การขอความเห็นชอบต่อการร่วมรับรองปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 14 June 2022 20:27
- Hits: 4424
การขอความเห็นชอบต่อการร่วมรับรองปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อการร่วมรับรองปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ปฏิญญาร่วมฯ) ที่รับรองในการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก (Ministerial Forum for Cooperation in the Indo - Pacific) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาและดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. ให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายในฐานะผู้แทนรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งฝ่ายสหภาพยุโรปว่าไทยร่วมรับรองปฏิญญาร่วมฯ ในนามประเทศไทย
3. ให้ กต. แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง [เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เป็นต้น] เกี่ยวกับการร่วมรับรองปฏิญญาร่วมฯ เพื่อนำไปขยายผลให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรมต่อการดำเนินการของประเทศไทยด้านความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. สหภาพยุโรปและสาธารณรัฐฝรั่งเศสในฐานะประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปวาระเดือนมกราคม - มิถุนายน 2565 ได้ร่วมจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อย้ำเจตนารมณ์ของฝ่ายสหภาพยุโรปในการยกระดับความร่วมมือกับภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก1 ให้แน่นแฟ้นมากขึ้นในประเด็นความมั่นคง การเชื่อมโยงและประเด็นระดับโลก เช่น สาธารณสุข การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปเข้าร่วมด้วย
2. ปฏิญญาร่วมฯ เป็นหนึ่งในเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมดังกล่าวโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินการร่วมกันเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งไม่มีผลผูกมัดใดๆ ในด้านกฎหมายหรือสร้างพันธกรณีระหว่างประเทศต่อประเทศที่ร่วมรับรอง โดยฝ่ายสหภาพยุโรปและสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ทาบทามให้ประเทศในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกจำนวนหนึ่ง ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 13 ประเทศของภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกที่ร่วมรับรองปฏิญญาร่วมฯ เนื่องจากประเทศไทยมีความร่วมมือด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับสหภาพยุโรปมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการจัดทำพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกรอบกฎหมายที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรปว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลทั่วไป (General Data Protection Regulation: GDPR) ดังนั้น การรับรองปฏิญญาร่วมฯ จึงถือเป็นการต่อยอดความร่วมมือดังกล่าวและปูทางไปสู่การเจรจาเพื่อบรรลุข้อมติของคณะกรรมาธิการยุโรปรับรองมาตรฐานการรับ - ส่งข้อมูลระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Adequacy Decision) ในอนาคต ทั้งนี้ ได้เปิดให้มีการร่วมรับรองภายหลังได้โดยไม่มีกำหนดเวลา เนื่องจากเป็นการทาบทามประเทศต่างๆ อย่างกระชั้นชิด และตระหนักว่าแต่ละประเทศมีกระบวนการภายในที่ต้องดำเนินการ
3. ปฏิญญาร่วมฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1) การพัฒนาทางเทคโนโลยีได้สร้างคุณประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคม แต่ก็นำมาซึ่งความท้าทายใหม่ต่อความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย เพราะหากในระดับปัจเจกบุคคลและระดับชุมชนไม่ปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือหน่วยงานภาครัฐลังเลที่จะแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคลกับหุ้นส่วนต่างชาติจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาได้ และทำให้สังคมของเราไม่สามารถเปิดรับหรือได้ประโยชน์จากการปฏิวัติทางดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยในการส่งข้อมูล โดยให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิในความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มที่
2) เห็นพ้องร่วมกันต่อวิสัยทัศน์การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลที่มีคนเป็นศูนย์กลาง โดยคำนึงว่าการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการนำไปสู่ความร่วมมือข้ามพรมแดน
3) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนมาตรฐานระดับสูงในด้านการคุ้มครองข้อมูลและความเป็นส่วนตัว โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานขององค์ประกอบที่ได้รับการยอมรับร่วมกันในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก เช่น (1) การมีกรอบกฎหมายและนโยบายที่ครอบคลุมสำหรับทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ (2) การคำนึงถึงหลักการสำคัญ (อาทิ ความชอบด้วยกฎหมาย ความเป็นธรรม ความโปร่งใส การจัดเก็บข้อมูลเฉพาะที่จำเป็น) (3) การใช้สิทธิของปัจเจกบุคคลเพื่อดำเนินการกับข้อมูลของตนเองได้ (อาทิ การเข้าถึง การแก้ไข การลบ และความคุ้มครองเกี่ยวกับการตัดสินใจอัตโนมัติ) (4) การรักษาความปลอดภัยสำหรับการโอนถ่ายข้อมูลระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดนได้ โดยมีหลักประกันว่าระบบรักษาความปลอดภัยจะติดตามไปกับข้อมูลที่ส่งออก (5) การกำกับดูแลที่เป็นอิสระโดยหน่วยงานของรัฐเป็นการเฉพาะและมีระบบการชดเชย/เยียวยาที่มีประสิทธิภาพ
4) ส่งเสริมและต่อยอดการหารือเกี่ยวกับนโยบายระหว่างประเทศและความร่วมมือด้านการคุ้มครองข้อมูลและการไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดนอย่างน่าเชื่อถือโดยหารือผ่านทั้งทางทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อที่จะสนับสนุนวิสัยทัศน์ร่วมและความสอดประสานในการทำงานด้านการคุ้มครองข้อมูลร่วมกัน รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลของภาครัฐจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย
________________________________
1ภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก (Indo - Pacific) เป็นพื้นที่ที่รวมภูมิภาคต่างๆ ของสองน่านน้ำมหาสมุทร ได้แก่ “มหาสมุทรอินเดีย” และ “มหาสมุทรแปซิฟิก” จึงทำให้มีพื้นที่หลายภาคส่วนของภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ เอเชียตะวันออก [สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศมองโกเลีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สาธารณรัฐไต้หวัน] เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย เนการาบรูไน ดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐอินโดนีเชีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต) เอเชียใต้ (สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปตยศรีลังกา สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล ราชอาณาจักรภูฏาน สาธารณรัฐมัลดีฟส์) เครือรัฐออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 14 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6392