WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รายงานความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี พ.ศ. 2561-2570

GOV3

รายงานความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี .. 2561-2570

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอรายงานความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี .. 2561-2570 ตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน และสรุปประเด็นปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานมาเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบ

          สาระสำคัญของเรื่อง

          อก. รายงานว่า

          1. ผลการดำเนินการงานภายใต้มาตรการฯ ประกอบด้วย

                1.1 มาตรการขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน มีการดำเนินงานสรุปได้ ดังนี้

                          (1) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) .. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (2 ตุลาคม 2561) อนุมัติหลักการและคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วโดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบรรจุเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป

                          (2) กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดทำกฎกระทรวงกำหนดประเภทชนิด และขนาดของโรงงาน (ฉบับที่ 2) .. 2564 โดยเพิ่มประเภทโรงงาน เช่น การทำเคมีภัณฑ์หรือสารเคมี หรือวัสดุเคมี ซึ่งใช้วัตถุดิบพื้นฐานทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ต่อเนื่องโดยใช้กระบวนการเคมีชีวภาพเป็นพื้นฐาน และการผลิตพลาสติกชีวภาพจากเคมีภัณฑ์หรือสารเคมีหรือวัสดุเคมีที่ผลิตจากวัตุดิบพื้นฐานทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่อง

                          (3) กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ปรับปรุงแก้ไขผังเมืองรวมของพระราชบัญญัติการผังเมือง .. 2562 ในจังหวัดชัยภูมิ อุบลราชธานี และลพบุรี เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาและเป็นไปตามกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำผังเมืองรวมเมือง/ชุมชนเพื่อรองรับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมชีวภาพ

 

GC 720x100

 

                          (4) หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันภาคการเกษตรสู่การทำเกษตรสมัยใหม่เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศ เช่น

                                (4.1) กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะสำหรับพืชวัตถุดิบในอุตสาหกรรมชีวภาพ เช่น แปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะปาล์มน้ำมันจังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานี รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ

                                (4.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) โดยจัดทำแนวทางบริหารจัดการสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีอนาคตเพื่อวางแผนการผลิตและการปรับเปลี่ยนพืชเสริม/พืชแซมของพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรด ปาล์มน้ำมัน และยางพารา เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

                                (4.3) กรมพัฒนาที่ดินได้วางแผนการใช้ที่ดินและการผลิตพืชเศรษฐกิจตามความเหมาะสมของดินผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ รวม 93,297 ไร่

                                (4.4) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติได้ดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนจากข้าวเป็นพืชวัตถุดิบในอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยมีการปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพื่อการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 258,818 ไร่ อ้อยโรงงาน 472 ไร่ และมันสำปะหลัง 633.25 ไร่ และมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 17,720 ราย รวมทั้งได้พัฒนาระบบ WiMarC “ไวมากเพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศในสวนเกษตรด้วยเซ็นเซอร์และรูปภาพ

                1.2 มาตรการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ขยายระยะเวลาของมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สิทธิและประโยชน์ด้านการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมกับโครงการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว โดยในปี 2564 มีโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมชีวภาพ (อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหารและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ) ที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมรวม 222 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 76,561.7 ล้านบาท ประกอบด้วย

 

พื้นที่

จำนวน

(โครงการ)

มูลค่าการลงทุน

(ล้านบาท)

ตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ

(1) เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

31

17,512.0

การผลิตพลาสติกชีวภาพ

ชนิด Thermoplastic Starch (TPS)1

(2) เขตพื้นที่ภาคเหนือ ตอนล่าง (นครสวรรค์)

3

20,598.0

การผลิตพลาสติกชีวภาพ

ชนิด Polylactic Acid (PLA)2

(3) เขตพื้นที่ภาคอีสาน ตอนกลาง (ขอนแก่น)

1

16.7

การผลิตหลอดดูดน้ำย่อยสลายได้จากเศษแป้ง

(4) เขตพื้นที่ศักยภาพอื่น

187

38,435.0

การผลิตสารสกัดจากเซรั่มยางพารา

 

                        ทั้งนี้ มีความคืบหน้าของโครงการที่ภาคเอกชนได้ขับเคลื่อนการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศ ในปี 2564 เช่น

                        (1) โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ โดยแบ่งโครงการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ก่อสร้างโรงหีบอ้อย กำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองเดินเครื่องจักรและคาดว่าจะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2565 และระยะที่ 2 การผลิตวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ กำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี โดยอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนและการสรรหาพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ

                        (2) โครงการไบโอ ฮับ เอเชีย เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะรองรับโรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น พลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ และอาหารแห่งอนาคตสำหรับคนและสัตว์ โดยได้ลงนามสัญญาร่วมทุนฉบับใหม่กับนักลงทุนจากต่างประเทศแล้ว เช่น ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์และกลุ่มประเทศในยุโรป รวมทั้งได้ส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะในพื้นที่รอบโครงการเพื่อควบคุมปริมาณและคุณภาพวัตถุดิบจากเกษตรกรรายแปลงแบบครบวงจร โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 60,000 ครัวเรือน

                        (3) โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park เพื่อพัฒนาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) โดยอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายภายในโครงการซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567

 

ais 720x100

 

                1.3 มาตรการกระตุ้นอุปสงค์ มีการดำเนินงาน เช่น

                        (1) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้ออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จำนวน 45 ใบรับรอง ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถยื่นขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละยี่สิบห้าสำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 – 31 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพเพื่อกระตุ้นความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพในประเทศเพิ่มขึ้น

                        (2) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ยึดหลักแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) ในการดำเนินงาน โดยได้ออกประกาศ เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล จัดเก็บขยะชายหาดและขยะตกค้างในระบบนิเวศทางทะเลได้ปริมาณ 1,427,831 ชิ้น

                        (3) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายและสถาบันพลาสติกได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “Go Green ไปกับถุงพลาสติกชีวภาพเพื่อรณรงค์/ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพิ่มขึ้น

                1.4 มาตรการสร้างเครือข่ายในรูปแบบของศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านชีวภาพ (Center of Bio Excellence: CoBE) มีการดำเนินงาน ดังนี้

                        (1) การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนารูปแบบและแนวทางการผลักดันให้ CoBE เป็นหน่วยงานกลาง หรือ One Stop Service ที่ครอบคุลมการให้บริการทั้งด้านข้อมูลงานวิจัย/มาตรฐาน/การตลาด และด้านการทดสอบทางเทคนิคและการสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในลักษณะการอนุเคราะห์ทรัพยากร เครื่องมือ และสถานที่ ซึ่งการวิจัยส่วนใหญ่เป็นการนำวัสดุชีวภาพไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร

                        (2) การให้คำปรึกษา สนับสนุนเงินทุนในการยกระดับสถานประกอบการชีวภาพและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพต้นแบบ โดยให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการเพื่อยกระดับกระบวนการผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพและเพิ่มผลผลิตสถานประกอบการด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพต้นแบบผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

                        (3) การจัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมเพื่อสร้างบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านชีวภาพ เช่น การพัฒนาหลักสูตร Refinery Engineering สำหรับนักศึกษาและบุคลากรภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบคุณภาพของหลักสูตร

                        (4) การพัฒนาศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะอุตสาหกรรมชีวภาพ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ โดยปรับปรุงฐานข้อมูลเดิมให้ทันสมัยและพัฒนาข้อมูลใหม่เพิ่มเติม

 

EXIM One 720x90 C J

 

          2. ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินงาน

                2.1 การกระตุ้นการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดผลในวงกว้างได้มากเท่าที่ควร เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 702) .. 2563 เกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 – 31 ธันวาคม 2564 แต่มีผลใช้บังคับวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ส่งผลให้ไม่มีผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในรอบระยะเวลาบัญชี 2562 ซึ่งเป็นปีแรกของการใช้มาตรการภาษีดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเกิดความลังเลว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเนื่องจากต้องอาศัยเวลาในการเตรียมตัวและความพร้อมในการผลิตก่อนที่จะนำออกสู่ตลาดเพื่อจำหน่าย

                2.2 การลงทุนของภาคเอกชนไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นอกจากนี้ โครงการลงทุนบางแห่งยังประสบปัญหาด้านการผังเมืองที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมชีวภาพ รวมทั้งมีการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับ การตั้งโรงงานน้ำตาลหรือโรงงานที่เกี่ยวข้อง

                2.3 ข้อจำกัดด้านกฎหมาย กฎ ระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศ เช่น การไม่มีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพและความหลากหลายทางชีวภาพ

                2.4 บุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญในห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้บริการ โดยเฉพาะผู้ตรวจประเมินและผู้ดำเนินงานในหน่วยงานศึกษาวิจัย/พัฒนาส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องรอรายงานผลการทดสอบค่อนข้างนานและอาจเสียโอกาสทางการแข่งขัน

                2.5 ปริมาณเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอและราคาต้นทุนสูงกว่า เม็ดพลาสติกทั่วไป ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายไม่มีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมชีวภาพหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าสูง

_____________________

1 Thermoplastic Starch (TPS) คือ พลาสติกที่ผลิตจากพืชซึ่งมีแป้งเป็นองค์ประกอบหลัก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และถั่วต่างๆ โดยใช้กระบวนการทางความร้อนขึ้นรูป

2Polylactic Acid (PLA) คือ พลาสติกที่มีการผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ส่วนประกอบของข้าวโพด ธัญพืช มันสำปะหลัง และอ้อย มีกระบวนการผลิตด้วยการหมัก

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 24 พฤษภาคม 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A5836

 Click Donate Support Web 

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!