ผลการประชุมสุดยอดด้านการบินชางงี 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 14 June 2022 21:47
- Hits: 4200
ผลการประชุมสุดยอดด้านการบินชางงี 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมสุดยอดด้านการบินชางงี 2565 ระหว่างวันที่ 17 – 18 พฤษภาคม 2565 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (10 พฤษภาคม 2565) ที่เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการฟื้นฟูภาคการบิน ความยั่งยืนภาคการบิน และนวัตกรรมที่ทั่วถึง และอนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทินฯ) หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการฟื้นฟูภาคการบิน ความยั่งยืนด้านการบิน และนวัตกรรมที่ทั่วถึง] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การหารือเกี่ยวกับประเด็นสำคัญด้านการบินภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19) และการสร้างความยั่งยืนด้านการบินและสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้แทนเข้าร่วมประชุมฯ จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศด้านการบิน พร้อมด้วยรัฐมนตรีขนส่งของอาเซียน จาก 7 ประเทศ ได้แก่ เนการาบรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และประเทศไทย โดยได้หารือในประเด็นสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
ประเด็นการหารือ |
สาระสำคัญ |
|
(1) การฟื้นฟูและการกลับมาของความเชื่อมโยงด้านการบินจากผลกระทบของโควิด-19 และแนวทางการฟื้นฟูการเดินทางระหว่างประเทศ |
- การฟื้นฟูภาคการบินต้องอาศัยการบูรณาการการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการสร้างความยั่งยืน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในอนาคตและการนำเทคโนโลยีระบบไร้การสัมผัสมาใช้ในขั้นตอนการเดินทางเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้โดยสาร - การบริหารจัดการข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญในการลดอุปสรรคของมาตรการและพิธีการต่างๆ ในการเดินทาง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจากประเทศต่างๆ จะต้องร่วมมือและปรับปรุงมาตรการและกฎระเบียบให้สอดคล้องกันเพื่อเชื่อมโยงภาคการบินระหว่างประเทศให้กลับมาเป็นปกติ |
|
(2) ความสดใสและท้องฟ้าที่สะอาดในอนาคต |
- ภาคการบินมีส่วนสำคัญในการดำเนินการเพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ได้มีการเริ่มพัฒนาภาคการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากกิจกรรมในภาคการบิน รวมทั้งการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในภาคการบิน เช่น การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในภาคการบินและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม - รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทินฯ) นำเสนอวิสัยทัศน์ว่าไทยตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและจะดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการบิน โดยไทยได้ยื่นแผนปฏิบัติการต่อองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) เป็นระยะ เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นด้านสิ่งแวดล้อมของภาคอุตสาหกรรมการบินพลเรือนของไทย ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ (1) เทคโนโลยีอากาศยาน (2) การพัฒนาท่าอากาศยาน (3) การพัฒนาการปฏิบัติการของอากาศยาน และ (4) มาตรการทางการลด รวมทั้งมีการดำเนินมาตรการย่อยที่สอดคล้องกับแผนงานการตลาด และการชดเชยการปล่อยคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือ ICAO และความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ไทยมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการบินระหว่างประเทศในช่วง 5 ปี ที่อัตราร้อยละ 0.3 จากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีฐาน และยังได้จัดทำแนวทางในการพัฒนาเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน เพื่อสนับสนุนสายการบินในการนำเชื้อเพลิงชีวภาพมาใช้สำหรับการปฏิบัติการบิน |
|
(3) ประเด็นด้านสาธารณสุข |
รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทินฯ) ได้เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณาและให้การรับรองใบรับรองการฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งนำมาสู่การรับรองเอกสาร “การสนับสนุนร่วมเพื่อการฟื้นฟูภาคการบินพลเรือน” (Joint Support For The Recovery Of The Civil Aviation Sector) โดยมีประเด็นสำคัญคือ การมุ่งดำเนินการให้ร่วมกันยอมรับใบรับรองวัคซีนโควิด-19 ของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับเอกสารแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการฟื้นฟูภาคการบิน ความยั่งยืนด้านการบิน และนวัตกรรมที่ทั่วถึง ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 อย่างไรก็ตาม ไทยได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ไม่ขัดข้องในหลักการของเอกสารการสนับสนุนร่วมฯ แต่โดยที่ไทยได้รับร่างเอกสารกระชั้นชิดกับการประชุมฯ ดังนั้น เมื่อไทยได้ดำเนินการตามกระบวนการภายในในการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว คค. จะได้แจ้งฝ่ายสิงคโปร์ทราบในโอกาสแรก ทั้งนี้ คค. จะเสนอเอกสารดังกล่าวเพื่อให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโดยด่วนต่อไป |
|
(4) การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการฝึกอบรมร่วมระหว่างสิงคโปร์และประเทศกำลังพัฒนาของ ICAO |
รัฐมนตรีคมนาคมสิงคโปร์และประธาน ICAO ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่างกันแล้ว อย่างไรก็ตาม สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจะประสาน ICAO เพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยกับ ICAO เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการฝึกอบรมด้านการบินในภูมิภาค |
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมฯ ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการฟื้นฟูภาคการบิน ความยั่งยืนด้านการบิน และนวัตกรรมที่ทั่วถึง ซึ่งเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565
2. การหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทยกับรัฐมนตรีคมนาคมมาเลเซีย เพื่อสานต่อความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงคมนาคมและประเด็นด้านการขนส่งต่างๆ ดังนี้
2.1 ด้านการบิน ทั้งสองฝ่ายแสดงความยินดีที่ได้เปิดเที่ยวบินแบบเปิดรับนักท่องเที่ยวระหว่างกันโดยไม่ต้องกักตัว (Vaccinated Travel Lane: VTL) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 เพื่อฟื้นฟูการเดินทางทางอากาศระหว่างสองประเทศ ซึ่งสอดรับกับการเปิดประเทศของมาเลเซียเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 และการเปิดประเทศของไทยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 โดยมีการผ่อนคลายมาตรการทางสาธารณสุขแล้ว
2.2 การเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูง มาเลเซียอยู่ระหว่างทบทวนแผนงานโครงการรถไฟความเร็วสูงสิงคโปร์-กัวลาลัมเปอร์-กรุงเทพมหานคร ซึ่งหากเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังชายแดนไทย-มาเลเซียสำเร็จ จะเกิดประโยชน์ต่อการคมนาคมของทั้ง 3 ประเทศ โดยขณะนี้เส้นทางรถไฟสิงคโปร์-คุนหมิงได้มีการเชื่อมต่อจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแล้ว ทั้งนี้ ไทยเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านการคมนาคมระหว่างสองประเทศทั้งในระดับนโยบายและระดับคณะทำงาน โดยฝ่ายมาเลเซียไม่ขัดข้อง
2.3 การเชื่อมโยงพื้นที่ชายแดน ไทยได้ขอให้มาเลเซียเร่งพิจารณาโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือด้านเทคนิค และเสนอให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษารายละเอียดโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงจังหวัดสตูล-เปอร์ลิส ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ทั้งนี้ มาเลเซียจะแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการทราบต่อไป นอกจากนี้ ไทยได้ผลักดันให้มีการก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างด่านศุลกากรสะเดาแห่งที่ 2-บูกิตกายูฮิตัม ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือด้านเทคนิคของทั้งสองฝ่ายเพื่อปรับแนวถนนให้มีการเชื่อมต่อที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถเปิดใช้ด่านศุลกากรแห่งที่ 2 ได้โดยเร็ว ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของการจราจรบริเวณหน้าด่านและเพิ่มความคล่องตัวในการขนส่งสินค้า
2.4 การอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนทางถนน ไทยขอให้มาเลเซียเร่งพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนและร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดน เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกการขนส่งระหว่างสองประเทศ ซึ่งฝ่ายมาเลเซียแจ้งว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. ความเห็นและข้อสังเกตของ คค. การประชุมสุดยอดด้านการบินมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี โดยการจัดประชุมฯ ครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อปี 2561 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การประชุมสุดยอดด้านการบินชางงีในปี 2565 เป็นการประชุมแบบเต็มรูปแบบครั้งแรกภายหลังโควิด-19 ซึ่งการเข้าร่วมการประชุมฯ ครั้งนี้ เป็นการแสดงความมุ่งมั่นของไทยในการร่วมมือกับประชาคมโลกด้านการบินในการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมการบินให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ รวมทั้งตอบสนองต่อความเติบโตของการขนส่งทางอากาศในอนาคตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ภาครัฐและเอกชนได้มีการหารือทวิภาคีคู่ขนานกับการประชุมฯ เพื่อเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและกระชับความสัมพันธ์ในภาคอุตสาหกรรมการบินและการคมนาคมในภาพรวมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 14 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6395