การดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและ การลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 11 May 2022 17:58
- Hits: 5645
การดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและ การลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอ
2. เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
3. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป. ../ .... เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไข สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (Long-Term Resident Visa) และร่างประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป. ../.... เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไข สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอว่า
1. โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รัฐบาลจึงได้มีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 14 กันยายน 2564 โดยกำหนดให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน เพื่อดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงเข้ามาพำนักในไทย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวม เพื่อให้เกิดการลงทุน การหมุนเวียนของเศรษฐกิจ มีการใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีแก่ประชาชนและแรงงานไทย และยังทำให้ไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
2. ประกอบกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ประสานงานมายัง สกท. เพื่อขอให้บุคลากรกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศสามารถใช้บริการที่ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์วีซ่าและใบอนุญาตทำงาน พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูง รวมทั้งสนับสนุนการส่งเสริมอำนาจละมุน (Soft Power) ของไทยด้วย
3. สกท.พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 14 กันยายน 2564 จึงได้ดำเนินการปรับปรุงประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกำหนดกระบวนการบูรณาการการทำงานและมอบหมายภารกิจต่างๆ ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป โดย สกท. ได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดรายละเอียดต่างๆ ตามร่างประกาศและร่างระเบียบ รวม 3 ฉบับแล้ว สรุปได้ดังนี้
3.1 การดำเนินการเพื่อรองรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยภายใต้ Long-Term Resident Visa สกท. ได้จัดทำร่างประกาศและระเบียบ รวม 3 ฉบับ พร้อมทั้งกระบวนการดำเนินการรับรองคุณสมบัติ การขอรับการตรวจลงตรา และ การขยายระยะเวลาการอยู่ในราชอาณาจักร ดังนี้
3.1.1 ร่างประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไข สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและ การลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (Long-Term Resident Visa : LTR) โดยกำหนดสาระสำคัญให้เป็นไปตามหลักการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 14 กันยายน 2564 ซึ่ง สกท. ได้กำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติและให้ครอบคลุมประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) บางกลุ่มด้วย สำหรับหลักเกณฑ์เงินลงทุนขั้นต่ำในประเทศไทย สกท. จะพิจารณาถึงเงินลงทุน ในปัจจุบันของชาวต่างชาติด้วย เพื่อรองรับชาวต่างชาติที่ได้ลงทุนในประเทศไทยไปแล้ว และยังรักษาการลงทุนเหล่านั้นไว้อยู่ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
(1) ปรับปรุงการยื่นคำขอที่ต้องแสดงหลักฐานกรณีประกันสุขภาพ ให้สามารถใช้สิทธิประกันสังคม หรือเงินฝากในบัญชีในประเทศไทยหรือในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน นับถึงวันที่ยื่นคำขอ เป็นหลักฐานแทนกรมธรรม์ประกันสุขภาพของเอกชนได้ พร้อมทั้งลดมูลค่าความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันสุขภาพซึ่งคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยเป็นไม่น้อยกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อไม่ก่อให้เกิดภาระมากเกินความจำเป็นแก่ผู้ยื่นคำขอที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทย รวมทั้งเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่คนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากบริษัทประกันอาจปฏิเสธการขายกรมธรรม์ประกันสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งมูลค่าความคุ้มครอง 50,000 เหรียญสหรัฐนั้นถือว่าสูงกว่าเงื่อนไขที่กำหนดสำหรับการตรวจลงตราประเภทอื่นที่คล้ายคลึงกัน เช่น การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส 0 – X พำนักระยะยาว 10 ปี (Non - Immigrant Visa “O – X” Long Stay) ซึ่งกำหนดให้คนต่างชาติต้องมีกรมธรรม์ประกันสุขภาพ โดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับค่ารักษาพยาบาลในกรณีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 40,000 บาท และในกรณีผู้ป่วยในไม่น้อยกว่า 400,000 บาท
หลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรี (14 กันยายน 2564) |
หลักเกณฑ์ตามร่างประกาศ สกท.ฯ ที่ปรับปรุง |
|
• การยื่นคำขอ LTR ต้องมีประกันสุขภาพคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในไทยจากบริษัทประกันที่ได้รับการรับรอง ไม่น้อยกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐขึ้นไป ตลอดระยะเวลาถือวีซ่า |
• การยื่นคำขอ LTR ต้องแสดงกรมธรรม์ประกันสุขภาพซึ่งคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในไทยไม่น้อยกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐซึ่งมีระยะเวลาคุ้มครองคงเหลือไม่น้อยกว่า 10 เดือน ณ วันที่ออกหนังสือรับรองคุณสมบัติ หรือสิทธิประกันสังคมซึ่งคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทย หรือเงินฝากในบัญชีในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน นับถึงวันที่ยื่นคำขอ • ในกรณีมีผู้ติดตามต้องแสดงหลักฐานเงินฝากในบัญชี จะต้องแสดงเงินฝากเพิ่มขึ้นในบัญชีในไทยหรือในต่างประเทศในนามของผู้ยื่นคำขอหลักหรือในนามของผู้ติดตามเอง ไม่น้อยกว่า 25,000 เหรียญสหรัฐต่อคน ซึ่งถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน นับถึงวันที่ยื่นคำขอ |
(2) ปรับปรุงคุณสมบัติของกลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand Professional) โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์คุณสมบัติของบริษัทนายจ้างในต่างประเทศ เพื่อลดความซ้ำซ้อนและลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาเลือกใช้หลักเกณฑ์ตามประเภทของคนต่างชาติ
หลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรี (14 กันยายน 2564) |
หลักเกณฑ์ตามร่างประกาศ สกท.ฯ ที่ปรับปรุง |
|
ทำงานกับนายจ้างในต่างประเทศ ซึ่งต้องมีลักษณะแบ่งเป็น 2 กรณีขึ้นอยู่กับประเภทผู้ขอ ดังนี้ • สำหรับประเภท Digital Nomad: - บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ - บริษัทเอกชนที่ดำเนินงานมาอย่างน้อย 3 ปี และมีรายได้รวมมากกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา • สำหรับประเภท Corporate Program: - มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทใดๆ ที่มีรายได้รายปีละมากกว่า 1 พันล้านเหรียญ |
• ทำงานกับนายจ้างในต่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ต่อไปนี้ - บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ - บริษัทมีการดำเนินงานมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีรายได้รวมกันในระยะเวลา 3 ปี ไม่น้อยกว่า150 ล้านเหรียญสหรัฐ นับถึงวันที่ยื่นคำขอ |
(3) ปรับปรุงคุณสมบัติของกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-Skilled Professional) โดยปรับปรุงการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้มีความชัดเจน ให้ครอบคลุมผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาทำงานในสถาบันฝึกอบรมเฉพาะทางสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยและหน่วยงานภาครัฐ พร้อมทั้งกำหนดคุณสมบัติด้านรายได้และประสบการณ์ให้มีความยืดหยุ่นสำหรับผู้ที่จบการศึกษาระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสายงาน บุคลากรทักษะสูงที่มีความจำเป็นสำหรับสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันวิจัยหรือสถาบันฝึกอบรมเฉพาะทางของรัฐ หรือหน่วยงานภาครัฐผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่าขึ้นไป รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกษียณอายุแล้ว
หลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรี (14 กันยายน 2564) |
หลักเกณฑ์ตามร่างประกาศ สกท.ฯ ที่ปรับปรุง |
|
1. ผู้มีประสบการณ์ทำงานและทักษะสูง และจะเข้ามาทำงานในไทยให้แก่บริษัทในอุตสาหกรรมเป้าหมายต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 หรือผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิจัยที่จะเข้ามาทำงานในหน่วยงานรัฐ หรือเข้ามาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย 2. มีรายได้ส่วนบุคคล (เงินเดือนหรือรายได้จากการลงทุน) ปีละ 80,000 เหรียญสหรัฐ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือ 3. มีรายได้ส่วนบุคคลปีละ 40,000 เหรียญสหรัฐ หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 5 ปีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย |
1. ผู้เชี่ยวชาญที่มีสัญญาจ้างหรือสัญญาบริการกับกิจการในประเทศ หรือกิจการในต่างประเทศโดยได้รับมอบหมายให้เข้ามาทำงานในไทยหรือผู้เชี่ยวชาญซึ่งแสดงหลักฐานการทำงานให้กับสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย หรือสถาบันฝึกอบรมเฉพาะทาง หรือหน่วยงานภาครัฐในประเทศ และต้องเป็นการทำงานในกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2. มีรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80,000 เหรียญสหรัฐต่อปีในระยะเวลา 2 ปีก่อนวันที่ยื่นคำขอ หรือ 3. ในกรณีผู้ยื่นคำขอแสดงหลักฐานการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหรือเทียบเท่าขึ้นไปในสาขาด้านวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยี หรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญในสายงานซึ่งจะเข้ามาทำงานในไทย ต้องแสดงหลักฐานการมีรายได้ส่วนบุคคลเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 40,000 เหรียญสหรัฐต่อปีในระยะเวลา 2 ปีก่อนวันที่ยื่นคำขอ ทั้งนี้ ในกรณีผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกษียณอายุแล้วสามารถแสดงหลักฐานการมีรายได้ส่วนบุคคล เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 40,000 เหรียญสหรัฐต่อปีในระยะเวลา 2 ปีก่อนการเกษียณโดยอนุโลมได้ หรือ 4. ในกรณีผู้ยื่นคำขอแสดงหลักฐานการเข้ามาทำงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ สถาบันวิจัยของรัฐ สถาบันฝึกอบรมเฉพาะทางของรัฐ หรือหน่วยงานภาครัฐ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องแสดงหลักฐานรายได้ขั้นต่ำ 5. มีประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่น้อยกว่า 5 ปีในห้วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา นับถึงวันที่ยื่นคำขอ ยกเว้นผู้ที่เข้ามาทำงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือสถาบันวิจัยของรัฐหรือสถาบันฝึกอบรมเฉพาะทางของรัฐ หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่าขึ้นไป |
3.1.2 ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. .... โดยกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้พำนักระยะยาวและผู้ติดตาม ร่วมถึงบุคลากรกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศมีสิทธิใช้บริการที่ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน และกำหนดให้เลขาธิการ สกท. มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้อำนวยการและผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์บริการวีซ่าฯ กำหนดให้ศูนย์บริการวีซ่าฯ มีอำนาจในการแก้ไขและยกเลิกตราประทับที่ได้รับจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่รับผิดชอบอื่น รวมทั้งแก้ไขและยกเลิกการตรวจลงตราจากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ในต่างประเทศได้
3.1.3 กำหนดกระบวนการรับรองคุณสมบัติ และกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และสร้างความชัดเจนให้แก่คนต่างชาติและเจ้าหน้าที่พนักงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(1) การดำเนินการรับรองคุณสมบัติและการขอรับการตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร โดยหลังจากศูนย์บริการวีซ่าฯ (One Stop Service Center for Visa and Work Permit: OSS) ภายใต้ สกท. รับคำขอรับรองคุณสมบัติที่คนต่างด้าวยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ที่ สกท. กำหนด ให้ศูนย์บริการวีซ่าฯ ส่งคำขอรับรองคุณสมบัติพร้อมหลักฐานที่ครบถ้วนสมบูรณ์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
(2) การขยายระยะเวลาการอยู่ในราชอาณาจักรหลังจากครบกำหนดเวลาอนุญาตสูงสุดไม่เกิน 5 ปี โดยคนต่างด้าวซึ่งประสงค์จะขออยู่ในราชอาณาจักรต่อไปอีกภายหลังจากที่ครบกำหนดเวลาอนุญาตในครั้งแรก จะต้องดำเนินการยื่นคำขอต่อศูนย์บริการวีซ่าฯ ผ่านช่องทางที่ สกท. กำหนด ก่อนการอนุญาตเดิมสิ้นสุด โดยเป็นการยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อยืนยันสถานภาพและเงื่อนไขสำคัญ เช่น การลงทุนขั้นต่ำในประเทศไทย สถานะการจ้าง
3.2 การปรับปรุงมาตรการการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) สกท. ได้แก้ไขร่างประกาศ สกท. พร้อมทั้งปรับปรุงการรับรองคุณสมบัติ ดังนี้
3.2.1 ร่างประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไข สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) โดยยังคงหลักเกณฑ์ประเภท คุณสมบัติ และเงื่อนไขเดิมของ Smart Visa ตามมติคณะรัฐมนตรี (6 พฤศจิกายน 2561) ที่เห็นชอบการปรับปรุงคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และสิทธิประโยชน์ ภายใต้การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa)1 เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูง และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นให้เข้ามาในประเทศไทย ตามที่ สกท. เสนอ โดยในครั้งนี้ สกท. จะปรับปรุงร่างประกาศ สกท. เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูง และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นที่ไม่มีความจำเป็นต้องพำนักระยะยาวในประเทศไทย โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมของ Smart Visa อุตสาหกรรมเป้าหมายตามพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 และเพิ่มเติมอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีศักยภาพสูงในอนาคต สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
หลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศ สกท. ที่ ป.12/2561 เรื่อง คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว เป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) |
หลักเกณฑ์ตามร่างประกาศ สกท.ฯ ที่ปรับปรุง |
|
1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4. อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5. อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต 6. อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ 7. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 8. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9. อุตสาหกรรมดิจิทัล 10. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 11. การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก 12. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 13. การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน |
1. อุตสาหกรรมยานยนต์ 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพ 4. อุตสาหกรรมการเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ 5. อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ 6. อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ 7. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 8. อุตสาหกรรมดิจิทัล 9. อุตสาหกรรมการแพทย์ 10. อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ 11. อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยตรงและมีนัยสำคัญ เช่นการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นต้น 12. อุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศ 13. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 14. การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน 15. การบริหารเทคโนโลยี นวัตกรรม และ Startup Ecosystem 16. การพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย 17. ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center-IBC) 18. การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก |
3.2.2 การปรับปรุงการรับรองคุณสมบัติ Smart Visa บางประการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (6 พฤศจิกายน 2561) โดยให้ สกท. วางระบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อใช้ในการปรับปรุงโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยการปรับปรุงการรับรองคุณสมบัติ Smart Visa จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมาตรการ Long-Term Resident Visa โดยจะยกเว้นหรือยกเลิกการดำเนินการที่ไม่จำเป็น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการและลดระยะเวลาการพิจารณารับรองคุณสมบัติ Smart Visa สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
การรับรองคุณสมบัติเดิม |
การรับรองคุณสมบัติที่ สกท. เสนอปรับปรุง |
|
1. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและพฤติการณ์ 2. กรมการจัดหางาน ตรวจสอบว่าไม่เป็นการทำงานต้องห้ามตามกฎหมาย 3. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) รับรองคุณสมบัติผู้เชี่ยวชาญ 4. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล รับรองอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5. การรับรองคุณสมบัติประเด็นอื่นๆ ตามประกาศสกท. ที่ ป. 13/2561 เรื่อง วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการยื่นขอรับรองคุณสมบัติสำหรับคนต่างด้าวที่ประสงค์จะยื่นขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) |
1. กต. ประสานงานกับสำนักข่าวกรองแห่งชาติในการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อประเทศ เฉพาะกรณีคนต่างชาติในกลุ่มสัญชาติเฝ้าระวังหรือกรณีที่มีข้อสงสัย 2. กรมการจัดหางานตรวจสอบว่าไม่เป็นการทำงานต้องห้ามตามกฎหมาย ในกรณีที่ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าตำแหน่งหรือหน้าที่ของคนต่างชาติเข้าข่ายเป็นงานหรืออาชีพต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวหรือไม่ 3. สวทช. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล วช. วว. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รับรองคุณสมบัติผู้เชี่ยวชาญ ในกรณีที่หลักฐานการศึกษาหรือประสบการณ์ทำงานไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าคนต่างชาติเป็นผู้มีทักษะหรือความเชี่ยวชาญหรือไม่ 4. สกท. รับรองอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5. การรับรองคุณสมบัติประเด็นอื่นๆ ตามประกาศ สกท. ที่ ป. 13/2561 เรื่อง วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการยื่นขอรับรองคุณสมบัติสำหรับคนต่างด้าวที่ประสงค์จะยื่นขอรับการตรวจลงตรา ประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) |
4. ทั้งนี้ เมื่อได้มีการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องกับการออก Smart Visa พร้อมทั้งกำหนดกระบวนการบูรณาการการทำงานและมอบหมายภารกิจต่างๆ ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 3 แล้ว กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และ สกท. จะดำเนินการแก้ไขประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษสำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูง และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น เพื่อให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมายและวิธีการรับรองคุณสมบัติที่กำหนดข้างต้น
สาระสำคัญของร่างระเบียบและร่างประกาศ
1. ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. .... (ร่างระเบียบฯ) มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน พ.ศ. 2540 โดยกำหนดให้ (1) ผู้พำนักระยะยาวและผู้ติดตาม รวมถึงบุคลากรกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศมีสิทธิใช้บริการที่ศูนย์บริการวีช่าฯ (2) กำหนดให้เลขาธิการ สกท. มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้อำนวยการและผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์บริการวีซ่าฯ และ (3) กำหนดให้ศูนย์บริการวีซ่าฯ มีอำนาจในการแก้ไขและยกเลิกตราประทับที่ได้รับจาก สตม. ในพื้นที่รับผิดชอบอื่น และการแก้ไขและยกเลิกการตรวจลงตราจากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ในต่างประเทศได้
2. ร่างประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป. ../.... เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไข สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (Long-Term Resident Visa) มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และคุณสมบัติของคนต่างด้าว ที่จะขอรับการออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว สรุปได้ดังนี้
2.1 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (Long-Term Resident Visa) ของคนต่างด้าว [ประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen) ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy Pensioner) ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-From-Thailand Professional) และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-Skilled Professional) และผู้ติดตามซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของคนต่างด้าวดังกล่าว] และแก้ไขเพิ่มเติมในบางประเด็น เช่น ผู้ยื่นคำขอ
1) ต้องแสดงกรมธรรม์ประกันสุขภาพซึ่งคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐซึ่งมีระยะเวลาคุ้มครองคงเหลือไม่น้อยกว่า 10 เดือน ณ วันที่ออกหนังสือรับรองคุณสมบัติ หรือสิทธิประกันสังคมซึ่งคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทย หรือเงินฝากในบัญชีในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนนับถึงวันที่ยื่นคำขอ
2) ต้องแสดงหลักฐานการมีรายได้ส่วนบุคคลขั้นต่ำ เช่น มีรายได้ส่วนบุคคล เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ในระยะเวลา 2 ปีก่อนวันที่ยื่นคำขอ
3) ต้องแสดงสัญญาจ้างหรือสัญญาบริการกับกิจการในประเทศ หรือกับกิจการในต่างประเทศ
4) ต้องแสดงหลักฐานการมีประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 5 ปีในห้วงระยะเวลา 10 ปีนับถึงวันที่ยื่นคำขอ ยกเว้นผู้ที่เข้ามาทำงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือสถาบันวิจัยของรัฐ หรือสถาบันฝึกอบรมเฉพาะทางของรัฐ หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่าขึ้นไป
2.2 กำหนดให้คนต่างด้าวที่มีคุณสมบัติตามข้อ 2.1 และได้รับสิทธิเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและสิทธิอื่นๆ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามที่ มท. สตม. และหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้องประกาศกำหนด
3. ร่างประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป. ../ .... เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไข สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) (ร่างประกาศฯ) มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข การรับรองคุณสมบัติผู้มีสิทธิขอ Smart Visa สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ โดยยกเลิกประกาศ สกท. ที่ ป.12/2561 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2561 เรื่อง คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) และออกประกาศฉบับใหม่ โดยยังคงประเภท คุณสมบัติ และเงื่อนไขเดิมของ Smart Visa ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 และเพิ่มประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมของ Smart Visa และอุตสาหกรรมเป้าหมายตามพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีศักยภาพสูงในอนาคต สรุปได้ดังนี้
3.1 กำหนดคุณสมบัติคนต่างด้าว (ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นนักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง ซึ่งประสงค์จะทำงาน ลงทุน จัดตั้งหรือประกอบธุรกิจในประเทศไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามที่ สกท. กำหนด และผู้ติดตามซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของคนต่างด้าวดังกล่าว) ที่ประสงค์จะยื่นขอรับรองคุณสมบัติเพื่อขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) ต้องมีคุณสมบัติและเงื่อนไขตามที่ สกท. กำหนด เช่น
1) ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับการรับรองความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยหน่วยงานในเครือข่ายของศูนย์บุคลากรทักษะสูง (Strategic Talent Center: STC) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2) ต้องมีการลงทุนโดยตรงในนามของผู้ขอไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ หรือในบริษัทเงินร่วมลงทุน
3.2 กำหนดให้คนต่างด้าวที่มีคุณสมบัติตามข้อ 3.1 (ยกเว้นคู่สมรสและบุตรของคนต่างด้าวที่เป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นที่ขอรับอนุญาตระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน) ได้รับสิทธิเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและสิทธิอื่นๆ ตามที่มีการอนุญาตให้คนต่างด้าว บางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่ มท. สตม. และหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้องประกาศกำหนด
____________________
1 วีซ่าประเภทพิเศษที่กำหนดให้แก่ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (10 S - Curve) จำนวน 10 อุตสาหกรรม เพื่อดึงดูดบุคลากรทักษะสูงและนักลงทุนที่จะมีส่วนช่วยเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ตอบสนองการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและนโยบายประเทศไทย 4.0 รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้แก่บุคลากรชาวไทยทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โดย สกท. ได้เปิดให้บริการ Smart Visa ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 61 [ทั้งนี้ ตามมติ ครม. (6 พ.ย. 61) ยังคงหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้คนต่างชาติ (ผู้ได้รับสิทธิ) ต้องไม่ทำงานต้องห้าม ตามที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นเดิมและมีการเพิ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อีก 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ (1) การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก (2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (3) การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน]
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 10 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5287