สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 2/2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 25 May 2022 12:31
- Hits: 5625
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 2/2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (คบศ.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบสรุปผลการประชุม คบศ. ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565
2. เห็นชอบตามมติ คบศ. ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ดังนี้
2.1 รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ตามข้อเสนอของ สศช. และทีมปฏิบัติการเชิงรุกทาบทามทั้งบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ
2.2 รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ตามข้อเสนอของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (สศส.) และกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
2.3 เห็นชอบใน (ร่าง) แผนพัฒนาและฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (ภูเก็ต พังงา กระบี่) ตามข้อเสนอของประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์) และ สศช.
2.4 เห็นชอบในหลักการแนวทางการเตรียมความพร้อมในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ (Specialised Expo) ในปี พ.ศ. 2571 ตามข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
2.5 เห็นชอบในหลักการแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายหลังผ่อนปรนมาตรการผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ตามข้อเสนอของ ททท.
3. เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (คสดช.) กำหนดองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของ คสดช. และให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นสำนักงานเลขานุการของ คสดช.
4. มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการตามมติ คบศ. และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป
สาระสำคัญของผลการประชุมและร่างระเบียบฯ
1. ผลการประชุม คบศ. ครั้งที่ 2/2565 มีสาระสำคัญ ดังนี้
สรุปผลการประชุม |
มติ คบศ. |
ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี |
||
1. เรื่องที่สำคัญ 1.1 สถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด (เสนอโดย สศช. และ ททท.) - สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2565 ชะลอตัวลงตามอุปสงค์ภายในประเทศ - สถานการณ์การท่องเที่ยวและความคืบหน้าในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่มปรับตัวดีขึ้นภายหลังการกลับมาดำเนินมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบ Test & Go ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดย ททท. ตั้งเป้าหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในปี 2565 จำนวน 5 - 15 ล้านคน และสร้างรายได้รวม 0.63 - 1.2 ล้านล้านบาท ภายหลังยกเลิกการเดินทาง Test & Go ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 |
- รับทราบตามที่ สศช. และ ททท. เสนอ |
- มอบหมายให้ภาครัฐและเอกชนนำข้อมูลที่นำเสนอมาใช้ประกอบการพิจารณาการดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ รวมทั้งการพิจารณาใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ฯลฯ |
||
2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย (เสนอโดย สศช. และทีมปฏิบัติการเชิงรุกทาบทามทั้งบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ) 2.1 การกำหนดประเภทการตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับผู้พำนักระยะยาว (LTR) เช่น การอนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศ การอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ได้รับวีซ่า LTR เข้าทำงาน และการรับรองคุณสมบัติของคนต่างด้าวที่มีสิทธิได้รับวีซ่า LTR 2.2 สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ได้รับสิทธิวีซ่า LTR เช่น การยกเว้นผู้ถือวีซ่า LTR ให้ไม่อยู่ในบังคับของข้อกำหนดอัตราส่วนการจ้างงานชาวไทยและชาวต่างชาติ 1 ต่อ 4 สิทธิประโยชน์ทางภาษี การกำหนดแนวทางปฏิบัติในการจัดช่องทางอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติที่ถือวีซ่า LTR และการให้สิทธิประโยชน์ด้านอสังหาริมทรัพย์ 2.3 แนวทางการบริหารจัดการโดยการจัดตั้ง คสดช. 2.4 การจัดหาตัวแทนจดทะเบียนเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการของมาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ซึ่งมีรูปแบบการบริหารงานเป็นองค์กรเอกชนภายใต้การควบคุมการดำเนินงานโดย คสดช. |
- รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย - เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. .... ฯลฯ |
- มอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่แต่ละจังหวัดดำเนินการ (1) ติดตามและจัดเก็บข้อมูลชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาอาศัยในประเทศไทยโดยเฉพาะที่มีลักษณะกลุ่มเป้าหมายของ LTR และ (2) ศึกษาและจัดเตรียมแนวทางในการให้ชาวต่างชาติที่ได้รับวีซ่า LTR ร่วมสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและประเทศไทย |
||
3. มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย (เสนอโดย สศส. และกรมการท่องเที่ยว) 3.1 การดำเนินการสร้างแรงจูงใจและอำนวยความสะดวก ได้แก่ การกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจลงตราให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน การปรับหลักเกณฑ์การตรวจคนเข้าเมืองให้เอื้อต่อการถ่ายทำภาพยนตร์ฯ การจัดตั้งศูนย์ One Stop Service และการปรับกระบวนการออกใบอนุญาตทำงานและหลักฐานประกอบการอนุญาตและการยกเว้นภาษีเงินได้ของนักแสดงต่างชาติที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย |
- รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ฯลฯ |
- มอบหมายให้ สศส. และ กรมการท่องเที่ยว ประสานกระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางติดตามดูแลและคัดกรองภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมต่อภาพลักษณ์ของประเทศ |
||
3.2 การจัดหาแหล่งงบประมาณที่ใช้สำหรับดำเนินมาตรการส่งเสริมฯ โดย สศส. ได้หารือร่วมกับสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็น (1) การปรับอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) เป็นร้อยละ 20 - 30 อัตราแบบขั้นบันไดสำหรับกองถ่ายฯ ที่มีค่าใช้จ่ายการถ่ายทำในประเทศเรื่องละ 50 ล้านบาทขึ้นไป และ (2) การตั้งวงเงินงบประมาณสำหรับมาตรการคืนเงิน | - มอบหมายให้กรมการท่องเที่ยวพิจารณาเพิ่มอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) ให้กับภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทยเป็นอัตราสูงกว่ากรณีทั่วไป | |||
4. (ร่าง) แผนพัฒนาและฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (ภูเก็ต พังงา กระบี่) [เสนอโดยประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์) และ สศช.] 4.1 วิสัยทัศน์และเป้าหมายการพัฒนา ให้เป็น “Amazing Thailand, Amazing Andaman เมืองท่องเที่ยวแห่งความสุข ยั่งยืน และแบ่งปัน” ประกอบด้วยเป้าหมาย (1) การท่องเที่ยวที่โดดเด่น มีความหนุนเสริมระหว่างกัน และมีคุณภาพสูง (2) การท่องเที่ยวที่เปิดโอกาสให้พื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการพัฒนา และ (3) การท่องเที่ยวที่มีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4.2 ยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนา ประกอบด้วย - ยุทธศาสตร์ที่ 1 การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง - ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีความพร้อม มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ - ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชนและธุรกิจรายย่อย - ยุทธศาสตร์ที่ 4 การส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของจังหวัดให้หนุนเสริมและเชื่อมโยงกันภายในคลัสเตอร์ (Cluster) - ยุทธศาสตร์ที่ 5 การยกระดับการบริหารจัดการพื้นที่ให้มีคุณภาพและความยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ และการมีส่วนร่วมของพื้นที่ 4.3 การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว การส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพเป้าหมาย และการสนับสนุนความร่วมมือกับภาคเอกชนและประเทศที่มีศักยภาพ 4.4 การขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย (1) กลไกระดับนโยบาย โดยคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) และ (2) กลไกการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ โดยคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน |
- เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาและฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (ภูเก็ต พังงา กระบี่) และรับทราบความคืบหน้าของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจังหวัดภูเก็ตสู่การเป็น Wellness Touris World Class Destination ฯลฯ |
- มอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติรับข้อเสนอแนวทางการพัฒนาและฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (ภูเก็ต พังงา กระบี่) และเร่งดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความพร้อมให้กับพื้นที่เป้าหมาย ฯลฯ |
||
5. การเตรียมความพร้อมในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ (Specialised Expo) ในปี พ.ศ. 2571 [เสนอโดย ททท. สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต] 5.1 การเสนอของงบประมาณดำเนินโครงการ EXPO 2028 - Phuket, Thailand โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณจากงบรายจ่ายงบกลางรวม 93.31 ล้านบาท 5.2 การประมาณการค่าใช้จ่ายในการเตรียมความพร้อมรองรับกิจกรรมสำรวจพื้นที่เชิงลึก (Enquiry Mission) ของคณะกรรมการ BIE ณ จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 25 - 29 กรกฎาคม 2565 โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณจากงบรายจ่ายงบกลางรวม 60 ล้านบาท 5.3 การเสนอของบประมาณการดำเนินงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณจากงบรายจ่ายงบกลางรวม 30 ล้านบาท |
- เห็นชอบแนวทางการเตรียมความพร้อมในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ (Specialised Expo) ในปี พ.ศ. 2571 ณ จังหวัดภูเก็ต ฯลฯ |
- มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ประสานกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และผลักดันการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ (Specialised Expo) ของประเทศไทยผ่านช่องทางการทูตและในการประชุมระดับนานาชาติ |
||
6. แนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายหลังผ่อนปรนมาตรการผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร (เสนอโดย ททท.) 6.1 การขยายมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ได้แก่ ขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการทัวร์เที่ยวไทยเป็นสิ้นสุดเดือนกันยายน 2565 และเพิ่มจำนวนสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันอีกจำนวน 1.5 ล้านสิทธิ 6.2 การส่งเสริมการท่องเที่ยวในปี 2565 - 2566 ภายใต้แนวคิด “Visit Thailand Year 2022: Amazing New Chapter” 6.3 การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพมหานครผ่านโครงการ “Unfolding Bangkok” เช่น กิจกรรม Sound of the city, Greeting Bangkok, Vivid Chaopraya, Living Hualampong เป็นต้น |
- เห็นชอบในหลักการแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายหลังผ่อนปรนมาตรการผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ฯลฯ |
- มอบหมายให้ ททท. ศึกษาวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลผู้ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวโดยจำแนกตามขนาดของธุรกิจ ฯลฯ |
2. ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย เรียกโดยย่อว่า “คสดช.” ประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ เป็นต้น (ร่างข้อ 4)
2.2 กำหนดให้ คสดช. มีหน้าที่และอำนาจ ได้แก่กำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ และผลักดันนโยบายการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยในลักษณะของผู้พำนักระยะยาว (Long-term Resident) กำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ เงื่อนไข และวิธีการรับ เพิกถอน และยกเลิกการจดทะเบียนตัวแทน รวมทั้งกำหนดขอบเขตการดำเนินงาน วิธีการมาตรฐาน และอัตราค่าบริการ รวมทั้งตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของตัวแทนจดทะเบียนและพิจารณาปัญหาของหน่วยงานของรัฐ ตัวแทนจดทะเบียน และคนต่างด้าวในการดำเนินการตามระเบียบนี้ เป็นต้น (ร่างข้อ 6)
2.3 กำหนดให้ สกท. เป็นสำนักงานเลขานุการของ คสดช. โดยมีหน้าที่และอำนาจ เช่น ปฏิบัติงานในฐานะฝ่ายเลขานุการ รวมถึงเป็นฝ่ายวิชาการ รับผิดชอบงานประชุม งบประมาณดำเนินการ รับผิดชอบงานธุรการทั่วไปของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่คณะกรรมการแต่งตั้ง เป็นต้น (ร่างข้อ 8)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 24 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5833