(ร่าง) แผนการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมระดับชาติ (พ.ศ. 2664 – 2580) และแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ภายใต้แผนฯ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 – 2565) และระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 19 May 2022 11:18
- Hits: 5882
(ร่าง) แผนการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมระดับชาติ (พ.ศ. 2664 – 2580) และแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ภายใต้แผนฯ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 – 2565) และระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม (คณะกรรมการฯ) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) แผนการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมระดับชาติ (พ.ศ. 2664 – 2580) (แผนฯ) และแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ภายใต้แผนฯ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 – 2565) และระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) (แผนปฏิบัติการภายใต้แผนฯ)
2. เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนฯ และแผนปฏิบัติการภายใต้แผนฯ ไปดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการฯ รายงานว่า
1. ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนาในทุกด้าน ทั้งภาคการเกษตร ภาคการผลิต และภาคการบริการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ประกอบอาชีพหรือประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม (โรคฯ) ที่มีแนวโน้มและความรุนแรงสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคจากการประกอบอาชีพที่เกิดขึ้นได้ทันที หรือเกิดขึ้นภายหลังการประกอบอาชีพเป็นระยะเวลานาน รวมถึงโรคจากสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมลพิษหรือสิ่งปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ทั้งจากธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวิเคราะห์และจัดทำ (ร่าง) แผนฯ และแผนปฏิบัติการภายใต้แผนฯ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบและให้นำเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนแนวทางการเสนอแผนระดับที่ 3 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
2. สธ. ได้เสนอ (ร่าง) แผนฯ และแผนปฏิบัติการภายใต้แผนฯ ต่อ สศช. โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ในคราวประชุมครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนดังกล่าว และมีความเห็นให้ สธ. พิจารณาเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ
3. สธ. ได้รับความเห็นของสภาพัฒนาฯ ไปดำเนินการปรับปรุง (ร่าง) แผนฯ และแผนปฏิบัติการภายใต้แผนฯ และได้เสนอคณะกรรมการฯ รับทราบแล้วในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 โดยสาระสำคัญของ (ร่าง) แผนฯ และแผนปฏิบัติการภายใต้แผนฯ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ แบ่งการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 (ปี 2564 – 2565) ระยะที่ 2 (ปี 2566 – 2570) ระยะที่ 3 (ปี 2571 – 2575) และระยะที่ 4 (ปี 2576 – 2580) ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการภายใต้แผนฯ ที่เสนอในครั้งนี้ครอบคลุมการดำเนินงานแค่ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เท่านั้น มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
(ร่าง) แผนการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมระดับชาติ (พ.ศ. 2664 – 2580) และแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ภายใต้แผนฯ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 – 2565) และระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570)
วิสัยทัศน์ “ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี ด้วยการป้องกันควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม (โรคฯ) ที่มีประสิทธิภาพ ภายในปี 2580”
เป้าประสงค์ สามารถลดการเกิดโรคฯ ในประเทศไทยอย่างบูรณาการและมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีระบบเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคฯ ที่มีประสิทธิภาพ และมีการให้บริการอาชีวเวชกรรมและเวชกรรมสิ่งแวดล้อม (บริการฯ) ที่ได้มาตรฐาน
พันธกิจ 1. ยกระดับระบบเฝ้าระวังโรคฯ ให้มีประสิทธิภาพ 2. กำกับดูแลให้บริการฯ ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานเดียวกันอย่างเป็นธรรม 3. สนับสนุน/เร่งรัดมาตรการป้องกันและควบคุมโรคฯ ของภาคส่วนต่างๆ
วัตถุประสงค์ 1. เพื่อใช้ในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานดูแลสุขภาพผู้ประกอบอาชีพและผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษสิ่งแวดล้อม ด้วยการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคฯ ที่มีประสิทธิภาพ และใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน 2. เพื่อใช้ในการติดตาม และประเมินผลแผนการดำเนินงาน 3. เพื่อวิเคราะห์ รวบรวมข้อมูลวิชาการที่สำคัญที่ได้จากการเสนอในระดับนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาสุขภาพผู้ประกอบอาชีพ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษสิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการป้องกันควบคุมโรคฯ
กลยุทธ์ - ผลักดันนโยบาย/มาตรการป้องกันควบคุมโรคฯ โดยพัฒนามาตรการเฝ้าระวัง เน้นจัดการที่แหล่งกำเนิด/ค่ามาตรฐานมลพิษ/มาตรการทางการเงินการคลังและกฎหมาย* - พัฒนาระบบบริหารจัดการและกลไกขับเคลื่อนการป้องกันควบคุมโรคฯ เช่น ใช้กลไก Social Responsibility (BCG, CSR)/พัฒนาบุคลากร สนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์/ส่งเสริมการกระจายอำนาจการบริหารจัดการสู่ท้องถิ่น ฯลฯ
ตัวชี้วัด จำนวนนโยบาย/มาตรการที่ได้รับการพัฒนาและขับเคลื่อน โดยมุ่งเน้นโรคที่กำหนดในพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การขับเคลื่อนการป้องกันควบคุมโรคฯ แบบบูรณาการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
กลยุทธ์ - พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อรองรับการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคฯ ให้พร้อมใช้งานในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมถึงรองรับการเชื่อมต่อทุกอุปกรณ์ ทุกที่ทุกเวลา – ขับเคลื่อนกลไกการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคฯ เชิงบูรณาการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้าน Big Data/ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐและมหาวิทยาลัย
ตัวชี้วัด – ระดับความสำเร็จของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ ที่เหมาะสมและพร้อมใช้งานในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง/การบูรณาการระบบข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ด้านโรคฯ – การพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ด้านดิจิทัลระดับสากล
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การควบคุมกำกับบริการฯ
กลยุทธ์ – พัฒนาและยกระดับมาตรฐานการให้บริการฯ งานวิจัย และ Public Health Laboratory รวมถึงระบบบริการตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน – สร้างระบบประเมิน กำกับ รับรองคุณภาพมาตรฐานการให้บริการฯ โดยให้มีการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ – ขยายความครอบคลุมและเพิ่มการเข้าถึง บริการฯ ที่มีคุณภาพและเป็นธรรม โดยพัฒนาความร่วมมือกับเครือข่ายและรูปแบบบริการนอกหน่วยบริการสุขภาพ/พัฒนาระบบบริการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคฯ กลุ่มอาชีพอิสระ ผู้สูงอายุ
ตัวชี้วัด – การมีมาตรฐานการให้บริการฯ ที่มีคุณภาพและเป็นธรรม – ร้อยละของการเข้าถึง บริการฯ และความครอบคลุมของการให้บริการฯ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันควบคุมโรคฯ
กลยุทธ์ – สร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการป้องกันควบคุมโรคฯ โดยใช้กลไกคณะอนุกรรมการ (ให้ภาคประชาชนและเครือข่ายมีส่วนร่วม)/พัฒนาช่องทางให้ภาคประชาชนทำงานร่วมกับภาครัฐ เช่น แจ้งเหตุ แลกเปลี่ยนข้อมูล/ขับเคลื่อนงานตามพันธสัญญาและอนุสัญญานานาชาติ/เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน – เสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการความรู้ สื่อสาร วิจัย และพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับการป้องกันควบคุมโรคฯ
ตัวชี้วัด – จำนวนนวัตกรรม/แนวทางการมีส่วนร่วมในการควบคุมโรคฯ – มีกลไก/ช่องทางให้ประชาชนทำงานร่วมกับภาครัฐ - ร้อยละของประชาชนที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาวะ มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์
* หมายเหตุ : มีแนวทางดำเนินการที่สำคัญ เช่น (1) ขับเคลื่อนนโยบายให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบ (2) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตราย มลพิษ และการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดินอย่างยั่งยืน โดยพัฒนามาตรการติดตาม เฝ้าระวัง ตรวจสอบการปนเปื้อนโลหะหนัก/ศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสมลพิษทางอากาศ (PM2.5)/ออกประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร 2 ชนิด (พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส) (3) สนับสนุนอุตสาหกรรมต้นแบบที่เป็นมิตรกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และ (4) ส่งเสริมให้มีมาตรการทางภาษีเพื่อให้มีบริการส่งเสริมสุขภาพ/ป้องกันโรคให้กับแรงงาน เป็นต้น
4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผนฯ ได้แก่ หน่วยงานภายในของ สธ. กระทรวง ต่างๆ (12 กระทรวง) ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุข สถาบันการศึกษา รวมถึงภาคเอกชน NGOs และภาคประชาชน อาทิ สมาคม สภา ชมรม และมูลนิธิต่างๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย
5. ในส่วนของงบประมาณ ได้ประมาณการกรอบวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 2,448.64 ล้านบาท โดยจะตั้งรายการเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของแต่ละหน่วยงาน แบ่งเป็น
ปีงบประมาณ |
วงเงิน (ล้านบาท) |
หมายเหตุ |
พ.ศ. 2563 |
183.58 |
ใช้จ่ายจากงบประมาณประจำปีของแต่ละหน่วยงาน โดยไม่ได้ตั้งเบิกเป็นรายการดำเนินงานตามแผนฯ |
พ.ศ. 2564 |
531.75 |
|
พ.ศ. 2565 |
634.17 |
|
พ.ศ. 2566 – 2570 |
1,099.14 |
- |
รวม |
2,448.64 |
- |
6. การติดตามประเมินผล เช่น การพัฒนากลไกการติดตามประเมินผลรูปแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย (Joint Monitoring & Evaluation) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ และการจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะครึ่งแผน (พ.ศ. 2572) และระยะสิ้นสุดแผน (พ.ศ. 2580) เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เป็นต้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 17 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5604