ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 172 วรรคห้า และเพิ่มวรรคหก)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 11 May 2022 18:03
- Hits: 5884
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 172 วรรคห้า และเพิ่มวรรคหก)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด และสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปประกอบการพิจาณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ
3. ให้สำนักงานศาลยุติธรรมรับความเห็นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญาเพื่อให้การพิจารณาและสืบพยานของศาลในกรณีที่เกิดภัยพิบัติสาธารณะหรือมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อความปลอดภัย สามารถดำเนินการจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพโดยคู่ความหรือพยานอยู่นอกศาลได้ เมื่อจำเลยยินยอมและศาลเห็นสมควร แต่ต้องไม่เป็นที่เสียหายหรือก่อให้ เกิดความไม่เป็นธรรมต่อจำเลย จะทำให้กระบวนพิจารณาคดีของศาลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมทั้งกรณีที่เกิดภัยพิบัติสาธารณะหรือมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อความปลอดภัย เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ก่อให้เกิดความสะดวกแก่คู่ความและพยาน ไม่เกิดความล่าช้าและผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและความปลอดภัยของสังคม อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติสาธารณะหรือมีเหตุจำเป็นเพื่อความปลอดภัยเมื่อจำเลยยินยอมและศาลเห็นสมควร การพิจารณาและสืบพยานอาจดำเนินการโดยจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะ การประชุมทางจอภาพโดยคู่ความหรือพยานอยู่นอกศาลได้ แต่ต้องไม่เป็นที่เสียหายหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ต่อจำเลย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับประธานศาลฎีกา และให้ถือว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการพิจารณาและสืบพยานในห้องพิจารณาของศาล
2. กำหนดให้ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาตามข้อ 1. ต้องให้หลักประกันอย่างเพียงพอ ในการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย การติดต่อสื่อสารระหว่างจำเลยกับทนายความเป็นการเฉพาะตัว และต้องคำนึง ถึงบุคคลที่กฎหมายให้ความคุ้มครองหรือดูแลเป็นพิเศษ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 10 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5289