(ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 08 June 2022 22:35
- Hits: 4352
(ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
สมช. รายงานว่า โดยที่มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 บัญญัติให้เพื่อประโยชน์ในการธำรงซึ่งความมั่นคงแห่งชาติ ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติขึ้นตามข้อเสนอแนะของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประกอบกับนโยบายและแผนระดับชาติฯ (พ.ศ. 2562-2565) กำลังจะหมดห้วงการบังคับใช้ สมช. จึงได้ดำเนินการจัดทำ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติฯ (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อเป็นกรอบทิศทางในการดำเนินการป้องกัน แจ้งเตือน แก้ไข หรือระงับยับยั้งภัยคุกคามเพื่อธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งชาติ โดยให้หน่วยงานของรัฐนำไปถ่ายทอดและจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่จะเริ่มดำเนินการพร้อมกันในห้วงที่ 2 ของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ระหว่าง พ.ศ. 2566-2570 ได้อย่างสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งเผยแพร่ให้ทุกภาคส่วนเสนอมุมมองข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ในการปรับปรุง (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติฯ (พ.ศ. 2566-2570) ให้มีความสมบูรณ์และครบถ้วนมากขึ้น ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ซึ่งในการดำเนินการจัดทำ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติฯ (พ.ศ. 2566-2570) ได้ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งในรูปแบบการประชุม การสัมภาษณ์เชิงลึก การสัมมนาวิชาการการจัดส่งข้อคิดเห็นและการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ทางเว็บไซต์ของ สมช. อันนำมาสู่การจัดทำข้อมูลประกอบการจัดทำ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติฯ (พ.ศ. 2566-2570) ทั้งนี้ ในการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) ได้มีมติรับทราบ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติฯ (พ.ศ. 2566-2570) และให้ สมช. เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
เรื่อง |
สาระสำคัญ |
(1) หลักการและเหตุผล |
สถานการณ์ความผันผวนและวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญโดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงรูปแบบภัยคุกคามจะมีความหลากหลายและผสมผสาน และปัญหาข้ามพรมแดนจะมีความเกี่ยวพันซับซ้อนมากขึ้นจึงจำเป็นต้องมีกรอบทิศทางของประเทศในห้วง 5 ปีข้างหน้า โดยมีวิสัยทัศน์ คือ “ประเทศชาติมีเสถียรภาพ ประชาชนอยู่ดีสุข ปลอดภัยจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ มีศักยภาพบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม และรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติอย่างยั่งยืน” |
(2) ความสำคัญ |
การกำหนดนโยบายและแผนการขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงให้สอดคล้องในทิศทางเดียวกัน โดยมุ่งเน้นการระบุทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาประเทศเฉพาะประเด็นปัญหาความมั่นคงสำคัญที่มีผลกระทบและความเสี่ยงสูง และเสริมสร้างแนวทางการพัฒนาศักยภาพความมั่นคงของประเทศ เพื่อขยายผลกรอบแนวคิดความมั่นคงแบบองค์รวม รวมถึงการกำหนดจุดเน้นและแนวทางสำคัญเชิงลึกของเป้าหมาย ตัวชี้วัด และกลยุทธ์ให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับการเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศไปสู่เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” |
(3) เค้าโครงและสาระสำคัญ |
(3.1) ความสำคัญและสถานะของนโยบายและแผนระดับชาติฯ (พ.ศ. 2566-2570) ให้ความสำคัญกับบริบทความมั่นคงของไทย มีเป้าหมายสูงสุดในการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติ มีการวิเคราะห์ผลการดำเนินการในห้วงที่ผ่านมา หลักการ สถานะ และความสำคัญของการจัดทำนโยบายและแผนดังกล่าว (3.2) สถานการณ์ ผลกระทบ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงบริบทความมั่นคงในระยะ 5 ปี ได้แก่ 1) ความสำคัญของภูมิยุทธศาสตร์ ภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิเศรษฐศาสตร์ไทยที่ส่งผลต่อความมั่นคงแห่งชาติ 2) การประเมินขีดความสามารถของประเทศเพื่อเสริมสร้างกำลังอำนาจของชาติ และ 3) ความเปลี่ยนแปลงของบริบทความมั่นคงในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับภายในประเทศ (3.3) วิสัยทัศน์ กรอบแนวคิด วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย คือ “ประเทศชาติมีเสถียรภาพ ประชาชนอยู่ดีมีสุข ปลอดภัยจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ มีศักยภาพ บริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม และรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติอย่างยั่งยืน” โดยเชื่อมโยงกรอบแนวคิด การน้อมนำพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ความมั่นคงแบบองค์รวม การพัฒนาอย่างยั่งยืน การบูรณาการเพื่อส่งเสริมความร่วมมือของทุกภาคส่วน การบริหารจัดการความเสี่ยงและการพลิกฟื้นเพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขภัยคุกคาม และมีการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพความมั่นคงของประเทศ (3.4) นโยบายและแผนความมั่นคง ประกอบด้วย 17 นโยบายและแผนความมั่นคง สรุปได้ ดังนี้ (3.4.1) หมวดประเด็นความมั่นคง เป็นประเด็นภัยคุกคามที่มีผลกระทบและแนวโน้มความเสี่ยงสูงต่อความมั่นคงแห่งชาติและผลประโยชน์แห่งชาติ รวม 13 นโยบาย และแผนความมั่นคง ดังนี้ 1) การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1.1) การป้องกันและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น พัฒนาหลักสูตรหรือการเรียนรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งในและนอกชั้นเรียน และจัดทำและเผยแพร่ชุดข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 1.2) การส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของคนในชาติอย่างสันติและเคารพในความแตกต่างหลากหลายบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน เช่น ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการความหลากหลายของคนในชาติบนพื้นฐานของความเสมอภาค ความเท่าเทียมกัน และการไม่เลือกปฏิบัติ และ 1.3) การให้ความสำคัญกับทุกศาสนา ผู้ที่มีหลักความเชื่อต่างๆ และผู้ที่ไม่นับถือศาสนา 2) การปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ และการพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ ประกอบด้วย 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 2.1) การป้องกันอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเลและทางอากาศ เช่น จัดให้มีระบบการข่าว การลาดตระเวน การเฝ้าตรวจ ป้องกัน และรักษาพื้นที่ และปรับปรุงและพัฒนาแผนระบบป้องกันประเทศ และ 2.2) การพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ เช่น เตรียมกำลังเชิงยุทธศาสตร์ และพัฒนากองทัพไปสู่ความทันสมัย 3) การรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติพื้นที่ชายแดน ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ หลัก ได้แก่ 3.1) การสร้างสภาพแวดล้อมในพื้นที่ชายแดนให้มีความปลอดภัยและมีศักยภาพในการป้องกันและแก้ไขภัยคุกคาม เช่น สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนชายแดนไทยและประเทศรอบบ้าน และจัดทำระบบป้องกันพื้นที่ชายแดนของจังหวัดชายแดน 3.2) การยกระดับและพัฒนาจุดผ่านแดนให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันภัยคุกคามและเชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้า และการสัญจรชายแดน เช่น พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานบริเวณพื้นที่ทางธรรมชาติหรือจุดผ่านแดนประเภทต่างๆ และพัฒนาระบบการสัญจรข้ามแดน และ 3.3) การแก้ไขปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับประเทศรอบบ้าน โดยให้สมดุลระหว่างผลประโยชน์แห่งชาติและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 4) การรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 4.1) การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับการดำเนินการด้านความมั่นคงทางทะเล เช่น ป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางทะเล และเสริมสร้าง และใช้ประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับประเด็นทางทะเล 4.2) การเสริมสร้างการใช้ประโยชน์ทางทะเลอย่างสมดุลและยั่งยืนภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน เช่น ส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทางทะเลอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และ 4.3) การบริหารจัดการองค์ความรู้ทางทะเลและการสร้างความตระหนักรู้ความสำคัญของทะเล 5) การป้องกันและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 5.1) การเสริมสร้างความปลอดภัยและขจัดเงื่อนไขความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเสริมสร้างขีดความสามารถในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5.2) การยกระดับการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทของพื้นที่ โดยยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของประชาชน และความเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ 5.3) การสร้างความเข้มแข็งของสังคมในพื้นที่ โดยพัฒนาการอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการลดเงื่อนไขความหวาดระแวงและรื้อฟื้นความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน และ 5.4) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของภาครัฐและการประสานความร่วมมือกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6) การบริหารจัดการผู้หลบหนีเข้าเมือง ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 6.1) การป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองกลุ่มที่มีปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล เช่น เร่งรัดการจัดทำสถานะบุคคลให้แก่ผู้ที่มีสถานะและสิทธิ และทบทวน ปรับปรุง และพัฒนากฎหมายที่มีอยู่ 6.2) การป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองกลุ่มแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และ 6.3) การป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองกลุ่มเปราะบางต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และกลุ่มอื่นๆ ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น เพิ่มความเข้มข้นในการสกัดกั้นและป้องกันการหลบหนีเข้าเมืองเป็นพิเศษ และจัดระบบการตรวจสอบและติดตามความเคลื่อนไหวของผู้หลบหนีเข้าเมือง 7) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ประกอบด้วย 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 7.1) การยกระดับความเชื่อมั่นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับสากล เช่น เร่งรัดการบริหารจัดการคดีค้ามนุษย์ และเสริมสร้างความเข้าใจ การรับรู้ และบูรณาการความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทยแก่นานาประเทศ และ 7.2) การพัฒนาขีดความสามารถและสมรรถนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เช่น จัดทำ ปรับปรุง และพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมและพัฒนาการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ 8) การป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 8.1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งในปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้มีภูมิคุ้มกันและสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างพื้นที่ปลอดภัยและลดความต้องการยาเสพติด 8.2) การลดอุปทานยาเสพติดและปราบปรามเครือข่ายยาเสพติด/องค์กรอาชญากรรม เช่น สกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติดตั้งแต่พื้นที่ชายแดนไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ตอนในของประเทศและพัฒนาเทคโนโลยีและฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง 8.3) การสร้างความสมดุลบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชนในการบำบัด ฟื้นฟู และการผนวกสู่สังคมได้อย่างปกติสุข และ 8.4) การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด 9) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกอบด้วย 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 9.1) การลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพ เช่น พัฒนามาตรการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยที่เกิดซ้ำซากและเป็นภัยซ้ำซ้อน และพัฒนาแหล่งข้อมูลความเสี่ยงสาธารณภัยแห่งชาติ และ 9.2) การจัดการสาธารณภัยให้มีมาตรฐานตามหลักสากล เช่น เสริมสร้างการจัดการในภาวะฉุกเฉินแบบบูรณาการให้เป็นไปตามมาตรฐานในการปฏิบัติในภาวะฉุกเฉินและพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 10) การป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์ ประกอบด้วย 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 10.1) การป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่กระทบต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ เช่น เสริมสร้างศักยภาพของกลไกและหน่วยงานระดับชาติ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี และ 10.2) การเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ไซเบอร์เป็นช่องทางในการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ 11) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย ประกอบด้วย 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 11.1) การป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันในการรับมือกับภัยก่อการร้าย เช่น แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และข่าวกรองด้านการก่อการร้ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และป้องกันการเดินทางผ่านเข้าและออกของนักรบก่อการร้ายต่างชาติ และ 11.2) การเสริมสร้างการตอบโต้เหตุวิกฤตการก่อการร้าย เช่น พัฒนากลไกการรับมือขณะเกิดเหตุก่อการร้ายให้เป็นเอกภาพ และพัฒนาระบบแจ้งเตือนการสื่อสาร และการประชาสัมพันธ์ต่อเหตุววิกฤตจากการก่อการร้าย 12) การสร้างดุลยภาพระหว่างประเทศ ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 12.1) การรักษาดุลยภาพระหว่างประเทศสำคัญทางยุทธศาสตร์ เช่น ทบทวนและกำหนดแนวทางท่าทีของไทยต่อประเทศมหาอำนาจ และกลุ่มประเทศที่มีบทบาทสำคัญทางยุทธศาสตร์และรักษาความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับประเทศสำคัญทางยุทธศาสตร์ 12.2) การเสริมสร้างบทบาทของไทยในประชาคมการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน 12.3) การส่งเสริมความเข้าใจและพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศรอบบ้านและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และ 12.4) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ขยายอาวุธทำลายล้างสูง 13) การบริหารจัดการความเสี่ยงโรคติดต่ออุบัติใหม่ ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 13.1) การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงโรคติดต่ออุบัติใหม่ทั้งในภาวะปกติและภาวะไม่ปกติ เช่น พัฒนาระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยโรคติดต่ออุบัติใหม่ และพัฒนาระบบการสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ 13.2) การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ และ 13.3) การส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงโรคติดต่ออุบัติใหม่ [หน่วยงานรับผิดชอบหลัก ได้แก่ กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข สมช. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล] (3.4.2) หมวดประเด็นศักยภาพความมั่นคง โดยเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนา ขีดความสามารถของประเทศในการป้องกันและแก้ไขประเด็นความมั่นคงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวม 4 นโยบาย ดังนี้ 1) การพัฒนาศักยภาพการเตรียมพร้อมแห่งชาติ และการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1.1) การเสริมสร้างศักยภาพการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับภัยคุกคาม และวิกฤตการณ์ระดับชาติ เช่น ทบทวนและพัฒนากลไกการบริหารจัดการทั้งในระดับนโยบาย ระดับอำนวยการ และระดับปฏิบัติการ และส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศในระดับทวิภาคีและพหุภาคี 1.2) การจัดการทรัพยากรเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับภัยคุกคามทุกรูปแบบ และ 1.3) การพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ระดับชาติ เช่น กำหนด ทบทวน และพัฒนาหลักเกณฑ์หรือแนวทางการวิเคราะห์และประเมินระดับความรุนแรงของภัยคุกคาม และยกระดับการบูรณาการสำหรับการบริหารจัดการภัยคุกคามในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 2) การพัฒนาระบบข่าวกรองแห่งชาติ ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 2.1) การพัฒนาการประเมินสถานการณ์ความมั่นคงเชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาว 2.2) การพัฒนาและขยายเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นนอกภาครัฐให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้านการข่าวกรอง และ 2.3) การเชื่อมโยง บูรณาการ และแจ้งเตือนข้อมูลด้านการข่าวเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการข่าว และพัฒนาระบบ กลไกการเชื่อมโยง และ การบูรณาการข้อมูลด้านการข่าว 3) การบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคง ประกอบด้วย 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 3.1) การเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคงเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย และ 3.2) การพัฒนากลไกการบริหารจัดการบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคง เช่น จัดทำแผนหรือแนวทางการขับเคลื่อนการบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคง และจัดทำธรรมภิบาลข้อมูลและรักษาข้อมูลให้มีความมั่นคงปลอดภัย 4) การเสริมสร้างความมั่นคงเชิงพื้นที่ ประกอบด้วย 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 4.1) การป้องกันและแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่เป้าหมายให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เช่น ส่งเสริมการป้องกัน แก้ไข และพัฒนาพื้นที่เป้าหมายที่มีความสอดคล้องกับบริบทความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ และ 4.2) การบริหารจัดการความมั่นคงเชิงพื้นที่และพัฒนาเครือข่ายการเสริมสร้างความมั่นคงเชิงรุกในระดับพื้นที่ภาครัฐและนอกภาครัฐ [หน่วยงานรับผิดชอบหลัก ได้แก่ สมช. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) กอ.รมน.] (3.5) การขับเคลื่อนและติดตามประเมินผล โดยให้มีรายงานความคืบหน้าการดำเนินการรอบ 6 เดือน และรายงานสรุปผลสัมฤทธิ์การดำเนินการประจำปี เพื่อรายงานผลให้สภาความมั่นคงแห่งชาติรับทราบในภาพรวม |
ทั้งนี้ สมช. จะปรับปรุงและพัฒนา (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติฯ (พ.ศ. 2566-2570) ตามความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในภาพรวมต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6208