แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2580)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 19 May 2022 11:04
- Hits: 6170
แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2580)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2580) และให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินงานด้านผู้สูงอายุนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
พม. รายงานว่า
1. ประเทศไทยได้เริ่มจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นแผนระยะยาว 20 ปี ครอบคลุมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 - 2544 ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการจัดทำและประกาศใช้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 - 2564) ซึ่งแผนดังกล่าวได้มีการปรับปรุงและติดตามประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะ โดยปัจจุบันได้ใช้แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2545 - 2565) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2563 เป็นกรอบและแนวทางปฏิบัติงานด้านผู้สูงอายุของประเทศ และจะสิ้นสุดภายในปี พ.ศ. 2565 ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยมีกรอบทิศทางการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุที่มีความต่อเนื่องและสอดคล้องกับบริบทของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุแห่งชาติ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2580) จึงถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบในการบูรณาการและการทำงานเชิงรุกเพื่อรองรับสังคมสูงวัยของประเทศไทยและนำไปสู่สัมฤทธิ์ผลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกรอบแนวคิดในการจัดทำแผนปฏิบัติการฉบับนี้จะเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในทุกระดับและได้นำข้อมูลจากการประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุแห่งชาติ ระยะที่ 2 มาประกอบกับการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ ได้แก่ สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม นโยบายที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน แนวโน้มทางประชากร และทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต และมีการกำหนดยุทธศาสตร์ มาตรการ เป้าหมาย และดัชนีชี้วัดไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งกำหนดให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในทุกๆ ระยะ 5 ปีของแผน เพื่อทราบความก้าวหน้า ปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงาน และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น
2. แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2580) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
1. วิสัยทัศน์ |
ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคม |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
2. วัตถุประสงค์ |
2.1 เพื่อให้มีกรอบและแนวทางปฏิบัติงานด้านผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสอดรับกับยุทธศาสตร์และแผนแม่บท อันจะก่อให้เกิดการบูรณาการแผนในทุกระดับ และนำไปสู่การขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุและการรองรับสังคมสูงวัยของหน่วยงานต่างๆ อย่างมีบูรณาการ 2.2 เพื่อเพิ่มคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้เพิ่มพูนศักยภาพของตนเองอย่างเต็มกำลังความสามารถ 2.3 เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ สภาพแวดล้อม การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม อันจะทำให้ดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า พึ่งพาตนเองได้ มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมและมีหลักประกันที่มั่นคงไปจนบั้นปลายของชีวิต 2.4 เพื่อรองรับสังคมสูงวัยเชิงรุก ด้วยการส่งเสริมให้ประชากรที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 25 - 59 ปีในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นผู้สูงอายุในอีก 1 - 35 ปีข้างหน้า ตระหนักและเตรียมการให้พร้อมเพื่อให้มีชีวิตที่ดีในยามสูงอายุ พร้อมที่จะยอมรับและร่วมมือกับผู้สูงอายุในการเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม หรือให้การเกื้อหนุนผู้สูงอายุในยามที่จำเป็น |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
3. แผนปฏิบัติการย่อย |
แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2580) แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้ 1) แผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนใน 5 ปีแรก (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยมีมาตรการและแนวปฏิบัติสำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาโครงการหรือกิจกรรม ตัวชี้วัดความสำเร็จของมาตรการในรูปของผลลัพธ์หรือผลกระทบโดยมีการกำหนดเป้าหมายในช่วง 5 ปีแรก ตลอดกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบในการขับเคลื่อนมาตรการตามแผนฯ เพื่อให้งานบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนด และ 2) แผนปฏิบัติการระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2566 - 2580) เพื่อให้เห็นภาพและทิศทางในระยะยาวของการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุและรองรับสังคมสูงวัยของประเทศให้เกิดความต่อเนื่องกับแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2545 - 2565) ซึ่งประกอบด้วยแผนปฏิบัติการย่อย 4 แผน ดังนี้
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
4. กลไกการบริหารจัดการแผนเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย |
4.1 คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติทำหน้าที่สร้างความรู้ความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญและร่วมผลักดันแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2580) ไปสู่การปฏิบัติ สร้างความเข้าใจกับภาคีทุกภาคส่วนทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดกิจกรรมในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์แผนฯ ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย 4.2 ส่งเสริมให้มีการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2580) กับแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุในระดับจังหวัดและในระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างมีบูรณาการในทุกระดับ 4.3 กำหนดให้กรมกิจการผู้สูงอายุเป็นหน่วยงานกลางในการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณแบบบูรณาการระหว่างกระทรวงและผลักดันให้จังหวัดและท้องถิ่นมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุในพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ 4.4 ส่งเสริมให้ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2580) ไปสู่การปฏิบัติ ทั้งในรูปของความรับผิดชอบต่อสังคมและการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
5. แนวทางและกลไกในการติดตามและประเมินผล |
5.1 ติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีกรมกิจการผู้สูงอายุเป็นศูนย์รวมข้อมูลผลการดำเนินงานรายปีในภาพรวมทั้งในส่วนของผลผลิตและผลลัพธ์ 5.2 นำเสนอผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2580) ต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นประจำทุกปี 5.3 จัดทำการประเมินผลการดำเนินงานทุก 5 ปี โดยหน่วยงานกลางหรือหน่วยงานภายนอกด้วยเช่นกัน เพื่อวัดสัมฤทธิ์ผลของแผน ทั้งผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบตามมาตรการของแผน หลังจากนั้นจึงนำเสนอผลต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุ 5.4 มีการปรับแผนเป็นระยะอย่างน้อย 5 ปี ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม เทคโนโลยีและนวัตกรรม และผลจากการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ |
3. แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุแห่งชาติ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2580) จัดเป็นแผนระดับ 3 ที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) มาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมสูงอายุ รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนเป็นสังคมสูงวัย ซึ่งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุแห่งชาติ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2580) และให้ พม. โดยกรมกิจการผู้สูงอายุนำเสนอแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุแห่งชาติ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 - 2580) ต่อคณะรัฐมนตรี และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 11/2564 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการต่อแผนปฏิบัติการดังกล่าว โดยมีความเห็นเพิ่มเติมให้ พม. เพิ่มจุดเน้นที่สำคัญ เช่น การเตรียมความพร้อมก่อนวัยสูงอายุควรเน้นเรื่องการพัฒนาระบบการออมภาคบังคับและการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาโครงการควรมีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและแผนงานในระดับสากลที่ประเทศไทยเกี่ยวข้อง เป็นต้น [พม. ได้ปรับปรุงแผนงานและโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนใน 5 ปีแรก (พ.ศ. 2566 - 2570) ตามความเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว] และให้ พม. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
_____________________________
1 ระบบบำนาญแห่งชาติ มีจุดประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้ของผู้สูงอายุ โดยครอบคลุมคนทำงานทุกคนทั้งในและนอกระบบประกันสังคมที่อยู่ในวัยสูงอายุ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15 - 60 ปี เพื่อให้แรงงานในระบบได้มีการออมเพื่อการเกษียณเพิ่มเติม นอกจากนี้ กบช. จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับระบบบำเหน็จบำนาญ เพื่อให้มีระบบข้อมูลสำหรับใช้ประโยชน์ในการยกระดับการบริหารจัดการระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุทั้งระบบ ทั้งนี้ สมาชิกของ กบช. สามารถเลือกรับบำนาญ 20 ปี หรือบำเหน็จเมื่ออายุครบ 60 ปี บริบูรณ์
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 17 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5603