ข้อเสนอสมัชชาสตรีระดับชาติ ปี 2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 19 May 2022 10:50
- Hits: 5768
ข้อเสนอสมัชชาสตรีระดับชาติ ปี 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอสมัชชาสตรีระดับชาติ ปี 2563 (ข้อเสนอสมัชชาสตรีฯ) เรื่อง การพัฒนากฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องในการขยายความคุ้มครองประกันสังคมกลุ่มแรงงานนอกระบบ เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปรับปรุงกฎหมาย ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอและให้กระทรวงแรงงาน (รง.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง
พม. รายงานว่า
1. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ข้อ 19 กำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาสถานภาพสตรี (กสส.) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการประชุมสมัชชาสตรีระดับจังหวัดและระดับชาติอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง โดยเป็นการรวมกลุ่มของสตรี องค์กรสตรี และภาคประชาชนจากทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และแนวทางในการส่งสเสริมและประสานงานสตรี และเพื่อส่งเสริม ประสานงาน ระดมความคิดเห็นและประสานงานแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาสตรี และข้อ 20 กำหนดให้ กสส. รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมสมัชชาสตรีระดับชาติ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย การบริหาร หรือการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย หรือระเบียบปฏิบัติต่อไป
2. กยส. (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธาน) ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ได้ทบทวนประเด็นข้อเรียกร้องจากการประชุมสมัชชาสตรีระดับชาติ ปี 2563 จำนวน 4 ประเด็น โดยมีข้อเสนอที่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นนโยบาย ยุทธศาสตร์หรือมาตรการได้ จำนวน 8 ประการ ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วและปรากฏว่ายังไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
ประเด็นข้อเรียกร้องและข้อเสนอ จากสมัชชาสตรีระดับชาติ |
ข้อเสนอที่สามารถพัฒนาไปสู่ การเป็นนโยบาย ยุทธศาสตร์ หรือมาตรการ |
ระดับของงาน/หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
||
1. สุขภาพของผู้หญิง |
||||
1) กำหนดนโยบายการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาและเอดส์ในโรงเรียนเพื่อเป็นแนวทางในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย |
กลไกการทำงานด้านครอบครัว ต้องได้รับการปรับเจตคติให้มีความเข้าใจและตระหนักต่อแนวคิดความสัมพันธ์ที่เป็นธรรมระหว่างหญิงชาย |
ระดับกิจกรรม - พม. |
||
2) มีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ที่มีบทบาทในการเลี้ยงดูเด็กให้มีความรู้ด้านพัฒนาการของเด็กทุกวัย |
ให้ความรู้เรื่องพัฒนาการของเด็กแก่ผู้เลี้ยงดูเด็กที่ไม่ได้อยู่ในระบบ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือผู้รับเลี้ยงเด็กตามบ้าน |
ระดับกิจกรรม - กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) - กระทรวงมหาดไทย (มท.) |
||
2. การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ |
||||
สนับสนุนการกำหนดมาตรการส่งเสริมศักยภาพสตรีให้มีความรู้และมีคุณสมบัติเพียงพอ และสนับสนุนให้สตรีเข้ามาปฏิบัติหน้าที่และตำแหน่งตามความสามารถ |
กำหนดมาตรการหรือสัดส่วนให้ผู้หญิงมีโอกาสเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการของชุมชน |
ระดับนโยบาย (กระทรวง) - มท. (สามารถดำเนินการได้เองเป็นนโยบายระดับกระทรวง) |
||
3. งานของผู้หญิง |
||||
1) กำหนดนโยบายให้ผู้หญิงเข้าถึงการประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนในแรงงานทุกอาชีพ (ทั้งในระบบและนอกระบบ) |
การพัฒนากฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องในการขยายการคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ |
ระดับนโยบาย (ประเทศ) - รง. |
||
2) พัฒนาเทคโนโลยีในการทำงานเพื่อส่งเสริมอาชีพสำหรับกลุ่มสตรี (เช่น เครื่องทุ่นแรงในงานช่าง เป็นต้น) |
ยกระดับอาชีพของสตรีให้สามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการทำงานทุกระดับ |
ระดับกิจกรรมม - รง. - พม. - มท. |
||
4. ความรุนแรงต่อผู้หญิง |
||||
1) ส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและป้องกันปัญหาการข่มขืน การล่วงละเมิดทางเพศเด็กและสตรี รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนศูนย์ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ให้เข้มแข็ง |
การยกระดับ “แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ” เป็นวาระแห่งชาติ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของหน่วยงาน/องค์กรทุกภาคส่วน (คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564) |
ระดับนโยบาย (ประเทศ) - พม. (ดำเนินการแล้ว) |
||
2) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กในโรงเรียน |
สร้างเครือข่ายการทำงานทุกภาคส่วนเพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงอย่างบูรณาการ |
ระดับนโยบาย - กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) (ดำเนินการแล้ว) |
||
3) ให้ปัญหาความรุนแรงที่ผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำเป็นความรุนแรงที่มีความเปราะบางเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขี้นกับเด็กหญิงและผู้หญิง และสร้างระบบที่มีความละเอียดอ่อนในการคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กหญิงและผู้หญิง |
จัดทำระบบข้อมูลความรุนแรงต่อผู้หญิง |
ระดับกิจกรรม - พม. |
ทั้งนี้ ที่ประชุม กยส. เห็นว่า ข้อเสนอจากสมัชชาสตรีฯ ส่วนใหญ่มีหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งในระดับกิจกรรมและระดับนโยบาย ยกเว้นข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องในการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้การพัฒนากฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องในการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ [ประเด็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับงานของผู้หญิง ข้อเสนอกำหนดนโยบายให้ผู้หญิงเข้าถึงการประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนในแรงงานทุกอาชีพ (ทั้งในระบบและนอกระบบ)] เป็นประเด็นที่จะพัฒนาไปสู่นโยบาย ยุทธศาสตร์ หรือมาตรการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและปรับปรุงกฎหมาย และเห็นชอบให้ รง. เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเพื่อขยายการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ รวมทั้งมอบหมายให้ พม. เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
3. ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563 พบว่าแรงงานนอกระบบเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 53.8 ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด (20.4 ล้านคน) ในจำนวนนี้มีผู้หญิงอยู่เกือบครึ่งหนึ่ง (9.2 ล้านคน) โดยเฉพาะในภาคการค้าและการบริการ และแม้ว่าแรงงานนอกระบบจะเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่แรงงานนอกระบบเหล่านี้ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน อาทิ ความปลอดภัยในการทำงาน หลักประกันทางสังคม ตลอดจนการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรองเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ดังนั้น การพัฒนากฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองและขยายการประกันสังคมให้ครอบคลุมและเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มแรงงานนอกระบบ จะนำไปสู่การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม สร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสม โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่เป็นสตรี ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ประเด็นยุทธศาสตร์การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 17 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5602