การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 25 May 2022 12:19
- Hits: 5211
การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 18 ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 และสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เสนอ
เรื่องเดิม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 17) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 และสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศ
การดำเนินงานที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใกล้จะสิ้นสุดลง ศปก.ศบค. ได้จัดการประชุมเพื่อประเมินและกลั่นกรองการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม 2565 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล และได้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565 มีมติเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไปด้วยแล้ว โดยมีเหตุผลและความจำเป็นตามสรุปสาระสำคัญของการประชุมรายละเอียด ดังนี้
1. กรมควบคุมโรคได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด ดังนี้
1.1 สถานการณ์ในระดับโลก มีแนวโน้มระดับความรุนแรงลดลง และจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในอัตราคงที่ โดยหลายประเทศได้เน้นไปที่การมีมาตรการกระตุ้นให้ประชาชนฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงที่เกิดจากการติดเชื้อ และรณรงค์การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ
1.2 สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ปรากฏจังหวัดที่มีอัตราผู้ป่วยครองเตียงเกินร้อยละ 50 แต่อย่างใด แต่ยังคงปรากฏผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่มีความเสี่ยง อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกรณีกลับมาเปิดภาคเรียนตามปกติในสถานศึกษา (On site) ทั่วประเทศในห้วงเดือนพฤษภาคม 2565
2. สำหรับแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดในห้วง 1 - 2 เดือนต่อจากนี้เป็นช่วงที่ยังคงต้องมีการคงไว้ซึ่งมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคต่อไปอีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศไทยผ่านเกณฑ์การประเมินในการกำหนดให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นตามที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด และยังมีความจำเป็นต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการบูรณาการการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทางด้านสาธารณสุขที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนในการปรับมาตรการป้องกันโรคอย่างค่อยเป็นค่อยไปเมื่อสามารถผ่านเกณฑ์การประเมินการเป็นโรคประจำถิ่น
3. มติของที่ประชุม ที่ประชุมมีความเห็นว่า ยังคงมีความจำเป็นจะต้องใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อไปอีกคราวหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในประเทศไทยยังไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินในการกำหนดให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นตามที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด และเพื่อประโยชน์ในการบูรณาการการปฏิบัติงานและการดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความต่อเนื่อง จึงเห็นสมควรให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปในคราวที่ 18 เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 24 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5832