ข้อเสนอการดำเนินการเพื่อยกเว้นการยื่นรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (แบบ ต.ม. 6) กรณีการเดินทางผ่านด่านท่าอากาศยาน เป็นการชั่วคราว
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 14 June 2022 21:50
- Hits: 4201
ข้อเสนอการดำเนินการเพื่อยกเว้นการยื่นรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (แบบ ต.ม. 6) กรณีการเดินทางผ่านด่านท่าอากาศยาน เป็นการชั่วคราว
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบข้อเสนอการดำเนินการเพื่อยกเว้นการยื่นรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (แบบ ต.ม. 6) กรณีการเดินทางผ่านด่านท่าอากาศยาน เป็นการชั่วคราว ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการข้อเสนอการดำเนินการเพื่อยกเว้นการยื่นรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (แบบ ตม. 6) เฉพาะกรณีการเดินทางผ่านด่านท่าอากาศยาน โดยประเมินผลสักระยะหนึ่งแล้วจึงพิจารณาใหม่ ส่วนการกรอกข้อความในแบบ ต.ม. 6 สำหรับการเดินทางทางบก (รถยนต์ รถไฟ) และทางน้ำ (เรือ) ควรดำเนินการต่อไปเพราะมีจำนวนไม่มากอย่างมีนัยสำคัญ และยังคงเป็นประโยชน์ด้านการป้องกันอาชญากรรมและการติดตามตัวผู้ติดเชื้อ
2. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการออกประกาศให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อให้เกิดผลทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) รายงานว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รับไปตรวจสอบข้อร้องเรียนและปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้นเพื่อลดความแออัดและอำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร โดยเฉพาะการเดินทางผ่านด่านท่าอากาศยาน ในช่วงของการเปิดประเทศและต้องกรอกข้อความในใบ ต.ม. 6 นั้น
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 65 ได้เชิญผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พร้อมด้วยคณะ) ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (สำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง) มาหารือปัญหาดังกล่าว โดยมี พล.ต.ท. พิจาร จิตติรัตน์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมด้วย สรุปประเด็นผลการหารือและข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้
1. ข้อเท็จจริง
1.1 กรณีความแออัดที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง บริเวณท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตได้รับการชี้แจงจาก สตม. ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศบริเวณนั้นเป็นการทำงานร่วมกันของ 2 หน่วย คือ สตม. (ด่านตรวจคนเข้าเมือง) ที่คัดกรองจากแบบ ต.ม. 6 และเจ้าพนักงานควบคุมโรคประจำด่านควบคุมโรคที่จะตรวจสอบข้อมูลการรับวัคซีน คัดกรองโรคและประทับตราบนแบบ ต.ม. 6 ซึ่งปกติแล้วการตรวจเฉพาะของเจ้าหน้าที่ สตม. จะใช้เวลาประมาณไม่เกิน 1 นาทีต่อราย แต่ความแออัดที่เกิดขึ้นดังกล่าว สืบเนื่องจากมีเที่ยวบินล่าช้าจึงมีจำนวนผู้เดินทางที่ตกค้างสมทบกับเที่ยวบินที่ลงจอดตามเวลาปกติ จำนวนผู้เดินทางเข้าหน้าด่านจึงมีปริมาณสะสม และผู้เดินทางบางส่วนมิได้กรอกเอกสารไว้ล่วงหน้าตามที่แจกให้บนเครื่องบิน จึงทำให้เสียเวลาและเกิดเป็นภาพความแออัดดังกล่าวขึ้น
1.2 แบบ ต.ม. 6 เป็นเอกสารที่กำหนดขึ้นตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 18 ที่กำหนดให้ผู้เดินทางเข้ามาหรือออกไปนอกราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจของเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ปัจจุบันเฉพาะคนต่างด้าวเท่านั้นที่ต้องกรอกและยื่นแบบ ต.ม. 6 ดังกล่าว (กรณีคนไทย ได้ยกเลิกการกรอกแบบ ต.ม. 6 โดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 42/2560) โดยข้อมูลที่ต้องกรอกในแบบ ต.ม. 6 ด้านหน้าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เดินทาง (เช่น ที่อยู่ วัตถุประสงค์ของการเดินทาง สถานที่ที่จะเข้าพำนัก ระยะเวลาที่พำนัก) ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญเพื่อการตรวจคนเข้าเมือง ด้านหลังจะเป็นข้อมูลเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ลักษณะของเที่ยวบิน (เที่ยวบินพาณิชย์/ Charter flight) ประเภทของการท่องเที่ยว (ท่องเที่ยวเอง/กรุ๊ปทัวร์) ประเภทที่พัก รายได้ต่อปีของผู้เดินทาง ซึ่งรับทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าข้อมูลด้านหลังนี้ ก.ก. (โดย ททท.) จะเข้ามาประสานขอจัดเก็บข้อมูลไปใช้ประโยชน์ด้านสถิติ และได้มีการประสานเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมประเภทข้อมูลที่จัดเก็บเพื่อเป็นประโยชน์ทางการท่องเที่ยวเป็นระยะ
1.3 แบบ ต.ม. 6 ดำเนินการจัดพิมพ์โดยโรงพิมพ์ตำรวจ ตามความต้องการของสตม. สายการบิน และผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว โดยมีงบประมาณจัดพิมพ์ในราคาแผ่นละ 0.70 บาท จัดพิมพ์ล่าสุดในปี 63 จำนวน 17.1 ล้านใบ คิดเป็นเงิน 11.9 ล้านบาท หากประมาณการงบประมาณจัดพิมพ์ จำนวน 65 ล้านใบ จะคิดเป็นเงิน 45.5 ล้านบาท (ไม่ใช่หลักร้อยล้านบาท)
1.4 ข้อมูลในแบบ ต.ม. 6 มีความจำเป็นเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นด้านความมั่นคง (ตร./มท/ยธ.) เพื่อให้ทราบ สืบค้น และติดตามการแจ้งที่พักอาศัยของผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยเฉพาะที่ผ่านมาช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด - 19 ที่มาจากต่างประเทศ แบบ ต.ม. 6 จะเป็นเอกสารเบื้องต้นที่สำคัญในการติดตามตัวผู้ที่มีความเสี่ยงของโรค และข้อมูลด้านการท่องเที่ยว (กก.) ที่นำข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการจัดทำสถิติ
2. ข้อเสนอแนวทางแก้ไข
ปัจจุบันการจัดเก็บและตรวจสอบข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลลักษณะทางกายภาพของผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้มีการจัดเก็บเป็นระบบผ่านระบบไบโอเมตริกซ์ อีกทั้งข้อมูลในแบบ ต.ม. 6 เป็นเพียงข้อมูลที่ให้ผู้เดินทางกรอกในเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งบางครั้งข้อมูลนั้น เช่น โรงแรมที่พักก็ไม่ถูกต้องตรงต่อความจริง การนำข้อมูลมาใช้งานจริงหน่วยงานจึงจำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง ในส่วนของข้อมูลการท่องเที่ยวสามารถจัดเก็บข้อมูลได้จากผู้ประกอบการท่องเที่ยวและสายการบินอยู่แล้ว ที่ประชุมจึงเห็นว่า การยกเว้นการกรอกและยื่นเอกสารแบบ ต.ม. 6 เฉพาะการเดินทางเข้าราชอาณาจักรเฉพาะที่ผ่านด่านท่าอากาศยานซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากอย่างมีนัยสำคัญจะเป็นการช่วยลดภาระแก่ผู้เดินทาง ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บเอกสาร ทำให้การตรวจลงตราหน้าด่านตรวจเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของท่าอากาศยานซึ่งเป็นประตูด่านแรกที่สะท้อนภาพลักษณ์ของประเทศ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 14 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6396