โดยศูนย์จัดการกองทุนชุมชน และ (5) โครงการชุมชนซื่อสัตย์โดยสร้างช่องทางเข้าถึงสินเชื่อผ่านมัสยิดทั่วประเทศ (ดำเนินการโดยธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย)

กลุ่มผู้สูงวัย/เกษียณอายุ

 

เช่น (1) การพัฒนาเว็บไซต์ gsbseniorwow.com และแอปพลิเคชัน GSB Senior WOW เพื่อเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารและแหล่งรวบรวมข้อมูลต่างๆ สำหรับกลุ่มลูกค้าสูงวัยให้ได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความสุข (2) กิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและการเงิน (3) การพัฒนาทักษะทางการเงินให้แก่ประชาชนวัยก่อนสูงอายุ เช่น การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อส่งเสริมการสร้างวินัยการออม การจัดประชุมขยายผลการเตรียมความพร้อมสู่วัยสูงอายุในชุมชน 5 มิติ รวมทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ (การวางแผนทางการเงิน) ให้แก่ประชาชนและเครือข่ายต่างๆ (4) การจัดอบรมหลักสูตร Bond basic ที่เน้นการลงทุนในหุ้นกู้ และ (5) การจัดสัมมนาการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ร่วมกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย

กลุ่มประชาชนทั่วไป

 

เช่น (1) โครงการห้องเรียนนักลงทุน และ (2) การให้บริการศูนย์การเรียนรู้ด้านตลาดทุน เช่น ห้องสมุดมารวย พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน และศูนย์ SET Investment Center เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการวางแผนการเงินและการลงทุน

กลุ่มผู้ถ่ายทอดความรู้และทักษะทางการเงิน

 

เช่น (1) โครงการสร้างเครือข่ายส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยให้กับสาธารณชนทั่วประเทศ โดยจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยให้แก่กลุ่มเป้าหมายและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง (2) โครงการคนไทยใส่ใจการเงินการลงทุน โดยให้ความรู้แก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ในเรื่องทักษะการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลและวิธีการลงทุน เพื่อความมั่นคงทางการเงิน และ (3) โครงการ Train the trainer ที่ให้สิทธิอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับตราสารหนี้ที่จัดโดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

กลุ่มเปราะบางทางการเงินสูง

 

เช่น (1) โครงการส่งเสริมทักษะการบริหารจัดการหนี้การศึกษาและการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลสำหรับผู้กู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) (2) การให้ความรู้และพัฒนาทักษะทางการเงินแก่กลุ่มผู้พิการทางสายตา (3) โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาคุณภาพชีวิต สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ด้วยระบบสหกรณ์ และ (4) โครงการเสริมสร้างวินัยทางการเงินและฟื้นฟูลูกค้าปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนและลูกค้าหนี้นอกระบบ

 

ตัวชี้วัด เช่น ระดับความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมการสัมมนาต่างๆ จำนวนผู้เข้าถึงสื่อความรู้ที่เผยแพร่ จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม และจำนวนผู้เข้าร่วมอบรมในแต่ละหลักสูตร เป็นต้น

 

มาตรการที่ 6 พัฒนากฎระเบียบและมาตรการเพื่อสนับสนุน

แผนงาน

1) กำหนดให้องค์กรในภาคการเงินต้องจัดให้มีกิจกรรมหรือการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงิน

2) กำหนดให้บุคลากรภาครัฐบรรจุใหม่ได้รับการฝึกอบรมการเงินส่วนบุคคล

3) กำหนดให้การเข้ารับการอบรมและการผ่านแบบทดสอบความรู้เรื่องการบริหารจัดการหนี้เป็นเงื่อนไขของการได้รับอนุมัติหรือได้รับชำระวงเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาจาก กยศ

ตัวชี้วัด ได้แก่ หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินมีการออกหลักเกณฑ์หรือข้อกำหนดให้องค์กรการเงินในกำกับต้องจัดให้มีกิจกรรมหรือการดำเนินการด้านการพัฒนาความรู้และทักษะทางการเงินให้แก่ประชาชน มีการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมีการกำหนดให้บุคลากรภาครัฐบรรจุใหม่ได้รับการฝึกอบรมการเงินส่วนบุคคล

 

เป้าหมายที่ 3

ประเทศไทยมีกลไกขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างบูรณาการ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินที่ยั่งยืน

 

มาตรการที่ 7 จัดตั้งกลไกขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างบูรณาการและยั่งยืน

แผนงาน แต่งตั้งคณะกรรมการการพัฒนาทักษะทางการเงินเพื่อขับเคลื่อน กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการตามร่างแผนปฏิบัติการฯ

ตัวชี้วัด มีการจัดตั้งคณะกรรมการการพัฒนาทักษะทางการเงิน

มาตรการที่ 8 สร้างระบบการติดตามและประเมินผล

แผนงาน

1) กำหนดตัวชี้วัดระดับเป้าหมาย

2) กำหนดตัวชี้วัดของแต่ละหน่วยงานรวมทั้งการประเมินผล

3) จัดให้มีการสำรวจระดับทักษะทางการเงินทุก 2 ปี

4) ผลักดันให้มีการบูรณาการระบบข้อมูลความรู้/ทักษะทางการเงิน

5) จัดทำรายงานผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี

ตัวชี้วัด หน่วยงานมีการกำหนดตัวชี้วัดและประเมินผลการดำเนินงาน มีการสำรวจระดับทักษะทางการเงินทุก 2 ปี มีการกำหนดแนวทางในการรวบรวมและบูรณาการข้อมูลระหว่างองค์กรต่างๆ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม เป็นต้น

 

 

aia 720 x100

 

        4. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

             4.1 คนไทยมีระดับทักษะทางการเงินสูงขึ้นในทุกด้านและเพียงพอสำหรับการบริหารจัดการเงินอย่างเหมาะสมในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

             4.2 คนไทยมีการก่อหนี้และภาระหนี้ที่ไม่จำเป็นลดลง

             4.3 คนไทยมีการออมเพิ่มขึ้นและมีการออมตามแผนทางการเงินและเป้าหมายในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

             4.4 คนไทยมีภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยง เหตุไม่คาดฝัน และแรงกดดันทางการเงิน ผ่านการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสมตามแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

             4.5 คนไทยมีทักษะด้านการเงินดิจิทัล มีความรู้ความเข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์จากการเงินดิจิทัลได้ รวมทั้งสามารถป้องกันและจัดการกับความเสี่ยงหรือภัยที่เกิดจากการเงินดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม

             4.6 ประเทศไทยมีกลไกขับเคลื่อน กำกับ และติดตามผลการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินของประชาชนอย่างเป็นระบบ

        5. ตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของร่างปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย

             5.1 ผลสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทยที่จัดทำโดย ธปท. สูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD 

             5.2 ผลสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทยที่จัดทำโดย ธปท. เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อสิ้นสุดร่างแผนปฏิบัติการฯ

        ทั้งนี้ ร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน .. 2565-2570 เป็นกรอบนโยบายระดับปานกลาง 6 ปี ที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 - 13 ที่มุ่งพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยการพัฒนาทักษะ ความรู้ รวมถึงค่านิยมทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนทางการเงินได้อย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ได้กำหนดเป้าหมายปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน

________________________________

1 กลุ่มเป้าหมายของร่างแผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย (1) กลุ่มเด็กและเยาวชน (2) กลุ่มอุดมศึกษา (3) กลุ่มผู้มีงานทำ (4) กลุ่มภาครัฐ (5) กลุ่มประชาชนฐานราก (6) กลุ่มผู้สูงวัย/ผู้เกษียณอายุ (7) กลุ่มประชาชนทั่วไป (8) กลุ่มผู้ถ่ายทอดความรู้และทักษะทางการเงิน และ (9) กลุ่มผู้มีความเปราะบางทางการเงินสูง

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 14 มิถุนายน 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A6404

 Click Donate Support Web

วิริยะ 720x100

PTG 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!