(ร่าง) ข้อเสนอปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจีดพันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) ต่อที่ประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 19 (CITES CoP19)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 14 June 2022 21:35
- Hits: 4219
(ร่าง) ข้อเสนอปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจีดพันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) ต่อที่ประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 19 (CITES CoP19)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) ข้อเสนอการปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) ทั้งนี้หากมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข (ร่าง) ข้อเสนอฯ ต่อวาระการประชุมดังกล่าวที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยให้เป็นดุลยพินิจของอธิบดีกรมประมงเป็นผู้พิจารณา โดยไม่ต้องนำกลับมาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ ตามกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ พ.ศ. 2546 และอยู่ในบัญชี 1 ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ซึ่งเป็นบัญชีสำหรับชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีสถานภาพใกสัสูญพันธุ์มตั้งแต่ปี 2518 เนื่องจากประชากรจระเข้ตามธรรมชาติในประเทศไทยมีจำนวนน้อย ต่อมาประเทศไทยเริ่มมีการเพาะพันธุ์จระเข้และมีการค้าขายกันเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ในการประชุมภาคีอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 16 (CITES CoP16) เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ประเทศไทยจึงเสนอขอปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จากบัญชี 1 ตามอนุสัญญา CITES เป็นบัญชี 2 เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกจระเข้ไปยังต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมฯ เนื่องจากประเทศภาคีสมาชิกบางประเทศ (สหรัฐอเมริกาและแคนาดา) มีความกังวลต่อจำนวนประชากรจระเข้น้ำจืดของประเทศไทยในธรรมชาติ โดยในครั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) ข้อเสนอการปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย ซึ่งเป็นการดำเนินการลักษณะเดียวกันกับเมื่อปี 2556 โดยได้มีการเพิ่มและปรับปรุงข้อมูลในส่วนแนวทางการคุ้มครองจระเข้ตามธรรมชาติของประเทศไทยให้เป็นปัจจุบัน เช่น การเพิ่มกฎหมายสำหรับคุ้มครองชนิดพันธุ์จระเข้ของประเทศไทยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคามต่อจระเข้ตามธรรมชาติ เป็นต้น เพื่อให้ประเทศภาคีอนุสัญญา CITES มั่นใจว่าจระเข้ตามธรรมชาติจะได้รับการคุ้มครองและจะไม่มีการทำการค้าโดยเด็ดขาด และการค้าจระเข้จะมาจากฟาร์มเพาะพันธุ์ของเกษตรกรที่ได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น
2. การปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยเป็นการอำนวยความสะดวกให้สามารถส่งออกจระเข้ไปยังต่างประเทศได้สรุป ดังนี้
อนุสัญญา CITES |
||
บัญชี 1 |
บัญชี 2 |
|
- ชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีสถานภาพ - ใกล้สูญพันธุ์ - ห้ามมีการส่งออกเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า แต่หากชนิดพันธุ์ดังกล่าวสามารถเพาะพันธุ์และมีศักยภาพในการค้าขายเชิงพาณิชย์ได้ให้สามารถส่งออกได้ ภายใต้เงื่อนไขคือ (1) ต้องเป็นฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักเลขาธิการ CITES แล้ว และ (2) ต้องขอใบอนุญาคส่งออก ใบอนุญาตให้เพาะพันธุ์จระเข้ และใบอนุญาตให้ค้าจระเข้เช่นเดียวกับบัญชี 2 |
- ชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีสถานภาพ - ยังไม่ใกล้สูญพันธุ์ - สามารถส่งออกเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าได้โดยจะต้องมีใบอนุญาตส่งออก ใบอนุญาตให้เพาะพันธุ์จระเข้ และใบอนุญาตให้ค้าจระเข้ (ไม่ต้องขึ้นทะเบียนฟาร์มกับสำนักเลขาธิการ CITES) |
3. ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนฟาร์มเพาะพันธุ์เพื่อการค้าระหว่างประเทศกับสำนักเลขาธิการ CITES ตามบัญชี 1 เพียง 29 แห่ง จากทั้งหมด 928 แห่ง ส่งผลให้การค้าขายจระเข้ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการภายในประเทศซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ ปริมาณจระเข้ที่มีการเพาะเลี้ยงในประเทศจึงมีมากเกินความต้องการของตลาด (ปี 2564 มีจระเข้เพาะพันธุ์จำนวนประมาณ 1.26 ล้านตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวนประมาณ 0.73 ล้านตัว) ส่งผลให้เกษตรกรต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงจระเข้ ก่อนหน้าคณะรัฐมนตรีจึงมีมติ (13 กรกฎาคม 2565) อนุมัติในหลักการโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งการปรับลดบัญชีในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยมีช่องทาง ในการส่งออกสินค้าจระเข้ไปยังต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้ที่สามารถส่งออกได้จะเป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ขนาดใหญ่ (29 แห่ง) เท่านั้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 14 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6394