การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด สมัยที่ 15 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้า
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 31 May 2022 18:29
- Hits: 4031
การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด สมัยที่ 15 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศสมัยที่ 10 และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน สมัยที่ 10 ในรูปแบบ face-to-face
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคี 3 อนุสัญญาในรูปแบบ face-to-face และเห็นชอบต่อกรอบการเจรจาและท่าทีของประเทศไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคี 3 อนุสัญญาในรูปแบบ face-to-face ทั้งนี้หากมีข้อเจรจาใดที่นอกเหนือจากกรอบการเจรจาฯ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Legally binding) ต่อประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้พิจารณา โดยไม่ต้องนำกลับเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่จนสิ้นสุดการประชุมรัฐภาคี 3 อนุสัญญา ในรูปแบบ face-to-face ในวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยที่จะเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคี 3 อนุสัญญาในรูปแบบ face-to-face ระหว่างวันที่ 6 - 17 มิถุนายน 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ประกอบด้วย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ประธานอนุกรรมการอนุสัญญา 3 คณะ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการฯ และผู้แทนกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสิ้น 21 คน
2. กรอบการเจรจาของประเทศไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคี 3 อนุสัญญา ในรูปแบบ face-to-face ประกอบด้วย
1) สนับสนุนการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักการและจุดมุ่งหมายของ 3 อนุสัญญา คือ
(1) อนุสัญญาบาเซลฯ
การคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากของเสียอันตราย โดยให้มีการขอความยินยอมล่วงหน้า กล่าวคือ ก่อนการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านของเสียอันตรายไปยังประเทศอื่นจะต้องแจ้งรายละเอียดและขออนุญาต ตามขั้นตอนจากหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศที่เกี่ยวข้องก่อนการขนส่งเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตราย
(2) อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ
การส่งเสริมความร่วมมือและรับผิดชอบระหว่างประเทศในเรื่องการค้าสารเคมีอันตรายบางชนิด รวมทั้งปกป้องสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากอันตรายของสารเคมีและส่งเสริมการใช้สารเคมีอย่างไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของสารเคมี ให้มีการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าก่อนการนำเข้า - ส่งออกให้แก่ประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาฯ
(3) อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ
การคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยการลดและเลิกการผลิตและการใช้ และการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ซึ่งเป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ยาก มีคุณสมบัติเป็นพิษ สะสมในสิ่งมีชีวิต ตกค้างยาวนานและสามารถเคลื่อนย้ายได้ไกลในสิ่งแวดล้อม
2) คำนึงถึงสภาพการณ์ต่างๆ และความต้องการจำเพาะของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในระดับประเทศด้านการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจร โดยผ่านการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและทางด้านการเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคีต่างๆ
3) คำนึงถึงขีดความสามารถและสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในการดำเนินตามอนุสัญญาบาเซลฯ อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ และอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ และสะท้อนหลักการ ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน
4) สนับสนุนความร่วมมือและการบูรณาการร่วมกันในการดำเนินงานตามพันธกรณีข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องที่ประเทศไทยเป็นภาคี ข้อตกลงที่สอดคล้องกับศักยภาพ และขีดความสามารถของประเทศ
5) สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ซึ่งขยายการบังคับใช้แผนถึง พ.ศ. 2565 นโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2580 แผนปฏิบัติการด้านการจัดการสารเคมี พ.ศ. 2562 - 2565 และแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 - 2570 (เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาบาเซลฯ)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A51071