ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนเมษายน 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 08 June 2022 23:22
- Hits: 5211
ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนเมษายน 2565
นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนเมษายน 2565 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
1.1 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติผ่านการจัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อน การบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ สศช. ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “จัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถจัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างเป็นรูปธรรมและให้ผู้เข้าร่วมประชุมเป็น “ครู ก” ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานได้ รวมทั้งสามารถพัฒนาและจัดทำข้อเสนอโครงการฯ ให้เกิดการขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างแท้จริง
1.2 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติผ่านแผนระดับที่ 3 ในการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่า หน่วยงานของรัฐยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลักการจัดทำแผนปฏิบัติการด้าน... โดยหลักการในการมีแผนปฏิบัติการด้าน...ให้มีเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้นซึ่งอาจมีตามที่กฎหมายกำหนดหรือมีตามความจำเป็นที่ไม่ใช่เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานภายในกระทรวงเดียวกันเท่านั้น ทำให้การเสนอแผนปฏิบัติการด้าน...เข้าสู่กระบวนการพิจารณากลั่นกรองมีจำนวนมาก ทั้งนี้ ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติ (4 ธันวาคม 2560)1 เกี่ยวกับการจัดทำแผนระดับที่ 3 จนถึงเดือนมีนาคม 2565 มีการเสนอแผนระดับที่ 3 จำนวน 137 แผน โดยมีสถานะในการดำเนินการ ดังนี้ (1) แผนฯ ซึ่งผ่านกระบวนการพิจารณาและรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้วและยังมีผลบังคับใช้อยู่ 72 แผน (2) แผนฯ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณากลั่นกรองของ สศช. 28 แผน (3) แผนฯ ที่ยกเลิกการดำเนินการ/สิ้นสุดการดำเนินการ 31 แผน และ (4) แผนฯ ที่ผ่านกระบวนการพิจารณาของ สศช. และอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี 6 แผน เช่น 1) (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทยระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2565-2570) 2) แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564-2570 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566-2570 และ 3) (ร่าง) แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2564-2565
1.3 ความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบแฟ้ม บ้านพัฒนาคนไทย (Logbook) ให้เป็นเครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลครัวเรือนและข้อมูลบุคคลเพื่อการพัฒนาแต่ละช่วงวัยในพื้นที่ ทั้งนี้ ข้อมูลการพัฒนาคนทุกช่วงวัยดังกล่าวเป็นข้อมูลสำคัญในการคำนวณและกำหนดดัชนีการพัฒนาคนหลากหลายมิติในระดับประเทศและพื้นที่ กำหนดเกณฑ์ของขั้นการพัฒนา (อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน) รวมทั้งเป็นข้อมูลสนับสนุน ศจพ. ในระดับต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อนำไปกำหนดและชี้ประเด็นการพัฒนาแบบพุ่งเป้าไปยังกลุ่มเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยได้อย่างยั่งยืน
2. ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ (รอบตุลาคม-ธันวาคม 2564) มีกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ที่ดำเนินการล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock ที่กำหนดไว้ 7 กิจกรรม ได้แก่
ด้าน |
กิจกรรม |
|
(1) การเมือง |
• สร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ • ปรับปรุงโครงสร้างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป |
|
(2) กฎหมาย |
• จัดให้มีกลไกทางกฎหมายเพื่อให้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนโทษทางอาญาที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงให้เป็นโทษปรับเป็นพินัยเพื่อลดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน • จัดทำประมวลกฎหมายเพื่อรวบรวมกฎหมายเรื่องเดียวกันไว้ด้วยกันเพื่อความสะดวกในการใช้งาน |
|
(3) กระบวนการยุติธรรม |
จัดหาทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจให้ครบทุกสถานีทั่วประเทศ |
|
(4) การป้องกันและปราบปราม การทุจริตและประพฤติมิชอบ |
พัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริต ที่มีประสิทธิภาพ |
|
(5) การศึกษา |
การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและระบบอื่นๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ นำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน |
3. การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติพัฒนาระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ให้สามารถแสดงผลข้อมูลสถิติ สถานการณ์ และงานวิจัย โดยได้พัฒนาระบบจัดการคุณภาพข้อมูลเปิดบนฐานข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อสนับสนุนการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน ตามยุทธศาสตร์ชาติ (Open-D) เพื่อให้สะดวกต่อการนำเข้าและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลรวมถึงพัฒนาหน้าแสดงผลให้มีรูปแบบที่เข้าใจง่าย ซึ่งจะทำหน่วยงานของรัฐมีข้อมูลเชิงประจักษ์ประกอบการวิเคราะห์จัดทำโครงการ/ การดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับต่างๆ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
4. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติในเรื่องที่เกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูปและผลิตภัณฑ์ และการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของเศรษฐกิจฐานรากและคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการได้เสนอประเด็นการตรวจสอบและประเมินผลตามห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทย 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านเศรษฐกิจ (2) ด้านสังคม (3) ด้านการพัฒนาศักยภาพคน และ (4) ด้านการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งผู้ตรวจราชการที่เกี่ยวข้องต้องใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนการตรวจราชการและแผนการตรวจสอบและประเมินผลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันและเป็นไปตามห้วงเวลาของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น จึงต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่องตามหลักการบริหารงานคุณภาพ โดยใช้ระบบ eMENSCR เป็นเครื่องมือกลางในการดำเนินการเพื่อให้สามารถรายงานตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงเพื่อส่งสัญญาณเตือนได้ทันทีในกรณีที่พบความเสี่ยงหรือมีข้อเสนอแนะ/แนวทางแก้ไขที่จำเป็นเร่งด่วน
1คณะรัฐมนตรีมีมติ (4 ธ.ค 60) เห็นชอบการจำแนกแผนออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย แผนระดับที่ 1 แผนระดับที่ 2 และแผนระดับที่ 3 โดยในการเสนอแผนระดับที่ 3 ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเสนอแผนระตับที่ 3 ไปยัง สศช. เพื่อพิจารณากลั่นกรองตามขั้นตอนที่ สศช. เสนอ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6216