ข้อเสนอหลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 25 May 2022 16:44
- Hits: 4959
ข้อเสนอหลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบหลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ตามที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองเสนอ และให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอนของกฎหมายก่อนดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ หลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดองเสนอ เป็นการกำหนดให้มีหลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มซึ่งมีหลักการสำคัญ ได้แก่ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเหมาะสม ประกอบธุรกิจโดยสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิในการใช้บริการแพลตฟอร์ม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลมีความร่วมมือและมีแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกัน มีการกำหนดหน้าที่พื้นฐานของผู้ประกอบธุรกิจทุกกลุ่มที่ต้องปฏิบัติ กำหนดให้มีวิธีการหรือระบบที่สามารถรับแจ้งการกระทำความผิดหรือการใช้ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย รวมถึงมีการลบและปิดกั้นการเข้าถึงของข้อมูลที่ผิดกฎหมายดังกล่าวนั้นได้และมีการรับรองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด มีการกำกับดูแลสัญญาระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ใช้บริการ รวมทั้งมีการรักษาความเป็นธรรมในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เพื่อให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม มีการคุ้มครองผู้บริโภค และกำหนดบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อเป็นกฎหมายกลางในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มอันจะทำให้ระบบการให้บริการและการใช้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความชัดเจนและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกับบริบทด้านระบบเศรษฐกิจสังคมดิจิทัลของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สร้างโอกาสในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
สาระสำคัญของหลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม
1. หลักการที่ 1 วัตถุประสงค์และขอบเขตของกฎหมาย ให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเหมาะสม ประกอบธุรกิจโดยสามารถแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรม ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิในการใช้บริการแพลตฟอร์ม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลมีความร่วมมือและมีแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกัน โดยกำหนดผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1) ผู้ให้บริการตัวกลาง (Intermediary services)1 2) ผู้ให้บริการรับฝากข้อมูล (Hosting services)2 3) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม (Online platform)3 4) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ (Very Large Online Platform)4 และ 5) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มีอำนาจควบคุม (Gatekeeping Platform)5 ส่วนผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เช่น ผู้ให้บริการที่มีขนาดเล็กโดยอาจเป็นผู้ให้บริการที่มีจำนวนธุรกรรมน้อยกว่า 10,000 รายการต่อวัน ผู้ให้บริการที่มีขอบเขตการให้บริการอย่างจำกัดโดยไม่เปิดบริการให้บุคคลทั่วไป เช่น ใช้เฉพาะภายในองค์กรหรือเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ผู้ให้บริการที่ให้บริการจำกัดเฉพาะสินค้าหรือบริการที่ผู้ให้บริการเป็นผู้แทนจำหน่ายหรือเป็นผู้ผลิตเท่านั้น
2. หลักการที่ 2 หน้าที่พื้นฐานของผู้ประกอบธุรกิจทุกกลุ่ม กำหนดหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามหลักการของกฎหมายที่เสนอนี้และหน่วยงานกำกับดูแล เช่น การเปิดเผยรายงานความโปร่งใส และการมีระบบรับแจ้งปัญหาจากผู้ใช้งาน นอกจากนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจมาจากต่างประเทศ ควรจัดให้มีตัวแทนในประเทศไทยหรือมีช่องทางทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดต่อระหว่างผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจกับหน่วยงานกำกับดูแล
3. หลักการที่ 3 หน้าที่เพิ่มเติมของผู้ประกอบธุรกิจทุกกลุ่มยกเว้นผู้ให้บริการตัวกลาง กำหนดให้มีวิธีการหรือระบบที่สามารถรับแจ้งการกระทำความผิดหรือการใช้ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย รวมถึงมีหน้าที่ลบและปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลที่ผิดกฎหมายดังกล่าวนั้นได้
4. หลักการที่ 4 หน้าที่เพิ่มเติมของผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มที่เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ กำหนดหน้าที่และมาตรการป้องกันการเกิดการกระทำผิดและความเสียหายขึ้นบนแพลตฟอร์มทั้งในส่วนของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ รวมถึงกำหนดความรับผิดในกรณีที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่จนก่อให้เกิดการกระทำผิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม
5. หลักการที่ 5 หน้าที่เพิ่มเติมของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ กำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญภายนอกประเมินความเสี่ยงของระบบและความเสี่ยงอื่นที่อาจเกิดขึ้นในการใช้บริการแพลตฟอร์ม ตลอดจนมี การเปิดเผยผลการทดสอบระบบเทคโนโลยีของแพลตฟอร์ม และข้อมูลปัจจัยและเหตุผลที่ส่งผลให้นำเสนอโฆษณาให้ผู้ใช้งาน
6. หลักการที่ 6 การรับรองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด (Accreditation of Trusted Flagger) ให้หน่วยงานกำกับดูแลมีการรับสมัคร ตรวจสอบและรับรองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด ตลอดจนมีหน้าที่ในการปรับปรุงรายชื่อผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเป็นประจำ
7. หลักการที่ 7 การกำกับดูแลสัญญาระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ใช้บริการ กำกับดูแลเนื้อหาสาระของสัญญาหรือข้อตกลง ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักการที่หน่วยงานกำกับดูแลประกาศกำหนด หากมีสัญญาหรือข้อตกลงใดไม่เป็นไปตามประกาศกำหนด ให้ถือว่าสัญญาหรือข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ นอกจากนี้ ในกรณี ที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซึ่งเป็นบริการด้านการขนส่งและต้องมีผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้ส่งของ (Rider) จำนวนมาก ให้ทั้งสองฝ่ายมีการกำกับดูแลสัญญาโดยกำหนดหน้าที่และความรับผิดอย่างชัดเจน
8. หลักการที่ 8 หน้าที่และอำนาจของหน่วยงานกำกับดูแล กำหนดให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลตามหลักการของกฎหมายที่เสนอนี้
9. หลักการที่ 9 ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีหลักการดังนี้
(1) การกำหนดให้หน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลตามร่างกฎหมายนี้ มีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานแก่หน่วยงานกำกับดูแลอื่นในการปฏิบัติตามกฎหมาย
(2) ในกรณีที่หน่วยงานใดมีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลธุรกิจใดตามกฎหมายอื่นอยู่แล้ว แต่ไม่ครอบคลุมมาตรการบางเรื่องตามร่างกฎหมายนี้ หน่วยงานดังกล่าวอาจพิจารณาใช้อำนาจตามหลักการของ ร่างกฎหมายนี้ได้
(3) หากจำเป็นต้องทดลองแนวทางการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจในรูปแบบใหม่หรือต้องการทดลองให้นำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่เข้ามาใช้ หน่วยงานกำกับดูแลตามหลักการนี้อาจตั้งคณะกรรมการซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับดูแลการทดสอบการดำเนินธุรกิจในวงจำกัด (Sandbox) ได้
10. หลักการที่ 10 การรักษาความเป็นธรรมในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม [ใช้แนวทางการกำกับเชิงการป้องกัน (Ex-ante Approach) โดยการกำหนดพฤติกรรมที่ควรทำและพฤติกรรมที่ห้ามทำ] กำหนดให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเป็นหน่วยงานกำกับดูแลหลักในการพิจารณาประกาศหลักเกณฑ์และรายชื่อผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มีอำนาจควบคุม (Gatekeeping Platform) โดยดำเนินการภายใต้หลักการที่ 9
_________________________________
1ผู้ให้บริการตัวกลาง (Intermediary services) หมายความถึง ผู้ประกอบการใดๆ ที่ให้บริการรับหรือส่งข้อมูลให้บุคคลอื่นโดยไม่จัดเก็บข้อมูลที่รับหรือส่งไว้ถาวร โดยบริการที่ให้ในกลุ่มนี้จะเป็นเพียงแค่บริการรับส่งหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น บริการ VPN IXP CDN ที่อาจมีการจัดเก็บข้อมูลไว้ชั่วคราวในลักษณะของ caching หรือเป็นผู้ให้บริการ DNS เท่านั้น
2 ผู้ให้บริการรับฝากข้อมูล (Hosting services) หมายความถึง ผู้ประกอบการใดๆ ที่ให้บริการรับหรือส่งข้อมูลให้บุคคลอื่น แต่มีการจัดเก็บรักษาข้อมูลไว้กับผู้ให้บริการด้วย ทั้งนี้ ผู้ให้บริการในกลุ่มนี้จะมีความหลากหลาย แต่สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น
- ผู้ให้บริการรับฝากข้อมูลของลูกค้า โดยลูกค้าสามารถเข้าถึงและแก้ไขข้อมูลได้ทั้งที่เป็นการให้บริการเก็บรักษาข้อมูลในลักษณะ cloud storage, web hosting service รวมทั้งบริการส่งข้อมูลที่จัดเก็บไว้ให้ผู้ใช้งานทั่วไปที่มิใช่เจ้าของข้อมูลด้วย
- ผู้ให้บริการเว็บบอร์ดเพื่อให้ผู้ใช้งานทั่วไปเข้ามาปฏิสัมพันธ์กันโดยไม่มุ่งเน้นว่าให้มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าบริการดังกล่าวจะเป็นระบบเปิดหรือระบบปิดเฉพาะสมาชิก
- ผู้ให้บริการโปรแกรมสำนักงานออนไลน์และเกมส์ออนไลน์
- ผู้ให้บริการดัชนี คัดเลือก หรืออ้างอิง (indexing, selection and reference) สินค้าหรือบริการ
3 ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม (Online platform) หมายความถึง ผู้ประกอบการใดๆ ที่ให้บริการรับหรือส่งข้อมูลให้บุคคลอื่น โดยมีการจัดเก็บรักษาข้อมูลและให้บริการจับคู่ (matching) ระหว่างผู้ใช้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยอาจมีบริการอื่นเพื่อสนับสนุนการจับคู่หรือการทำธุรกรรม เช่น บริการ social media การโฆษณาสินค้าและบริการ โดยอาจแบ่งย่อยออกได้เป็น
- ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจะจัดพื้นที่ให้ผู้ซื้อและผู้ขายเข้ามาจับคู่ทำธุรกรรมเท่านั้น
- ผู้ให้บริการออนไลน์ในลักษณะซับซ้อน (Complex online platform provider) โดยผู้ให้บริการจะมีการให้บริการที่หลากหลายแต่มีความเกี่ยวเนื่องกัน เช่น ผู้ให้บริการ social networking มีการให้บริการแชตส่วนตัว บริการเพิ่มยอดชมโฆษณา บริการพื้นที่เสนอซื้อหรือขายสินค้าและบริการ ผสมกับการให้บริการข้อมูลข่าวสาร บริการรับส่งเงิน บริการผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (Escrow) บริการรับส่งสินค้า
4 ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ (Very Large Online Platform) หมายความถึง ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม (Online Platform) แต่มีขนาดใหญ่จนการประกอบกิจกรรมนั้นอาจมีความเสี่ยงที่จะสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญแก่สังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้ การพิจารณาว่าผู้ประกอบธุรกิจใดเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่นั้น จำเป็นจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีในบริบทของประเทศไทย โดยอาจพิจารณาจากปริมาณผู้ใช้งานที่อยู่ในระบบ (Active User) รายได้หรือปริมาณของธุรกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หรือลักษณะของความสำคัญของบริการที่ให้เมื่อพิจารณาจากทางเลือกอื่นๆ ที่มีอยู่ เช่น บริการรับส่งสินค้า
5 ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มีอำนาจควบคุม (Gatekeeping Platform) หมายความถึง ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม (Online Platform) ที่มีอำนาจควบคุมการเข้าถึงบริการ โดยในการพิจารณาว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มใดเป็นผู้มีอำนาจควบคุมนั้น หน่วยงานที่กำกับดูแลจะต้องอาจพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ภายใต้บริบทของประเทศไทยโดยอาจเทียบเคียงหลักเกณฑ์ของต่างประเทศที่ใช้พิจารณา เช่น จำนวนผู้ใช้งานและส่วนแบ่งการตลาด ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ใช้งานใช้บริการในแต่ละรอบเวลา รายได้จากการให้บริการในประเทศไทยเฉลี่ยสามปีสุดท้าย การใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมการเข้าถึงสินค้าและบริการ เช่น ระบบปฏิบัติการ app store เป็นต้น (นิยามนี้ใช้เฉพาะหลักการที่ 10)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 24 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5843