รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ประจำปี 2563-2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 25 May 2022 12:54
- Hits: 6026
รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ประจำปี 2563-2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เสนอ รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและผลการดำเนินงานของ ท.ท.ช. ประจำปี 2563-2564 ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะสำนักงานเลขานุการของ ท.ท.ช. รายงานว่า เนื่องจากในปี 2563 เหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้สร้างความเสียหายให้กับภาคการท่องเที่ยวของไทยและของโลกเป็นอย่างมาก สรุปได้ ดังนี้
1. สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยและของโลกปี 2563 และแนวโน้มปี 2564
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
1. รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทย |
ปี 2563 มีรายได้ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 2.18 ล้านล้านบาท |
|
2. สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ |
ปี 2563 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย จำนวน 6.70 ล้านคน ลดลงร้อยละ 83.2 จากปี 2562 (39.92 ล้านคน) และรายได้ 0.33 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 82.6 จากปี 2562 (1.91 ล้านบาท) |
|
3. สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวไทย |
- การท่องเที่ยวในประเทศปรับตัวลดลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 การประกาศใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโลก รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว เช่น อุทยานแห่งชาติ ได้ปิดลงชั่วคราว โดยนักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศประมาณ 90.56 ล้านคน1 ลดลงร้อยละ 47.6 จากปี 2562 การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยในประเทศ มีมูลค่า 4.82 แสนล้านบาท ลดลงร้อยละ 55.4 จากปี 2562- พฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวไทยส่วนหนึ่งเลือกเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับมากกว่าพักค้างคืน ทำให้ธุรกิจโรงแรมและที่พักได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยในปี 2563 อัตราการเข้าพัก2 ทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 29.51 ลดลงร้อยละ 40.6 เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีอัตราการเข้าพักทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 70.08 รวมถึงกำลังซื้อของคนไทยที่ลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจส่งต่อการจับจ่ายใช้สอยระหว่างการเดินทาง |
|
4. สถานการณ์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลก |
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นวิกฤตไปทั่วโลก ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกลดลง เมื่อเทียบกับปี 2562 ดังนี้ - นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศของโลกมีจำนวน 381 ล้านคน ลดลง ร้อยละ 73.6 - รายได้จากการท่องเที่ยวทั่วโลกลดลงกว่า 0.9-1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ - อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกสูญเสียรายได้ 118 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ - ความต้องการเดินทางหดตัวร้อยละ 65.9 - การจองห้องพักของโรงแรมและที่พักลดลงกว่าร้อยละ 48 |
|
5. แนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศในปี 2564 |
แม้ว่าในหลายประเทศจะเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศยังพบผู้ติดเชื้อสูงทำให้แนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกในปี 2564 ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวยังต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ 1) การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแต่ละประเทศหลายประเทศยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินนโยบายในการเปิดรับนักท่องเที่ยวและยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการเดินทางของผู้ที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยว และ 2) การฉีดวัคซีนยังจำกัดเฉพาะประเทศและการเข้าถึงเฉพาะกลุ่ม จากข้อมูล Our World in Data3 สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีประชาชนได้รับวัคซีนครบโดสประมาณ 52 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 0.67 ของประชากรโลก |
2. ผลการดำเนินงานของ ท.ท.ช. ประจำปี 2563-2564
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
1. การจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ (พ.ศ. 2564-2565)4 |
ท.ท.ช. ได้จัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นแผนพัฒนาเฉพาะกิจอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อวางรากฐานและแก้ปัญหาการหยุดชะงักของการท่องเที่ยว โดยสร้างความสมดุลของการพัฒนาทั้งในมิติของพื้นที่ เวลา กิจกรรม รูปแบบและกลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อการสร้างรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชน รวมทั้งเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสู่การเติบโตในอนาคต โดยมุ่งประเด็นพัฒนาที่สำคัญ เช่น 1) พัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว ผู้ผลิต และขายสินค้า/บริการ 2) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และปรับปรุงปัจจัยเอื้อให้สนับสนุนการฟื้นตัวและเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 3) ปรับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพผ่านการตลาด และ 4) บริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน |
|
2. การประกาศเขตพัฒนาการท่องเที่ยว 6 เขต (เพิ่มเติม) (จากปี 2558-2560 ที่มีการประกาศเขตพัฒนาการท่องเที่ยวไปแล้ว 9 เขต)5 |
ในปี 2563 ได้มีการประกาศกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยวเพิ่มเติมจำนวน 6 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว ได้แก่ 1) เขตพัฒนาการท่องเที่ยว เมืองเก่ามีชีวิต (จังหวัดน่าน แพร่ พะยา และอุตรดิตถ์) 2) เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตชายฝั่งอ่าวไทย 3) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น - เขาใหญ่ 4) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวธรณีวิทยาถิ่นอีสาน 5) เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และ 6) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ทำให้ปัจจุบันไทยมีเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้งสิ้น 15 เขต ครอบคลุมพื้นที่ 59 จังหวัด |
|
3. การประกาศ ท.ท.ช. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการ ต่างๆ |
ประธานกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ [รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทินฯ] ได้ลงนามประกาศ ท.ท.ช. ดังนี้ - ประกาศ ท.ท.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยว ประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยว พ.ศ. 2564 กำหนดให้คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยว6 จัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการท่องเที่ยว แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ รวมถึงแนวคิด การพัฒนาของเขตการท่องเที่ยวควรอยู่บนพื้นฐานศักยภาพของพื้นที่ ความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว - ประกาศ ท.ท.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ แต่งตั้ง และการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยว ประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยว พ.ศ. 2564 กำหนดให้คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยว รวมถึงรายงานสภาพปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยวได้ต่อ ท.ท.ช. |
|
4.การปรับปรุงมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย |
ท.ท.ช. ได้เห็นชอบการปรับปรุงมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย จำนวน 5 มาตรฐาน ได้แก่ 1) มาตรฐานที่พักเพื่อการท่องเที่ยวประเภทโรงแรม เพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับแนวโน้มการท่องเที่ยว ยุคใหม่ (New Normal) 2) มาตรฐานที่พักแบบระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 3) มาตรฐานห้องน้ำสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อให้สอดคล้องกับสุขอนามัยและเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 4) มาตรฐานร้านอาหารเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและข้อกำหนดตามกฎกระทรวงสาธารณสุข และ 5) มาตรฐานสถานที่จำหน่ายของที่ระลึกประเภทอัญมณี เพื่อให้มาตรฐานครอบคลุมถึงผู้ประกอบการค้าอัญมณีรายเล็ก และสร้างความเชื่อมั่นในการเลือกซื้อสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยว |
|
5. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ ท.ท.ช. |
ท.ท.ช. ได้เห็นชอบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ ท.ท.ช. จำนวน 2 คณะ ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการด้านความปลอดภัยทางการท่องเที่ยว เพื่อกำหนดกรอบแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากอุบัติเหตุและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือในการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีของไทย และ 2) คณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินภารกิจการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของไทยตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ อีกทั้งช่วยส่งเสริมให้ไทยมีแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพระดับโลกที่เติบโตบนพื้นฐานของความเป็นไทยจากการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้สามารถกระจายรายได้สู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน |
|
6. การศึกษาและจัดทำแนวทางการจัดเก็บและการบริหารจัดการค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ |
ท.ท.ช. ได้เห็นชอบในหลักการ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพื่อใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว โดยมีการปรับอัตราค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมจากเดิม 65-220 บาท เป็น 300 บาท และส่วนหนึ่งของค่าธรรมเนียมที่เก็บได้จะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดประกันภัยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในระหว่างการท่องเที่ยวภายในประเทศโดยให้ความคุ้มครองแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติตามเกณฑ์ของกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ |
|
7. การจัดทำแผนการเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ |
ท.ท.ช. ได้เห็นชอบแผนการเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 : นำร่อง (1 เมษายน-30 มิถุนายน 2564 ระยะที่ 2 : Phuket Sandbox (1 กรกฎาคม-30 กันยายน 2564) ระยะที่ 3 : ผ่อนคลาย 10 จังหวัด คือ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ชลบุรี กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และบุรีรัมย์ (1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2564) และระยะที่ 4 : เข้าสู่ภาวะปกติ (1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป) [ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) (ศบค.) ที่ 4/2564 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 9)] |
_______________
1นับจากจำนวนคนที่เดินทางท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ภายในประเทศตลอดทั้งปี
2อัตราการเข้าพัก คือ การนำจำนวนห้องพักที่ขายได้ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง (รายปี รายเดือน หรือรายวัน) นำมาหารด้วยจำนวนห้องพักที่เปิดขายทั้งหมด
3Our World in Data คือ สื่อพิมพ์ออนไลน์ที่รวบรวมข้อมูลภาพรวมระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงข้อมูลประชากร สาธารณสุข พลังงาน การศึกษา
4คณะรัฐมนตรีมีมติ (30 พฤศจิกายน 2564) อนุมัติ (ร่าง) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ (พ.ศ. 2564-2565) ตามที่ ท.ท.ช. เสนอ
5เขตพัฒนาการท่องเที่ยว 9 เขต ระหว่างปี 2558-2560 ประกอบด้วย 1) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก 2) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก 3) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน 4) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา 5) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ 6) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรม 7) เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง 8) เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง และ 9) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวหมู่เกาะทะเลใต้
6คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวจะจัดตั้งขึ้นเมื่อมีการประกาศกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยวขึ้นในพื้นที่นั้น โดยองค์ประกอบคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นกรรมการและเลขานุการ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 24 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5838