การขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญา (Final Declaration) สำหรับการประชุมระดับสูงว่าด้วยทศวรรษระหว่างประเทศแห่งการดำเนินการ “น้ำสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ค.ศ. 2018 - 2028 ครั้งที่ 2
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 08 June 2022 21:42
- Hits: 4009
การขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญา (Final Declaration) สำหรับการประชุมระดับสูงว่าด้วยทศวรรษระหว่างประเทศแห่งการดำเนินการ “น้ำสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ค.ศ. 2018 - 2028 ครั้งที่ 2 (The Second High - Level International Conference on the International Decade for Action “Water for Sustainable Development”, 2018 - 2028 หรือ Second Dushanbe Water Action Decade Conference)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างปฏิญญา (Final Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมระดับสูงว่าด้วยทศวรรษระหว่างประเทศแห่งการดำเนินการ “น้ำสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ค.ศ. 2018 - 2028 ครั้งที่ 2 (The Second High - Level International Conference on the International Decade for Action “Water for Sustainable Development”, 2018 - 2028 หรือ Second Dushanbe Water Action Decade Conference) ทั้งนี้ เนื่องจากร่างปฏิญญาฯ ดังกล่าว อาจยังมิใช่ร่างสุดท้าย ดังนั้น หากมีความจำป็นต้องแก้ไขที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในฐานะผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมการประชุมให้การรับรองร่างปฏิญญาฯ ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้งตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. การประชุมระดับสูงว่าด้วยทศวรรษระหว่างประเทศแห่งการดำเนินการ “น้ำสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ค.ศ. 2018 - 2028 ครั้งที่ 2 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 - 9 มิถุนายน 2565 ณ กรุงดูซานเบ สาธารณรัฐทาจิกิสถาน ภายใต้หัวข้อ “Catalyzing water action and partnership at the local, national, regional and global levels” ซึ่งจะมีพิธีเปิดการประชุมในวันที่ 7 มิถุนายน 2565 และรับรองปฏิญญา (Final Declaration) ที่เป็นเอกสารของผลลัพธ์ของการประชุม ในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 โดยร่างปฏิญญาฯ ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ จำนวน 4 ประการ ได้แก่
(1) สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงน้ำที่ปลอดภัยและราคาเหมาะสมสุขาภิบาลและสุขอนามัยที่เพียงพอและเท่าเทียม กำหนดกลยุทธ์ระยะยาวในการป้องกันโรคระบาดที่เพิ่มขึ้นการเตรียมความพร้อม และการตอบสนอง รวมถึงวิกฤตการณ์โควิด - 19 โดยลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดหาน้ำและสุขาภิบาล น้ำเสียและการจัดการของเสีย ส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีด้าน WASH อย่างต่อเนื่อง
(2) ตระหนักถึงความสำคัญของน้ำเพื่อการดำรงชีวิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ส่งเสริมการดำเนินการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครอบคลุม เสริมสร้างความร่วมมือข้ามพรมแดนและการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนผ่านข้อตกลงที่หมาะสมซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคตามความเหมาะสม ตลอดจนส่งเสริมแนวทางความเชื่อมโยงระหว่างน้ำ พลังงาน อาหาร ระบบนิเวศ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อเนื่องภายใต้วิกฤตในทุกระดับ
(3) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างน้ำ สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยพัฒนาหน่วยงานด้านน้ำ นโยบาย และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ปรับปรุงการประสานงานและจัดการกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ที่คำนึงถึงผลกระทบด้านลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพต่อความมั่นคงด้านน้ำ
(4) ส่งเสริมความร่วมมือและหุ้นส่วนระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ในทุกระดับรวมถึงหน่วยงานท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรลุ่มน้ำ นักลงทุน และผู้บริจาค โดยเสริมสร้างการประสานงานและการเชื่อมโยงภายในขอบเขตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 6 (SDG 6) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อื่นๆ ด้วยการส่งเสริมความรับผิดชอบและการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ เทคโนโลยีประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีตามความเหมาะสม เชื่อมโยงการตัดสินใจและนวัตกรรมสู่การปฏิบัติ
โดยพิจารณาให้เร่งรัดการสร้างความมั่นคงด้านน้ำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 6 (SDG 6) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนผ่านการยกระดับนโยบายและการจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ การประชุมด้านน้ำแห่งสหประชาชาติ พ.ศ. 2566 ควรเป็นแรงผลักดัน ตลอดจนการสนับสนุนด้านหน่วยงานและการเงิน เพื่อให้ประเทศต่างๆ บรรลุเป้าหมายนี้ร่วมกัน
2. ร่างปฏิญญาฯ เป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ มีสาระเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมระดับผู้นำในการพัฒนาการบริหารการจัดการและการดำเนินการด้านทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ กอปรกับไม่มีการลงนามในร่างเอกสารดังกล่าว ดังนั้น ร่างปฏิญญาฯ จึงไม่ใช่สนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 มิถุนายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A6200