(ร่าง) แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว (พ.ศ. 2565 – 2580)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 18 May 2022 23:59
- Hits: 5777
(ร่าง) แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว (พ.ศ. 2565 – 2580)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว (แผนพัฒนาประชากรฯ) (พ.ศ. 2565 – 2580) เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. รายงานว่า
1. บริบทการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการพัฒนาด้านประชากร สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
1.1 สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทั่วโลกเป็นทั้งอุปสรรคและโอกาสสำหรับประเทศไทย |
- องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2050 ประชากรโลกที่อายุมากกว่า 65 ปี จะมีมากกว่า 1,500 ล้านคน1 (คิดเป็นร้อยละ 15.46 ของประชากรโลก) ส่งผลให้ความต้องการสินค้าและบริการเปลี่ยนแปลงไปสู่สินค้าที่ตอบสนองผู้สูงอายุมากขึ้น - มีแนวโน้มที่แรงงานต่างด้าวในไทยจะกลับประเทศและเกิดการแย่งชิงแรงงานทักษะสูง (Talent war) เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการทำงานแบบออนไลน์มากขึ้นในทุกสายงาน ซึ่งเอื้อต่อการจ้างงานโดยไม่ต้องย้ายประเทศ |
|
1.2 ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีส่งผลให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น แต่อาจก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มประชากรมากขึ้น |
- ผู้ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์มักเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้สูง - ผู้สูงอายุหรือเกือบจะสูงวัยมีข้อจำกัดในการปรับตัวด้านสมรรถนะทางเทคโนโลยี - ระบบอัตโนมัติ/ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจถูกพัฒนาให้สามารถทดแทนแรงงานมนุษย์ - ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การเสพสื่อมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสามารถสร้างโอกาสการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง แต่อาจเข้ามาควบคุมการใช้ชีวิตผ่านการเสพสื่อเพียงบางด้านจากการทำงานของอัลกอริทึมที่อยู่เบื้องหลัง รวมถึงอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตด้วย |
|
1.3 แนวคิดการดำเนินชีวิตของประชากรรุ่นใหม่ |
ประชากรเจเนอเรชั่นวาย (เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2524 - 2539) และหลังจากนั้นจะเป็นกำลังแรงงานหลักในอนาคต และอาจผลักดันคุณค่าใหม่ๆ อาทิ ความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน ความเท่าเทียมทางเพศ ให้เกิดได้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น |
|
1.4 ครอบครัวที่ไม่มีบุตรและอยู่คนเดียวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น |
ในอนาคตสัดส่วนครอบครัวคู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตร หรือครัวเรือนคนเดียวจะมีสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งรวมถึงครอบครัวที่มีรูปแบบหลากหลาย เช่น ครอบครัวเพศเดียวกัน2 ครอบครัวแม่/พ่อเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวข้ามรุ่น เป็นต้น |
|
1.5 ผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 |
เกิดการหดตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งสะท้อนจุดอ่อนสำคัญของสวัสดิการสังคมทั้งระบบสุขภาพ ระบบการศึกษา และระบบความคุ้มครองทางสังคมโดยส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อกลุ่มที่มีความเปราะบางในสังคม รวมทั้ง ยังส่งผลต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะการปิดโรงเรียน ที่อาจจะสร้างผลกระทบทางการเรียนรู้ให้กับเด็กในระยะยาว และส่งผลต่อการหลุดจากระบบการศึกษา |
|
1.6 ประเด็นอื่นๆ |
• ประชากรมีแนวโน้มจะอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากขึ้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบจากการเป็นเมือง อาทิ ความแออัด และความครอบคลุมของบริการ • การเป็นประชาคมอาเซียนและการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรียิ่งขึ้น และเกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น • การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการอพยพย้ายถิ่นในพื้นที่ลุ่มน้ำ และอาจทวีความรุนแรงต่อการเกิดโรค |
2. ภาพอนาคตประชากรไทยในระยะยาว สรุปได้ ดังนี้
2.1 ประชากรรวมจะยังคงเพิ่มขึ้นอยู่และจะเพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2571 ที่มีจำนวนสูงสุดที่ 67.19 ล้านคน จากนั้นตั้งแต่ปี 2572 เป็นต้นไป จำนวนประชากรรวมจะลดลง และในปี 2580 วัยเด็กจะมีสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 14.3 แต่ผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.85
2.2 การขาดแคลนแรงงานในอนาคต เนื่องจากโครงสร้างประชากรวัยแรงงานจะลดลงกว่า 3 ล้านคนในทุก 10 ปี ในขณะที่ความต้องการแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 37.55 ล้านคนในปี 2560 เป็น 44.71 ล้านคนในปี 2580 โดยทางออกหนึ่งคือ การใช้ระบบอัตโนมัติในการทดแทนแรงงาน
2.3 สัดส่วนผู้สูงอายุหญิงเพิ่มขึ้น เมื่ออายุยิ่งมากขึ้น เนื่องจากเพศหญิงมีอายุยืนกว่าเพศชาย อีกทั้ง ผู้สูงอายุจำนวนมากยังมีระดับการศึกษาต่ำ ซึ่งนำไปสู่ความเปราะบางที่จะถูกทดแทน และความท้าทายในการยกระดับทักษะ
2.4 อัตราสูงวัยในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น
2.5 การเพิ่มขึ้นของประชากรเจเนอเรชั่น Alpha (เกิดในช่วง พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป) อย่างเป็นนัยสำคัญ ซึ่งประชากรกลุ่มนี้ใช้ชีวิตตามความต้องการของตัวเอง เนื่องจากมีพลังความรู้ความสามารถที่มาก ขณะเดียวกันก็มีความสนใจที่อยากเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสรรค์ให้โลกนี้ดีขึ้น แต่การอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไปอาจทำให้คนกลุ่มนี้ขาดปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อมนุษย์คนอื่นเท่าที่ควร ทำให้มีความเข้าใจระหว่างกันน้อยลง ไม่เคารพซึ่งกันและกัน จึงจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ต้องหาแนวทางตั้งรับอย่างเหมาะสม
3. กระบวนทัศน์ที่ต้องเปลี่ยนแปลงจากประเด็นด้านประชากรที่เปลี่ยนไป
- อุตสาหกรรมในอนาคตที่มีความก้าวหน้าและเพิ่มมูลค่าได้สูงมิได้อยู่บนฐานการใช้แรงงานทักษะจำนวนมาก
- ความต้องการระบบการเรียนรู้แบบใหม่ที่เหมาะกับคนทุกเจเนอเรชั่นด้วยบริบทและทุนทางเทคโนโลยีที่ต่างกัน
- รัฐต้องพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการและดึงดูดแรงงานทักษะสูงให้เข้ามาทำงานร่วมกับคนไทย
- รัฐต้องพัฒนาสมรรถนะคนทุกระดับให้มีความเข้าใจ/ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสามารถติดตาม/จัดการกับภัยคุกคามในโลกดิจิทัลได้
4. กรอบแนวทางการพัฒนาประชากร
ให้ความสำคัญกับคุณภาพหลัก 3 ด้าน ได้แก่ (1) การเกิดอย่างมีคุณภาพ (2) การอยู่อย่างมีคุณภาพและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และ (3) การแก่และตายอย่างมีคุณภาพ โดยต้องมีวาระการพัฒนาบนฐานของกระบวนทัศน์ใหม่ และคำนึงถึงอิทธิพลของเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย และเจเนอเรชั่น ที่จะส่งผลให้การดำรงชีวิตของประชากรในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โดยบางมาตรการต้องจัดทำเพื่อพลิกโฉมการพัฒนาในบางประเด็น จึงจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคประชาชนหรือวิสาหกิจเพื่อสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อให้สามารถเร่งการพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ รวมถึงหากสภาวการณ์ด้านสุขภาวะและระบบเกื้อหนุนทางสังคมของผู้สูงอายุที่ค่อนข้างเปราะบางยังเป็นดังเช่นปัจจุบัน จะทำให้ภาระการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ รวมทั้งระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทางงบประมาณสูงสุด นอกจากนี้ อัตราการสูงวัยและบริบทการพัฒนามีความแตกต่างกันตามพื้นที่ จึงควรพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นเพื่อให้จัดการในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิผล รวมทั้งการส่งเสริมระบบสวัสดิการร่วมจ่าย เพื่อลดภาระการคลังภาครัฐในอนาคต
5. สาระสำคัญของแผนพัฒนาประชากรฯ (พ.ศ. 2565 - 2580) มี ดังนี้
วิสัยทัศน์
ประเทศไทยมีประชากรที่เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักยภาพในการร่วมยกระดับการพัฒนาประเทศ
เป้าประสงค์
• ประชากรไทยได้รับการพัฒนาตามศักยภาพสูงสุดและมีคุณภาพสอดรับกับบริบทการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของการมีทักษะที่สอดรับกับโลกในศตวรรษที่ 21
• ประชากรไทยมีความมั่นคงทางรายได้และทรัพย์สินเพียงพอตลอดช่วงชีวิต
• มีระบบคุ้มครองทางสังคมที่สร้างความมั่นคงในชีวิตขณะที่มีความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว
ตัวชี้วัด
• ดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HDI) มีค่าคะแนนมากกว่า 0.90
• อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีไม่น้อยกว่า 75 ปี
• ดัชนีคุณภาพภาวะประชากรสูงอายุไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70
• ผลิตภาพการผลิตรวมเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ต่อปี
ยุทธศาสตร์การพัฒนาและประเด็นแนวทางการพัฒนา ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ |
||||
ประเด็นแนวทางการพัฒนา |
ตัวอย่างแนวทางการพัฒนา |
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
||
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ และพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการมีและเลี้ยงดูบุตร |
||||
1.1 ผลักดันประเด็นการพัฒนา ครอบครัวเป็นวาระสำคัญของชาติ |
พัฒนาแนวความคิดและทัศนคติด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับชาติผ่านกลไกสถาบันครอบครัว เช่น ค่านิยมการยอมรับความเห็นต่าง |
สศช. คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ |
||
1.2 เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจสำหรับการมีบุตรและการดูแลครอบครัว |
พัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลในการเลี้ยงดูบุตร และจัดให้มีระบบพี่เลี้ยงชุมชน และเพิ่มบทบาทวิชาชีพต่างๆ ให้เป็นกลไกในการพัฒนา |
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) |
||
1.3 สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและการดูแลครอบครัวรวมถึงระบบสนับสนุนครอบครัวหลากหลายรูปแบบ |
- สนับสนุนวันลาเพื่อการดูแลครอบครัว อาทิ วันลาเพื่อดูแลบุตรหลังคลอดสำหรับผู้ชาย - แก้ไขกฎหมายสำหรับการมีครอบครัวหลากหลายรูปแบบอย่างเท่าเทียม |
กระทรวงแรงงาน (รง.) สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานไทย สถานประกอบการ |
||
1.4 จัดหาสิทธิประโยชน์ในการจูงใจและลดภาระจากการมีบุตร |
- จัดทำกลุ่มสิทธิประโยชน์สำหรับครอบครัวที่คลอดบุตรทั้งด้านการเงินและบริการดูแลบุตร - ตั้งกองทุนภาคสมัครใจสำหรับแบ่งเบาภาระในการดูแลสมาชิกในครอบครัว |
พม. รง. |
||
1.5 ส่งเสริมการมีบุตรในกลุ่มประชากรที่ต้องการมีบุตรหรือกลุ่มผู้มีบุตรยาก |
กำหนดให้การมีบุตรไม่ได้ด้วยตนเองหรือมีบุตรยากเป็นภาวะโรคหรือทุพพลภาพ เพื่อให้สามารถใช้สิทธิสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ |
กระทรวงการคลัง (กค.) พม. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) |
||
1.6 สร้างศูนย์ดูแลและพัฒนาเด็ก เล็กที่มีคุณภาพ |
สร้างและพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก และสถานรับเลี้ยงเด็ก (0 - 2 ปี) ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยมีครูพี่เลี้ยงที่มีใบอนุญาต มีองค์กรกำกับและบริหารจัดการ และระบบติดตามการดำเนินงาน |
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคประชาสังคม UNICEF |
||
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การพัฒนายกระดับผลิตภาพประชากร |
||||
2.1 ส่งเสริมระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ |
- ยกระดับระบบการศึกษาให้มีสมรรถนะพื้นฐานสำหรับศตวรรษที่ 21 อาทิ การสร้างทัศนคติด้านการเติบโต (growth mindset) - ขยายความครอบคลุมด้านอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ทางออนไลน์อย่างเหมาะสมและเท่าเทียม |
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวง มหาดไทย (มท.) ศธ. อปท. สถาบันอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) |
||
2.2 พัฒนารูปแบบของระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ชัดเจน |
พัฒนาระบบข้อมูลและการจัดกลุ่มทักษะ (Skill dusters)/ และจัดทำฐานข้อมูลตลาดแรงงาน และการวิเคราะห์อาชีพจำเป็นใหม่ๆ |
รง. ศธ. ศูนย์การศึกษานอก โรงเรียน สถาบันอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) |
||
2.3 เพิ่มกำลังและคุณภาพแรงงานให้กับประชากรกลุ่มเปราะบาง |
- ส่งเสริมการจ้างงานตามสมรรถนะ เพื่อลดข้อจำกัดและอคติด้านอายุ - พัฒนาและบูรณาการรูปแบบการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะในลักษณะที่ครอบคลุมหลายมิติ |
พม. รง. ศธ. สธ. อปท. กสศ. |
||
2.4 รักษาคนไทยที่มีศักยภาพสูง (Talent) ให้ทำงานให้กับประเทศ |
- สนับสนุนแหล่งทุนสำหรับธุรกิจเพื่อสังคมและเปิดโอกาสให้ดำเนินโครงการของรัฐ - พัฒนาโครงสร้างการบริหารจัดการแรงงานทักษะสูง |
อว. ดศ. กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงาน ก.พ. |
||
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การยกระดับความมั่นคงทางการเงิน |
||||
3.1 ส่งเสริมให้ประชากรมีความมั่นคงทางการเงิน |
- ส่งเสริมการออมและนวัตกรรมทางการเงินสำหรับประชากรทุกกลุ่ม - จัดทำระบบการออมภาคบังคับ โดยเพิ่มการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าบัญชีการออมของผู้บริโภค |
กค. ศธ. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันการเงิน กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ |
||
3.2 การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน |
- พัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมรายบุคคล - วางกลไกการให้คำแนะนำและช่วยเหลือครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบ และมีประกันภัยพื้นฐานในการพยุงระดับรายได้ครัวเรือน |
กค. มท. ธนาคารแห่งประเทศไทย |
||
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อลดการตายก่อนวัยอันควร และมีระบบดูแลระยะยาวและช่วงท้ายของชีวิต |
||||
4.1 ยกระดับศักยภาพให้คนทุกกลุ่มทุกวัยมีความรอบรู้ด้านสุขภาวะสามารถป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามต่อสุขภาวะ |
- ใช้เศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมรวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ - ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาให้ครอบคลุมความรู้ด้านสุขภาพ รวมทั้งการพัฒนาพฤติกรรมการสร้างสุขภาวะที่ดี |
ศธ. สธ. อปท. |
||
4.2 พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ |
- พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิตที่เชื่อมโยงการบริการสังคมและการแพทย์ - สนับสนุนการวางแผนดูแลสุขภาพในวัยสูงอายุ ระบบพิทักษ์ทรัพย์สินผู้สูงอายุ |
สธ. อปท. |
||
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพกับทุกกลุ่มวัย |
||||
5.1 พัฒนาสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและเหมาะสมกับคนทุกกลุ่ม |
ศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในลักษณะความปกติต่อไป (Next Normal) ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาวะในมิติใหม่ |
มท. อปท. |
||
5.2 เพิ่มและกระจายพื้นที่สาธารณะให้มีความทั่วถึง |
จูงใจให้องค์กรภาคส่วนต่างๆ ดำเนินการเพิ่ม และกระจายพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวเพื่อให้เอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์ |
สธ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อปท. |
||
5.3 พัฒนาชุมชนเป็นพื้นที่แห่งคุณภาพชีวิตที่ดี |
นำร่องพื้นที่แห่งการเรียนรู้ระดับตำบล ในมิติด้านสภาพแวดล้อม ความเสมอภาค และการส่งเสริมการทำงานและการเป็นผู้ประกอบการที่ดี ตลอดจนนำกลไกใหม่ๆ มาปรับใช้ เช่น Social credit system |
รง. สธ. อปท. |
||
ยุทธศาสตร์ที่ 6 : การบริหารจัดการด้านการย้ายถิ่น |
||||
6.1 เสริมสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ |
- กระจายอำนาจด้านการบริหารไปสู่ อปท. เพิ่มขึ้น เพื่อจัดทำบริการสาธารณะตามความต้องการของพื้นที่ - สนับสนุนการวิจัยให้เกิดการพัฒนาและต่อยอด รวมทั้งสร้างงานใหม่ๆ ในพื้นที่ |
อว. มท. อปท. |
||
6.2 ดึงดูดคนไทยทักษะสูงในต่างประเทศและคนต่างชาติทักษะสูงให้เข้ามาทำงานในประเทศ |
- ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ให้นักศึกษาต่างชาติที่มีความสามารถสูงทำงานต่อได้หลังจบการศึกษา การกำหนดโควตาการนำเข้าแรงงานกลุ่มทักษะต่ำให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ - จูงใจแรงงานไทยทักษะสูง โดยทำการตลาดเชิงรุกในการสรรหาคนเก่ง (Active recruitment strategies) |
กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ |
||
6.3 เสริมสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลาย |
พัฒนากลไกการดูแลแรงงานต่างด้าวให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และเสริมสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อผู้ย้ายถิ่น |
มท. รง. สธ. |
||
6.4 ปรับปรุงระบบบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพ |
พัฒนาระบบที่นำไปสู่การนำเข้าแบบถูกกฎหมายเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ครอบคลุมทุกมิติ |
รง. สธ. อก. |
การจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการ |
||||
ระยะ |
การดำเนินการ |
|||
ระยะเร่งด่วน : การจัดการกับปัญหาที่เป็นผลพวงจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 |
ช่วงที่ 1 (พ.ศ. 2565 - 2566) • มุ่งให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ และป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา เช่น การสนับสนุนอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต และพัฒนาระบบการเรียนเสริม • สร้างงานใหม่ในพื้นที่ท้องถิ่น เพื่อรองรับกลุ่มคนที่ย้ายกลับภูมิลำเนา และนำแรงงานเข้าสู่กระบวนการยกระดับทักษะในลักษณะจ้างอบรมและจับคู่งานอย่างตรงจุดบนฐานข้อมูลแหล่งงานทดแทนจากทุกภาคส่วน • สำรวจและให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ช่วงที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) : แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน |
มาตรการที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างสังคม (Structural Reform) - กำหนดรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย - ปรับทัศนคติของสังคม ครอบครัว เช่น บทบาทของบิดาในการเลี้ยงดูบุตร - เพิ่มระบบการเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดชีวิต - มีกรอบแนวคิดในการนำชาวต่างชาติมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ - พัฒนาระบบดำเนินการร่วมระหว่างทุกภาคส่วน รวมทั้งมาตรการลักษณะ Comprehensive package |
||
ระยะยาว : มาตรการที่ก่อให้เกิด ผลกระทบสูงและเป็น วงกว้าง (Big Impact) |
ช่วงที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) • สร้างทักษะที่นำไปสู่การมีครอบครัวคุณภาพ • ปรับระบบการศึกษาและพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เป็นรูปธรรม • พัฒนากรอบและแนวทางที่ชัดเจนสำหรับแรงงานทักษะไม่สูงมาก และมีโอกาสจะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ ควบคู่กับการพัฒนาชุมชนน่าอยู่ สุขภาวะดี มีงานทำ • พัฒนาระบบการออมภาคบังคับแก่ประชาชนทุกกลุ่มตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นทำงาน ช่วงที่ 3 - 4 (พ.ศ. 2571 - 2580) ขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศพร้อมทั้งประเมินผลและถอดบทเรียนเป็นระยะ |
กลไก |
การขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ |
|
กลไกบูรณาการในระดับนโยบาย และแผนการพัฒนา ที่สำคัญ |
• กำหนดให้ประเด็นการพัฒนาด้านประชากรเป็นวาระที่สำคัญของประเทศ นโยบายรัฐบาล รวมถึงการให้ความเห็นเชิงนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง • ขับเคลื่อนประเด็นสำคัญผ่านกลไกภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ผ่านกลไกการจัดทำห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทยตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ เกี่ยวข้อง |
|
กลไกการขับเคลื่อนในระดับปฏิบัติ | • ผลักดันให้เกิดการจัดทำแผนงาน/โครงการระดับกระทรวง และโครงการสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะประเด็นการพัฒนาใหม่ รวมทั้งขับเคลื่อนร่วมกับแผนระดับที่ 3 ที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนปฏิบัติการพัฒนาสถาบันครอบครัว แผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิ แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ เป็นต้น | |
กลไกสนับสนุนการขับเคลื่อน |
• ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่แผนพัฒนาประชากรฯ (พ.ศ. 2565 - 2580) ตามแต่ละกลุ่มเป้าหมาย • ศึกษาวิจัย สร้างองค์ความรู้ และกระบวนการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนแผนดังกล่าวสู่การปฏิบัติ โดยร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติสถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย |
|
กลไกการติดตามประเมินผล | แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ การติดตามผลการพัฒนาที่มีแผนระดับที่ 3 เฉพาะ และการติดตามแนวทางการพัฒนาเฉพาะที่ยังมิได้อยู่ในการดำเนินงานตามแผนระดับที่ 3 อื่นๆ โดยจะดำเนินการประเมินความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ในแต่ละระยะตามกรอบการพัฒนา รวมทั้งปรับปรุงประเด็นและแนวทางการพัฒนาให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรและบริบทการพัฒนาประเทศ |
6. สภาพัฒนาฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาประชากรฯ (พ.ศ. 2565 - 2580) และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น
6.1 การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมที่สำคัญตั้งแต่วัยเยาว์ อาทิ การเสริมสร้างค่านิยมการยอมรับความเห็นต่าง ค่านิยมประชาธิปไตย (democratic value) ที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่ในสถาบันครอบครัวไปจนถึงระบบการศึกษา รวมถึงการพัฒนาแนวความคิดและทัศนคติ (ideology) ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับชาติถึงหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแลเด็กทุกคนที่เกิดมาในประเทศ เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาประชากรที่มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น
6.2 การให้ความสำคัญกับประเด็นอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประชากร ได้แก่ (1) ประเด็นยาเสพติด โดยควรสร้างความเชื่อมโยงประเด็นยาเสพติดและการดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่แนวทางการพัฒนาประชากรควบคู่กันไปด้วย (2) ประเด็นความปลอดภัยทางชีวิต โดยควรเพิ่มนโยบายอื่นที่ป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อาทิ การบังคับใส่หมวกกันน็อคเมื่อขับขี่ยานยนต์ รวมถึงพิจารณาปรับประเด็นการปรับแก้ไขกฎหมายเอื้อให้ครอบครัวหลากหลายรูปแบบมีความพร้อมและสามารถมีบุตรออก เนื่องจากยังขาดความชัดเจนว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้อย่างไร
___________________________
1ประเทศไทยมีผู้สูงอายุใน พ.ศ. 2560 จำนวน 11.31 ล้านคน (หญิง 6.23 ล้านคน และชาย 5.08 ล้านคน) (สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
2กลุ่มเพศทางเลือก (LGBT) ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี มีประมาณ 3.6 ล้านคน (ร้อยละ 5 ของประชากรไทย) ใน พ.ศ. 2562
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 17 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5597