การปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฎหมายตามพระราชบัญญัติ การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 25 May 2022 16:56
- Hits: 5700
การปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฎหมายตามพระราชบัญญัติ การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฏหมายตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ และให้ทุกหน่วยงานรับแนวทางฯ ไปทบทวนงานในความรับผิดชอบ แล้วแจ้งผลให้ ก.พ.ร. พิจารณาในภาพรวม ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 1 เดือน
สาระสำคัญของเรื่อง
ก.พ.ร. รายงานว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยเฉพาะการปรับปรุงระยะเวลาพิจารณาอนุญาตในกระบวนงานที่มีความสำคัญต่อการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 มาตรา 7 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของ ก.พ.ร. ในการตรวจสอบขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตที่กำหนดและในกรณีที่เห็นว่าขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดล่าช้าเกินสมควร ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและสั่งการให้ผู้อนุญาตดำเนินการแก้ไขให้เหมาะสม ก.พ.ร. จึงได้มีการดำเนินการ ดังนี้
1. ศึกษาระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตเพื่อกำหนดมาตรฐานการให้บริการและรูปแบบการทบทวนกฎหมายเพื่อปรับปรุงการอนุญาตของหน่วยงานของรัฐ โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ศึกษาขั้นตอนและระยะเวลาในการอนุญาตของหน่วยงานของรัฐที่เผยแพร่บนเว็บไชต์ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ (www.info.go.th) จำนวน 3,827 กระบวนงาน จาก 132 หน่วยงาน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานระยะเวลาการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนหลักของการพิจารณาอนุญาต ได้แก่ ขั้นตอนการยื่นเอกสาร การพิจารณาอนุญาต และการลงนาม พบว่าหน่วยงานแต่ละแห่งมีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการที่แตกต่างกัน จึงได้นำค่ากลางของระยะเวลาการดำเนินการแต่ละขั้นตอนที่หน่วยงานส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้มากำหนดเป็นมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้เป็นแนวทางในการทบทวนระยะเวลาการดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนี้
ขั้นตอน |
การดำเนินการ |
มาตรฐานระยะเวลา การให้บริการ |
|
การยื่นเอกสาร |
ตรวจสอบความครบถ้วนของรายการเอกสารที่ผู้ขออนุญาตยื่นเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาอนุญาต |
ไม่เกิน 1 วันทำการ |
|
การพิจารณา |
ตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ขออนุญาตว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือไม่ โดยได้กำหนดมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการจำแนกตามลักษณะงานและความซับซ้อนของเอกสารที่ใช้ในการพิจารณา เช่น |
||
- การตรวจพิจารณาเอกสาร จำนวน 1-10 รายการ หรือเอกสารยืนยันตัวตน หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานผู้อนุญาต |
ไม่เกิน 2 วันทำการ |
||
- การตรวจสอบสถานที่ |
ไม่เกิน 15 วันทำการ |
||
- การตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์/เครื่องจักร |
ไม่เกิน 2 วันทำการ |
||
- การตรวจสอบองค์กรโดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน |
ไม่เกิน 15 วันทำการ |
||
- การพิจารณาโดยคณะกรรมการ |
ไม่เกิน 29 วันทำการ |
||
การลงนามหรือคณะกรรมการมีมติ |
เป็นขั้นตอนที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายลงนามในใบอนุญาต |
ไม่เกิน 1 วันทำการ |
ทั้งนี้ จากการติดตามผลการทบทวนกฎหมายเพื่อปรับปรุงการอนุญาต ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการทบทวนกฎหมายในกระบวนงานสำคัญที่มีผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน พบว่า หน่วยงานมีการทบทวนและแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการยกเลิกการอนุญาต เช่น การยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4) การปรับปรุงกระบวนการโดยการลดขั้นตอนหรือระยะเวลาการให้บริการหรือการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการให้บริการ เช่น การพัฒนาระบบบัตรส่งเสริมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน การปรับปรุงวิธีการอนุญาต เช่น การปรับปรุงการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในสิทธิบัตร เป็นการจดแจ้งการอนุญาตให้ใช้สิทธิ และ การปรับปรุงหรือยกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียม เช่น การยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญประการหนึ่ง คือ การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการให้บริการควรได้รับงบประมาณเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบรวมถึงการจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ ต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ
2. กำหนดแนวทางการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฎหมายตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและทบทวนกฎหมายให้เอื้อต่อกระบวนการพิจารณาอนุญาตเพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับการบริการจากภาครัฐที่เร็วขึ้น ง่ายขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ถูกลงและเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 การแบ่งกลุ่มกระบวนงานเพื่อปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต
(1) กลุ่มกระบวนงานที่มีผลกระทบสูง เป็นกระบวนงานสำคัญหรือมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก รวมถึงกระบวนงานที่เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชนที่เป็น ข้อร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะของประชาชนและภาคเอกชน จำนวน 31 กระบวนงาน จำแนกเป็นกลุ่มได้ ดังนี้
กระบวนงาน |
หน่วยงาน |
กระบวนงานที่สนับสนุนด้านการลงทุน/ประกอบกิจการ |
|
1) การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน/ขยายโรงงาน |
กรมโรงงานอุตสาหกรรม |
2) การจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร |
กรมโรงงานอุตสาหกรรม |
3) การทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ |
กรมวิทยาศาสตร์บริการ |
4) การขึ้นทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร |
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) |
5) การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนตำรับยา |
อย. |
6) การจดทะเบียยนการประกอบธุรกิจขายตรง |
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) |
7) การขอผ่อนผันการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550) |
กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน |
8) การขออนุญาตและแก้ไขรายการผลิตภัณฑ์อาหาร |
อย. |
9) การขออนุญาตการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ |
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ |
10) การขออนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว |
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า |
11) การรังวัดสอบเขต แบ่งแยก รวมโฉนดที่ดินหรือตรวจสอบเนื้อที่แบ่งแยก รวมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ |
กรมที่ดิน |
12) การจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ |
กรมที่ดิน |
13) การขอตรวจสอบหลักฐานทะเบียนที่ดินหรือห้องชุด |
กรมที่ดิน |
14) การแจ้งขุดดิน/ถมดิน |
กรมโยธาธิการและผังเมือง |
15) การขอรับใบอนุญาตเป็นผู้มีสิทธิจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม |
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
16) การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า |
กรมทรัพย์สินทางปัญญา |
17) การต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า |
กรมทรัพย์สินทางปัญญา |
กระบวนงานที่สนับสนุนด้านการนำเข้าและการส่งออก |
|
18) การขอรับชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร |
กรมศุลกากร |
19) การขออนุญาตนำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในราชอาณาจักร |
กรมปศุสัตว์ |
20) การขออนุญาตนำสัตว์หรือซากสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร |
กรมปศุสัตว์ |
21) การขออนุญาตให้เป็นผู้นำของเข้า ผู้ส่งออกของ |
กรมศุลกากร |
กระบวนงานที่สนับสนุนด้านการท่องเที่ยว |
|
22) การออกใบอนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย |
กรมการท่องเที่ยว |
23) การเลิกประกอบกิจการธุรกิจนำเที่ยวและขอรับคืนหลักประกัน |
กรมการท่องเที่ยว |
24) การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม |
กรมการปกครอง |
กระบวนงานที่สนับสนุนด้านแรงงาน |
|
25) การขอใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ |
กรมการจัดหางาน |
26) การขอรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน |
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน |
กระบวนงานที่สนับสนุนภาคการเกษตร |
|
27) การขึ้นทะเบียนเกษตรกร |
กรมส่งเสริมการเกษตร |
28) การขอรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ |
กรมวิชาการเกษตร |
29) การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ |
กรมประมง |
กระบวนงานที่สนับสนุนการวางรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคม |
|
30) การขออนุญาตให้ชาวต่างชาติประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ |
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา |
31) การขอความยินยอมหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ |
สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม |
(2) กลุ่มกระบวนงานทั่วไป เป็นการส่งเสริมการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตในกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต การจดทะเบียน หรือการแจ้งที่มีกฎหมายหรือกฎกำหนดให้ต้องขออนุญาต จดทะเบียน หรือแจ้งก่อนดำเนินการใดตามคู่มือสำหรับประชาชนที่เป็นภารกิจหลักของหน่วยงานที่นอกเหนือจากกลุ่มกระบวนงานที่มีผลกระทบสูง
2.2 เป้าหมายในการดำเนินการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต
(1) กลุ่มกระบวนงานที่มีผลกระทบสูง ให้หน่วยงานของรัฐทบทวนกระบวนงานและปรับลดระยะเวลาการดำเนินการลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2565
(2) กลุ่มกระบวนงานทั่วไป ให้หน่วยงานของรัฐเสนอกระบวนงานที่สามารถปรับลดระยะเวลาการดำเนินการลงร้อยละ 30-50 มาดำเนินการภายในปี 2565 โดยเป็นกระบวนงานที่เป็นภารกิจหลัก มีระยะเวลาในการดำเนินการมาก หรือเป็นกระบวนงานที่มีคุณค่า หรือเกิดประโยชน์แก่ประชาชนหากมีการปรับปรุงระยะเวลาการดำเนินการให้ดีขึ้นหรือเป็นกระบวนงานที่มีโอกาสในการปรับปรุงสูง
2.3 แนวทางการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต
(1) พิจารณายุบเลิก ยุบรวมขั้นตอนที่ไม่จำเป็น การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ลดการทำซ้ำหรือการส่งเรื่องไปกลับ การทำกิจกรรมคู่ขนานแทนการดำเนินการเป็นขั้นตอน ทบทวนแนวทางการตรวจสอบการดำเนินการหรือกิจการที่มีความซ้ำซ้อนหรือพิจารณาให้หน่วยงานอื่นดำเนินการแทนหรือกำหนดแนวทางการตรวจสอบตามความเสี่ยงของการดำเนินการ
(2) ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่กำหนดระยะเวลาในการอนุญาตและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการบริการของหน่วยงาน
(3) นำมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการตามผลการศึกษาของสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นเป้าหมายในการพิจารณาปรับลดระยะเวลาการดำเนินการ
(4) ปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชนให้สอดคล้องกับการปรับปรุงระยะเวลาการดำเนินการเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชน รวมถึงความโปร่งใสในการพิจารณาอนุญาต
(5) ปรับลดระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต ซึ่งต้องไม่กระทบต่อคุณภาพการให้บริการและกรณีกระบวนงานใดที่หน่วยงานไม่สามารถลดระยะเวลาการให้บริการลงได้อีกหรือมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการให้รายงานไปยังสำนักงาน ก.พ.ร. ทราบ
2.4 แนวทางการทบทวนกฎหมายเพื่อปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุญาต
(1) การพิจารณาใช้ระบบอนุญาตในกฎหมาย โดยนำคำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การใช้ระบบอนุญาตในกฎหมาย ซึ่งแบ่งการอนุญาตออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 การกำหนดกฎเกณฑ์ให้ปฏิบัติตาม ระดับที่ 2 การจดแจ้ง ระดับที่ 3 การจดทะเบียน/การขึ้นทะเบียน และระดับที่ 4 การอนุญาต/ใบอนุญาตมาเป็นแนวทางในการดำเนินการ
(2) การทบทวนกฎหมายเพื่อยกเลิกการอนุญาต เช่น กฎหมายที่บังคับใช้เป็นเวลานานหรือไม่ได้มีการทบทวนมาเป็นเวลานาน กฎหมายที่มีลักษณะควบคุมหรือลิดรอนสิทธิของประชาชน กฎหมายที่มีความซ้ำซ้อนกันหลายหน่วยงาน กฎหมายที่มีข้อกำหนดหรือข้อบังคับเกินความจำเป็น มีการพิจารณาที่ซ้ำซ้อนกันหลายหน่วยงาน หรือเป็นงานบริการที่ไม่ได้ดำเนินการแล้ว (ไม่มีผู้ขอรับบริการหรืองานบริการที่ไม่มีความจำเป็นต้องขออนุญาตแล้ว) ทั้งนี้ การพิจารณายกเลิกการอนุญาตต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิหรือภาระของประชาชน
(3) การทบทวนกฎหมายเพื่อปรับปรุงการอนุญาต เช่น การปรับปรุงขั้นตอน การลดระยะเวลาการให้บริการ การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการให้บริการ การลดใช้เอกสารหลักฐานประกอบการยื่นคำขอและการปรับปรุงแบบฟอร์มในการยื่นคำขอให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน หรือปรับปรุงวิธีการอนุญาต หรือปรับปรุงค่าธรรมเนียม
ทั้งนี้ การส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและทบทวนกฎหมายโดยเฉพาะในกระบวนงานที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมตามเป้าหมาย 31 ใบอนุญาตดังกล่าวจะสามารถลดระยะเวลาในการพิจารณาลงร้อยละ 50 จากเดิม ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็วในการพิจารณาอนุญาตและการประกอบธุรกิจ
ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 พิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวอยู่ในอำนาจของแต่ละกระทรวงที่จะพิจารณาดำเนินการภายในกรอบของกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ ควรนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบก่อนแจ้งส่วนราชการดำเนินการ จึงมีมติเห็นชอบด้วย และให้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 24 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5844