ร่างกรอบการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย (Partnership and Cooperation Framework Agreement: PCA)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 31 May 2022 19:21
- Hits: 4608
ร่างกรอบการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย (Partnership and Cooperation Framework Agreement: PCA)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกรอบการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรป (European Union - EU) และรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย (ร่างกรอบการเจรจาฯ) (Partnership and Cooperation Framework Agreement: PCA) และให้คณะผู้แทนฝ่ายไทยสามารถใช้ร่างกรอบการเจรจาฯ กำหนดท่าทีในการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่าง EU และรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย (กรอบความตกลงฯ) รวมทั้งรับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการเจรจากรอบความตกลงฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1. เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศ (Foreign Affairs Council: FAC) ได้มีมติให้ EU เพิ่มพูนความสัมพันธ์กับประเทศไทย โดยย้ำถึงการเตรียมการให้มีการลงนามกรอบความตกลงฯ ซึ่งต่อมาฝ่ายไทยและ EU เห็นพ้องที่จะรื้อฟื้นและเริ่มการเจรจารอบใหม่เพื่อปรับปรุง แก้ไข และเพิ่มเติมประเด็นในร่างกรอบความตกลงฯ ฉบับที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามย่อไว้เมื่อปี 2556 เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการระหว่างประเทศและสาขาความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการเตรียมการเจรจาจัดทำกรอบความตกลกดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง
2. กต. ได้จัดการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานภายใน กต. เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นมาอย่างต่อเนื่อง และได้ปรับปรุงร่างกรอบการเจรจาฯ ให้สอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานดังกล่าวแล้ว รวมทั้งได้ประชุมหารือและแลกเปลี่ยนร่างกรอบการเจรจาฯ กับฝ่าย EU จนได้ข้อยุติแล้ว
3. ร่างกรอบการเจรจาฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
วัตถุประสงค์ |
1. กำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างประเทศไทยกับ EU บนพื้นฐานของผลประโยชน์และค่านิยมร่วม 2. ยกระดับความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายให้ใกล้ชิดและครอบคลุมในทุกมิติมากขึ้น 3. ส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและกระแสการพัฒนาของโลก 4. แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดและไว้ใจได้ของ EU ผ่านการยึดถือค่านิยมที่เป็นสากลร่วมกัน เช่น หลักประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม |
เป้าหมายการเจรจา |
1. เจรจาให้ได้ประโยชน์ในภาพรวมสูงสุดกับประเทศไทย โดยให้สาระของกรอบความตกลงฯ สอดคล้องกับกฎหมายภายใน สนธิสัญญาและตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องที่มีผลบังคับใช้กับประเทศไทย รวมถึงพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทย 2. มีขอบเขตความร่วมมือแบบกว้างและยืดหยุ่นเพียงพอสำหรับใช้เป็นกรอบในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างภาคีในอนาคต 3. มีกลไกระงับข้อพิพาทที่เบ็ดเสร็จสมบูรณ์เป็นเอกเทศในตัว โดยการหารือเพื่อทางออกที่เห็นพ้องร่วมกัน และเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ 4. คำนึงถึงระดับการพัฒนา หลักการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน มีภูมิคุ้มกันและความพร้อมอย่างรอบด้านของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกรอบความตกลงฯ 5. ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันนำกรอบความตกลงฯ ไปสู่การปฏิบัติ มีระยะเวลาในการปรับตัวและสามารถจัดเตรียมมาตรการรองรับให้การดำเนินการตามกรอบความตกลงฯ เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
สาระของกรอบความตกลงฯ |
|
ขอบเขตความร่วมมือ |
ประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ร่วมกันและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยจะร่วมมือกันทั้งในระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระดับพหุภาคี ตามแต่จะมีการตกลงกันในแต่ละประเด็น ทั้งนี้ การเจรจาเพื่อปรับเปลี่ยนขอบเขตของประเด็นการเจรจา ถ้อยคำ และสาระให้เหมาะสมนั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบและยินยอมของหน่วยงานเจ้าของเรื่องที่เกี่ยวข้อง |
รูปแบบความร่วมมือ |
1. การจัดตั้งกลไกการหารือในสาขาต่างๆ ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย 2. การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในสาขาต่างๆ 3. การสนับสนุนการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่มีอยู่ของแต่ละฝ่าย 4. ความร่วมมืออื่นๆ ตามที่มีการเจรจาตกลงและระบุในกรอบความตกลงฯ ซึ่งรวมถึงความตกลงหรือพิธีสารเฉพาะอื่นๆ ด้วย เช่น พิธีสารเกี่ยวกับความร่วมมือด้านศุลกากร และความตกลงเกี่ยวกับการรับกลับ (Readmission) |
กลไกการติดตาม |
จัดตั้งคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ระหว่างฝ่ายไทยกับ EU เพื่อทบทวนและพิจารณาการปฏิบัติตามกรอบความตกลงฯ การตีความกรอบความตกลงฯ ตลอดจนกลไกการระงับข้อพิพาทภายใต้ขอบเขตของกรอบความตกลงฯ นอกจากนี้ กลไกนี้จะทดแทนการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงไทย - EU (Thai - European Union Senior Officials’ Meeting) ซึ่งเป็นกลไกการหารือภาพรวมความสัมพันธ์ในรอบปีระหว่างประเทศไทยกับ EU ที่มีอยู่ในปัจจุบัน |
ผู้ประสานงานกลาง (ฝ่ายไทย) |
กต. โดยหารือกับหน่วยงานเจ้าของเรื่องที่เกี่ยวข้อง และมีบทบาทหน้าที่ในการปฏิบัติตามสาขาความร่วมมือกับฝ่าย EU ตามที่ระบุในกรอบความตกลงฯ สำหรับการปฏิบัติตามกรอบความตกลงฯ EU อาจประสานไปยังหน่วยงานเจ้าของเรื่องโดยตรงหรือผ่านวิถีทางการทูต |
ขอบเขตประเด็น ความร่วมมือภายใต้ กรอบความตกลงฯ |
1. การแสดงเจตนารมณ์ของความร่วมมือและหลักการระดับสากลในภาพรวมที่ทั้งสองฝ่ายยึดมั่น เช่น หลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น 2. ความร่วมมือในสาขาความมั่นคง 3. ความร่วมมือระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระดับพหุภาคี ซึ่งรวมถึงองค์การระหว่างประเทศต่างๆ เช่น องค์การสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก เป็นต้น 4. ความร่วมมือในประเด็นการค้าและการลงทุน และนโยบายเศรษฐกิจการคลังอื่นๆ เช่น มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ระบบอาหารที่ยั่งยืน เป็นต้น 5. ความร่วมมือในประเด็นเสรีภาพ ความมั่นคง และการยุติธรรม เช่น ความร่วมมือด้านนิติธรรม (Rule of Law) ความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมพลังสตรี การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว เป็นต้น 6. ความร่วมมือในประเด็นอื่นๆ เช่น สิทธิมนุษยชน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ความมั่นคงทางไซเบอร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น 7. แหล่งที่มาของทรัพยากรเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือ และความร่วมมือด้านการพัฒนาในประเทศที่สาม 8. การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อเป็นกลไกเชิงสถาบันในการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามกรอบความตกลงฯ รวมถึงกลไกระงับข้อพิพาท 9. ประเด็นความร่วมมืออื่นๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันและไม่ขัดกับหลักการและบทบัญญัติกฎหมายของประเทศไทยที่มีอยู่ ตลอดจนพันธกรณีภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศของประเทศไทย |
การระงับข้อพิพาท |
กรณีภาคีไม่ปฏิบัติตามกรอบความตกลงฯ การระงับข้อพิพาทจะกระทำตามหลักสากลตามกฎหมายระหว่างประเทศโดยเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้หารือเพื่อหาทางออกที่เห็นพ้องต้องกันภายใต้กลไกคณะกรรมการร่วมหรือในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความจำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการใดๆ กับภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง มาตรการดังกล่าวจะต้องเหมาะสม พอสมควรแก่เหตุ และกระทบต่อวัตถุประสงค์ในการจัดทำความตกลงนี้น้อยที่สุด |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A51073