WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2565

GOV8

รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2565

        คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2565 (เดือนมกราคม - มีนาคม 2565) ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (5 พฤษภาคม 2563) ที่ให้ กนง. ประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของประเทศและรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายไตรมาส] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

        1. การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2565

        กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2565 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่วนมาตรการคว่ำบาตรสหพันธรัฐรัสเซียจะไม่กระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม รวมทั้งโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สายพันธุ์โอไมครอนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยกว่าระลอกก่อนหน้า โดย กนง. ประเมินว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อมาจากความผันผวนของราคาสินค้าในระยะสั้นจึงสามารถมองผ่านได้ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ กนง. เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2565 จะปรับสูงขึ้นเกินกรอบเป้าหมาย จากราคาพลังงานและต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก โดยจะทยอยลดลงและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566

        2. การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงิน

             2.1 เศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.6 และ 3.2 ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ซึ่งขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับสูงขึ้น รวมทั้งกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและห่วงโซ่อุปทานโลกโดยเฉพาะสินค้าที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกหลัก ส่วนอัตราเงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นส่งผลให้ธนาคารกลางกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักเริ่มดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ด้านเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีความเสี่ยงมากขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่อาจรุนแรงและยืดเยื้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยในด้านอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์

             2.2 ภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายแต่ตึงตัวขึ้นจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำทั้งในตลาดสินเชื่อและตลาดตราสารหนี้แต่สามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายควบคู่กับมาตรการทางการเงินและสินเชื่อ ทั้งนี้ คาดว่าภาคธุรกิจจะยังระดมทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวก่อนที่จะปรับอ่อนค่าลงหลังเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่วนระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพแต่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเปราะบางขึ้นในบางกลุ่มจากผลกระทบของโควิด-19 ค่าครองชีพ และต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งสะท้อนจากสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ของครัวเรือนและธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงควรผลักดันการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว

 

ais 720x100

PTG 720x100

 

             2.3 แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย

                    2.3.1 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.2 ในปี 2565 ซึ่งลดลงจากประมาณการเดิมเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัวจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น ส่วนปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.4

                    2.3.2 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 7 โดยสูงกว่าประมาณการเดิมจากด้านราคาเป็นสำคัญโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ขณะที่ด้านปริมาณขยายตัวเนื่องจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่คลี่คลายลงทำให้สามารถทำการผลิตเพื่อส่งออกได้เพิ่มขึ้น และในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.5 ตามปริมาณการส่งออกสินค้าที่ขยายตัว

                    2.3.3 ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 อยู่ที่ 5.6 ล้านคนตามประมาณการเดิม แม้ว่าในไตรมาสแรกของปีจะมีนักท่องเที่ยวมากกว่าที่คาดการณ์ แต่ในช่วงที่เหลือของปีอาจจะได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียลดลงกว่าที่คาดการณ์ และในปี 2566 ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 19 ล้านคน ปรับลดลงจากประมาณการเดิม เนื่องจากนักท่องเที่ยวรัสเซียอาจไม่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้

                    2.3.4 การบริโภคภาคเอกชนปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและแรงสนับสนุนของมาตรการภาครัฐ แต่ชะลอลงจากประมาณการเดิมเนื่องจากต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้นหลังปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์และการกระตุ้นมาตรการภาครัฐที่ลดลง ทั้งนี้ ในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่คลี่คลาย ซึ่งจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นและส่งผลให้รายได้และกำลังซื้อของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นตาม

                    2.3.5 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.9 และ 1.7 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงกว่าร้อยละ 5 ในช่วงไตรมาสที่ 2 (เดือนเมษายน - มิถุนายน) และ 3 (เดือนกรกฎาคม - กันยายน) ก่อนที่จะปรับลดลงในช่วงหลังของปี 2565 และกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566 ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2565 เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ต่ำและมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐในปี 2564 ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเทียบปีต่อปีสูงขึ้นแม้ว่าระดับราคาไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 มิถุนายน 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A6211

 Click Donate Support Web

วิริยะ 720x100

EXIM One 720x90 C J

aia 720 x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!