รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมีนาคม และไตรมาสแรกของปี 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 25 May 2022 12:50
- Hits: 5873
รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมีนาคม และไตรมาสแรกของปี 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมีนาคม 2565 และไตรมาสแรกของปี 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมีนาคม 2565
การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2565 มีมูลค่า 28,859.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (922,313 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 19.5 การส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 จากความต้องการสินค้าทั่วโลกที่แข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศที่คลี่คลายลง นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 โดยการจ้างงาน และการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเร่งตัวขึ้น บ่งชี้ว่า ประเทศคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มเติบโต
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมีนาคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 28,859.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 19.5 การนำเข้า มีมูลค่า 27,400.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 18.0 ดุลการค้า เกินดุล 1,459.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ ไตรมาสแรกของปี 2565 (มกราคม-มีนาคม) การส่งออก มีมูลค่า 73,601.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 14.9 การนำเข้า มีมูลค่า 74,545.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 18.4 ดุลการค้า ขาดดุล 944.0 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนมีนาคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 922,313 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 28.7 การนำเข้า มีมูลค่า 887,353 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 26.8 ดุลการค้า เกินดุล 34,960 ล้านบาท ขณะที่ ไตรมาสแรกของปี 2565 (มกราคม-มีนาคม) การส่งออก มีมูลค่า 2,401,444 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 26.1 การนำเข้า มีมูลค่า 2,466,654 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 29.9 ดุลการค้า ขาดดุล 65,210 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 14.2 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 6.3 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 53.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิรัก จีน แอฟริกาใต้ เบนิน ฮ่องกง เยเมน และโมซัมบิก) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 2.0 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อียิปต์ และลิเบีย) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 204.3 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย เกาหลีใต้ ลาว จีน และเมียนมา) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 15.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิตาลี มาเลเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย และเวียดนาม) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 350.1 (ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเวียดนาม) ไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 6.6 (ขยายตัวในตลาดสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไอร์แลนด์ และแคนาดา) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 9.7 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย มาเลเซีย กัมพูชา และเมียนมา) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัวร้อยละ 6.0 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 0.3 หดตัว (หดตัวในตลาดมาเลเซีย ฮ่องกง เวียดนาม และเกาหลีใต้) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง หดตัวร้อยละ 22.1 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และเมียนมา) ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 13.3 (YoY)
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 20.6 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 15.5 (ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย กัมพูชา และญี่ปุ่น) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ขยายตัวร้อยละ 36.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และอินเดีย) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 11.0 (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ จีน ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ ไต้หวัน และมาเลเซีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 37.1 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย ฮ่องกง เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 37.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนเธอร์แลนด์ เมียนมา และกัมพูชา) เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อนและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 71.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ แคนาดา ลาว เมียนมา และแอฟริกาใต้) เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ขยายตัวร้อยละ 10.6 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และแคนาดา) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 10.9 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม และสหรัฐฯ) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 13.4 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเวียดนาม) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 6.1 กลับมาหดตัวในรอบ 7 เดือน (หดตัวในตลาดเวียดนาม ไต้หวัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย) ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 14.9 (YoY)
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่ยังคงขยายตัว แม้จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในบางตลาด ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และการใช้มาตรการควบคุมไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวดมากขึ้นของจีน ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 12.7 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 21.5 จีน ร้อยละ 3.2 ญี่ปุ่น ร้อยละ 1.0 อาเซียน (5) ร้อยละ 34.8 CLMV ร้อยละ 1.0 และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 6.9 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 10.2 ขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 36.4 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 29.5 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 2.2 ขณะที่ทวีปออสเตรเลีย และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 1.3 และ 65.9 ตามลำดับ และ (3) ตลาดอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 1,411.6 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 2,865.2
2.ปัจจัยสนับสนุนและมาตรการส่งเสริมการส่งออก
การส่งออกของไทยที่ขยายตัวได้ดีมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) โอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปตลาดโลกได้มากขึ้นจากความต้องการรักษาความมั่นคงทางอาหารของหลายประเทศ (2) การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้แล้ว (3) การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย (4) ทิศทางของราคาสินค้าอาหารและโภคภัณฑ์ที่กำลังสูงขึ้น และ (5) ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าในระดับที่เอื้อต่อการส่งออก
มาตรการและแผนส่งเสริมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ที่สำคัญ อาทิ (1) การส่งเสริมการส่งออกผ่านนโยบาย Soft Power ผลักดัน 4 กลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ อาหาร ดิจิทัลคอนเทนต์ สุขภาพความงาม และสินค้าสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย (2) การร่วมมือกับภาคเอกชนจัดทำมาตรการเชิงรุกบริหารจัดการส่งออกผลไม้ สำหรับฤดูการผลิตปี 2565 โดยเร่งรัดเจรจากับจีน เพื่อขอให้เปิดช่องทางรับสินค้าเพิ่มเติม เจรจากับลาวและเวียดนาม เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดน และประสานความร่วมมือในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าและตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 และ (3) การผลักดันและเร่งแก้ไขปัญหาการค้าชายแดน อาทิ การส่งเสริมการค้าชายแดนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนไทย-เมียนมา รวมทั้งเจรจากับประเทศ เพื่อนบ้าน เพื่อขอให้เปิดด่านการค้าชายแดนระหว่างกันมากขึ้น หลังปิดทำการชั่วคราวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 24 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5837