ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 08 June 2022 22:21
- Hits: 4129
ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2565 รวม 62 วัน (ห้วงที่ 3 - 4)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในวงเงิน 168.28 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ตช. ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2564 - 31 มกราคม 2565 รวม 62 วัน หรือจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะยุติลง ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ตช. รายงานว่า
1. ตช. ได้ปฏิบัติภารกิจสนับสนุนภารกิจของรัฐบาล ตามที่ได้รับการสั่งการจากหน่วยบังคับบัญชา และได้มีการประสานงานขอความร่วมมือจากส่วนราชการหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในภารกิจแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งถึงแม้ในห้วงเวลาที่ผ่านมาสถานการณ์ดังกล่าวจะมีแนวโน้มดีขึ้นจากการที่สามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้อย่างต่อเนื่องและเป็นไปตามเป้าหมาย อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้กลับมาแพร่ระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้งจากสายพันธุ์ โอมิครอนที่ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลต้า ดังนั้น ตช. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องคงไว้ซึ่งมาตรการการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค โดยมีการปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 - 31 มกราคม 2565 รวม 62 วัน (ห้วงที่ 3 - 4) ทั้งนี้ รายละเอียดของภารกิจการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง วงเงิน และอัตรากำลังพลที่ปฏิบัติภารกิจ สรุปได้ ดังนี้
1.1 ภารกิจของฝ่ายอำนวยการ (ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) ทำหน้าที่ออกคำสั่งปฏิบัติ จัดทำแผนปฏิบัติการ ประสานข้อสั่งการ รวบรวมผลการปฏิบัติงาน จัดทำรายงานผลและสถิติข้อมูลการปฏิบัติ เช่น ข้อมูลการตั้งด่านตรวจทุกประเภท ข้อมูลการใช้กำลังพล เป็นต้น
1.2 ภารกิจของฝ่ายปฏิบัติการ ประกอบด้วย
1.2.1 การตั้งด่านตรวจ
(1) จุดตรวจคัดกรองโรค เพื่อตรวจคัดกรองบุคคลที่เดินทางผ่านเข้าออกพื้นที่รับผิดชอบและป้องกันการแพร่ระบาดตลอด 24 ชั่วโมง (วันละ 3 ผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมง)
(2) จุดตรวจพื้นที่ชายแดน เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
(3) จุดตรวจปมคมนาคม (บริเวณพื้นที่รอยต่อตามแนวชายแดน/รอยต่อระหว่างจังหวัด และจุดศูนย์รวมเส้นทางหลายสาย) เพื่อสกัดกั้น ควบคุมเส้นทางที่อาจมีการใช้เป็นเส้นทางลักลอบเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวหรือบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ควบคุมหรือพื้นที่เสี่ยงต่างๆ
1.2.2 การตั้งชุดปฏิบัติการ
(1) ชุดเคลื่อนที่เร็วประจำสถานีตำรวจ จำนวน 1,484 สถานี โดยสนับสนุนการตั้งด่านตรวจตามข้อ 1.2.1 การตรวจสถานประกอบการต่างๆ และป้องกันปราบปรามการรวมกลุ่มหรือการมั่วสุม
(2) ชุดตรวจร่วม ปฏิบัติภารกิจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ ชี้แจง กำกับดูแลการดำเนินกิจการหรือกิจกรรมให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง
(3) ชุดรักษาความปลอดภัยสถานที่กักกันโรคหรือโรงพยาบาลสนาม ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยและรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่สถานที่กักกันโรคหรือโรงพยาบาลสนาม และควบคุมป้องกันไม่ให้มีการลักลอบออกนอกพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต
(4) ชุดรักษาความปลอดภัยพื้นที่ควบคุม (โรงงาน/แคมป์ก่อสร้าง) เป็นชุดควบคุมดูแลตรวจสอบการผ่านเข้าออกเพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักลอบออกนอกพื้นที่ควบคุม
(5) ชุดภารกิจแซนด์บ๊อกซ์ เป็นชุดปฏิบัติการที่ปฏิบัติงานตรวจคัดกรองโรคประจำด่านตรวจทางบก สนามบินนานาชาติจังหวัด ท่าเทียบเรือต่างๆ
(6) ชุดส่งตัวผู้ติดเชื้อไปส่งสถานพยาบาล เป็นชุดสนับสนุน อำนวยความสะดวก รวมถึงรถนำขบวนในการเดินทางไปยังสถานพยาบาลของผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่รับผิดชอบ
(7) ชุดตรวจสถานประกอบกิจการ ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้กับชุมชนเกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล เช่น การห้ามชุมนุม มั่วสุม เป็นต้น
(8) ชุดตรวจอนุญาตเข้าออก เป็นชุดควบคุมดูแลและตรวจสอบการผ่านเข้าออกของบุคคลให้เป็นไปตามแนวทางและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล
1.3 วงเงินและอัตรากำลังพลที่ปฏิบัติภารกิจสรุปได้ ดังนี้
รายการค่าใช้จ่าย |
วงเงิน (ล้านบาท) |
||
ห้วงที่ 3 (31 วัน) 1 – 31 ธันวาคม 2564 |
ห้วงที่ 4 (31 วัน) 1 – 31 มกราคม 2565 |
รวมห้วงที่ 3 - 4 |
|
1. ค่าตอบแทนกำลังพลฝ่ายอำนวยการ |
2.68 |
2.72 |
5.40 |
2. ค่าตอบแทนกำลังพลฝ่ายปฏิบัติการ |
86.30 |
75.93 |
162.23 |
3. ค่าวัสดุน้ำมันเชื้อเพลิง |
0.35 |
0.30 |
0.65 |
รวมวงเงิน |
89.33 |
78.95 |
168.28 |
อัตรากำลังพลสูงสุดต่อวันในแต่ละห้วง (นาย) |
7,147 |
6,351 |
- |
2. ตช. แจ้งว่า การปฏิบัติงานในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง การบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 เป็นภารกิจที่ ตช. ได้รับมอบหมายเพิ่มเติมจากรัฐบาล ซึ่งงบประมาณที่ ตช. ได้รับการจัดสรรตามปกติได้มีการวางแผนการใช้จ่ายไว้แล้ว จึงไม่สามารถปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณได้อีก
3. สำนักงบประมาณ (สงป.) แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบให้ ตช. ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในวงเงิน 168.28 ล้านบาท สำหรับการปฏิบัติงานของ ศปม. (ตช.) ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2564 - 31 มกราคม 2565 รวม 62 วัน (ห้วงที่ 3 - 4)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6206