รายงานความคืบหน้าแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 - 2570)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 08 June 2022 22:57
- Hits: 4223
รายงานความคืบหน้าแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 - 2570)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอรายงานความคืบหน้าแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 - 2570) ดังนี้
1. แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 - 2570) ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ
2. แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในระยะต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
อก. ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ และแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในระยะต่อไป สรุปได้ ดังนี้
1. ความคืบหน้าการดำเนินงานที่สำคัญในปีงบประมาณ 2564
1.1 มาตรการที่ 1 : สร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ มีการดำเนินงาน ดังนี้
การดำเนินงาน |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
|
(1) พัฒนายกระดับผู้ประกอบการ สถานประกอบการ และวิสาหกิจชุมชน โดยอบรมและให้คำปรึกษาในด้านการเพิ่มผลิตภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากลและมาตรฐานฮาลาล ถ่ายทอดความรู้เชิงธุรกิจและนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต เช่น 1) การยกระดับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) สู่สากล 2) การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และ 3) การแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน |
อก. (กรมส่งเสิรมอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด) |
|
(2) พัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนผ่านการอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน รวม 10,712 ราย ประกอบด้วย 1) การพัฒนาเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 7,800 ราย 2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์แปรรูป 1,670 ราย 3) การพัฒนาด้านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ 1,152 ราย และ 4) การพัฒนาด้านปศุสัตว์อินทรีย์ 90 ราย |
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) |
|
(3) สนับสนุนผู้ประกอบการอาหารให้มีการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกพัฒนากระบวนการผลิตและปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ จำนวน 390 ราย เช่น การสนับสนุนผู้ประกอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสมุนไพร |
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) |
|
(4) ส่งเสริมการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต 34 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 2,393 ล้านบาท และกิจการโรงงานผลิตพืช 8 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 756 ล้านบาท |
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) |
|
(5) ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่/กิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ เช่น การให้คำปรึกษาในการปรับปรุงการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ 1,092 ราย |
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) |
|
(6) พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs แก่ลูกค้าและผู้ประกอบการทั่วไป 2,210 ราย |
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย |
1.2 มาตรการที่ 2 : สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต มีการดำเนินงาน ดังนี้
การดำเนินงาน |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
|
(1) เชื่อมโยงกลไกและการให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาผ่านเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เช่น เสริมสร้างความสามารถในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ 651 ราย และพัฒนากระบวนการผลิต/ผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอาหาร 15 ราย สร้างนักวิจัยให้สามารถผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูง เช่น การวิจัยและพัฒนาสารสกัดที่มีฤทธิ์ต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสำหรับผู้สูงอายุ และจัดให้มีศูนย์บริหารด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารให้บริการครบวงจร เช่น การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวไรซ์เบอรี่ |
อว. |
|
(2) จัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนาให้มีคุณภาพมาตรฐานโดยมีผู้ประกอบการ OTOP ประเภทกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 791 ราย/กลุ่ม เข้าร่วมโครงการ ทำให้เกิดการนำความรู้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานและตรงกับความต้องการของตลาด |
กระทรวงมหาดไทย |
|
(3) ส่งเสริมการลงทุนกิจการวิจัยและพัฒนาด้านอาหาร 4 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 59 ล้านบาท โดยได้ส่งเสริมมาตรการเพิ่มเติมสิทธิและประโยชน์ตามคุณค่าของโครงการที่เกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์ 1 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 80.38 ล้านบาท และกิจการวิจัยและพัฒนาด้านอาหารที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมหรือ เขตอุตสาหกรรมด้านนวัตกรรมอาหาร 1 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 1 ล้านบาท |
สกท. |
1.3 มาตรการที่ 3 : สร้างโอกาสทางธุรกิจ มีการดำเนินงาน ดังนี้
การดำเนินงาน |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
|
(1) จัดงานแสดงสินค้าระดับโลกในไทย ได้แก่ งานแสดงสินค้าอาหารเสมือนจริง THAIFLEX-Virtual Trade Show ผ่านทาง www.thaiflex-vts.com ระหว่างวันที่ 25 -29 พฤษภาคม 2564 และระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 3 ตุลาคม 2564 มีมูลค่าการสั่งซื้อรวมประมาณ 3,122 ล้านบาท |
กระทรวงพาณิชย์ |
|
(2) ส่งเสริมการลงทุนกิจการอุตสาหกรรมแปรรูปที่เป็น SMEs 6 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 322 ล้านบาท |
สกท. |
|
(3) จัดทำและปรับปรุงฐานข้อมูล SMEs ประเทศไทย และเชื่อมโยงข้อมูลเข้าระบบ SMEs Big Data เช่น ข้อมูล SMEs ข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก และข้อมูลด้านการเงิน |
สสว. |
1.4 มาตรการที่ 4 : สร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม มีการดำเนินงาน ดังนี้
การดำเนินงาน |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
|
(1) จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหาร 14 เรื่อง เช่น สุรากลั่น เบียร์ และไขมันและน้ำมันจากสัตว์และพืช |
อก. (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) |
|
(2) จัดทำโครงการสร้างนวัตกรรมเพื่อการผลิตอ้อยพันธุ์ดีและส่งเสริมอ้อยพันธุ์ใหม่ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกในแต่ละภูมิภาคและลดระยะเวลาขั้นตอนในกระบวนการปรับปรุงพันธุ์อ้อยจาก 10-12 ปี เหลือ 6-8 ปี ทั้งนี้ ได้แจกจ่ายอ้อยพันธุ์ดีปลอดโรคให้แก่เกษตรกรประมาณ 1.8 ล้านต้นกล้า |
อก. (สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) |
|
(3) ยกระดับความปลอดภัยอาหารผ่านงานบริการต่างๆ เช่น 1) บริการตรวจสอบและรับรองระบบคุณภาพ 2) บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้านความปลอดภัยอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ และ 3) บริการทดสอบความชำนาญ |
อก. (สถาบันอาหาร) |
|
(4) จัดทำโครงการต่างๆ เช่น 1) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) โดยถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกร 3,807 ราย และ 2) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ 179 แปลง |
กษ. |
|
(5) จัดทำโครงการเตรียมความพร้อม Smart Farmer ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้ลูกค้าเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร 10,000 ราย |
กระทรวงการคลัง (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) |
|
(6) จัดทำโครงการพัฒนาฝีมือเพื่อเพิ่มทักษะแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปด้านต่างๆ เช่น 1) ด้านนานาชาติเพื่อการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 2) ด้านการเพิ่มศักยภาพฝีมือและสมรรถนะแรงงาน และ 3) ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพพื้นที่จังหวัด โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม 4,767 คน |
กระทรวงแรงงาน (กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน) |
|
(7) ส่งเสริมการลงทุนกิจการกลุ่มนักลงทุนและธุรกิจ Startup ที่ให้บริการระบบเกษตรสมัยใหม่ มีผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 37 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 12,095 ล้านบาท และส่งเสริมกิจการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและกิจการผลิตหรือถนอมอาหาร |
สกท. |
|
(8) จัดทำโครงการสนับสนุนคลัสเตอร์ SME เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการ SMEs ในรูปแบบคลัสเตอร์อาหาร 6 คลัสเตอร์ ซึ่งมีผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ได้รับความรู้ 852 ราย |
สสว. |
2. ปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
2.1 รูปแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารอนาคตยังเป็นสินค้าแปรรูปขั้นต้นซึ่งมีมูลค่าเพิ่มต่ำ แม้ว่ามีการผลักดันจากภาครัฐในเบื้องต้นแล้วแต่ยังมีสินค้าออกสู่ตลาดไม่มาก เนื่องจากสินค้าเดิมยังขายได้ดีและไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์ใหม่
2.2 การส่งเสริมการลงทุนในกิจการวิจัยและพัฒนา ผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งโรงงานเดิม และในส่วนของผู้ขอรับการส่งเสริมในนามบุคคลธรรมดาหรือบริษัทจัดตั้งใหม่จะมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ ซึ่งหากมีการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ พื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารอาจไม่สามารถรองรับได้ อีกทั้งพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารตั้งอยู่ในสถาบันศึกษาซึ่งห่างไกลจากบริเวณที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม
2.3 ผู้ประกอบการบางรายยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และการตระหนักถึงความสำคัญของการได้รับการรับรองมาตรฐานสากลต่างๆ ประกอบกับผู้ประกอบการบางรายที่เป็น SMEs/OTOP ประสบปัญหาการขาดเงินทุนในการพัฒนา/ปรับปรุงสถานประกอบการให้ได้การรับรองตามมาตรฐาน ข้อกำหนด และระเบียบของประเทศคู่ค้า ส่งผลให้ไม่สามารถส่งออกสินค้าได้
2.4 ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตและต้นทุนด้านพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับขาดแคลนแรงงานในสายการผลิตจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ผู้ประกอบการ บางรายต้องปิดกิจการ
3. การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในระยะต่อไป จะใช้กลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ดังนี้
3.1 พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารอนาคต เช่น อาหารเสริมสุขภาพ อาหารทางการแพทย์ และอาหารอินทรีย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในประเทศ และเป็นการมุ่งเน้นการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร
3.2 พัฒนาผู้ประกอบการ โดยมุ่งเน้นเรื่องระบบการตรวจสอบย้อนกลับในกระบวนการผลิตอาหารถึงแหล่งที่มาเพื่อสร้างความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับบริโภค
3.3 พัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานให้มีทักษะและมาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาดและสามารถรองรับความท้าทายจากผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีได้
3.4 ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) การวิเคราะห์ข้อมูลแบบอัตโนมัติ มาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างครบวงจร
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6210