การเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2563/64 ของเกษตรกร ที่มีวันเพาะปลูกก่อน 1 เมษายน 2563 และเก็บเกี่ยวหลังวันที่ 1 ธันวาคม 2563 (เพิ่มเติม)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 11 May 2022 15:33
- Hits: 4912
การเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2563/64 ของเกษตรกร ที่มีวันเพาะปลูกก่อน 1 เมษายน 2563 และเก็บเกี่ยวหลังวันที่ 1 ธันวาคม 2563 (เพิ่มเติม)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบความคืบหน้าผลการดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง (โครงการประกันรายได้ฯ) และมาตรการคู่ขนาน
2. ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 จากเดิม เห็นชอบการให้สิทธิเกษตรกรกลุ่มที่แจ้งปลูกตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 - 31 มีนาคม 2563 และมีช่วงเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 8 - 12 เดือน รวมทั้งยังไม่เคยได้รับสิทธิในโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2562/63 จำนวนเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 84,186 ครัวเรือน พื้นที่ 856,578 ไร่ เข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2563/64 เป็น ให้สิทธิเกษตรกรกลุ่มที่แจ้งปลูกตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 - 31 มีนาคม 2563 และมีช่วงเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 8 - 12 เดือน (เก็บเกี่ยวหลังวันที่ 1 ธันวาคม 2563) และไม่ซ้ำแปลงที่มีสิทธิตามโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2563/64 จำนวน 204,334 ครัวเรือน ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้มี การตรวจสอบสิทธิแล้ว โดยมีจำนวนเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นอีก 120,148 ครัวเรือน ประมาณการวงเงินชดเชย ที่เพิ่มขึ้น 1,191.18 ล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติวันที่ 25 ตุลาคม 2564 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ตรวจสอบสิทธิเกษตรกรที่มีสิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจำนวนเกษตรกร 120,148 ครัวเรือน ประมาณการวงเงินชดเชย 1,191.18 ล้านบาท
2. ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ครั้งที่ 1/2565 [รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เป็นประธาน] เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมมีมติ ดังนี้
2.1 รับทราบผลการดำเนินโครงการประกันรายได้ฯ และมาตรการคู่ขนาน ปี 2563/64 และ ปี 2564/65 ดังนี้
มติที่ประชุม นบมส. |
รายละเอียด |
|||
ปี 2563/64 |
ปี 2564/65 |
|||
1) รับทราบผลการดำเนินโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2563/64 และ ปี 2564/65 |
คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูก มันสำปะหลังได้พิจารณากำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงและชดเชยส่วนต่างตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2563/64 ทั้งสิ้น 12 งวด โดย ธ.ก.ส. โอนเงินให้เกษตรกรแล้ว จำนวน 549,986 ครัวเรือน (ไม่นับซ้ำ) จำนวนเงิน 3,652.15 ล้านบาท (ร้อยละ 38.16 ของวงเงินจ่ายชดเชยทั้งหมด) |
คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังได้พิจารณากำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงและชดเชยส่วนต่างตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 แล้ว 4 งวด ไม่มีการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกร เนื่องจากราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงทั้ง 4 งวดสูงกว่าราคาเป้าหมาย (กิโลกรัมละ 2.5 บาท) |
||
2) รับทราบผลการดำเนินมาตรการคู่ขนาน ปี 2563/64 และ ปี 2564/65 | ||||
2.1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง |
2.1) มีการจ่ายเงินกู้จำนวน 1,913 ราย เป็นเงิน 269.78 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 38.26 ของเกษตรกรเป้าหมาย 5,000 ราย |
2.1) มีการจ่ายเงินกู้จำนวน 212 สัญญา จำนวนเงิน 40.79 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 7.07 ของเกษตรกรเป้าหมาย 3,000 ราย |
||
2.2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร |
2.2) มีการจ่ายเงินกู้จำนวน 18 ราย เป็นเงิน 168.7 ล้านบาท คิดเป็น 0.067 ล้านตัน (จากเป้าหมาย 0.6 ล้านตัน) |
2.2) มีการจ่ายเงินกู้จำนวน 4 สัญญา จำนวนเงิน 54.6 ล้านบาท คิดเป็นผลผลิตประมาณ 0.027 ล้านตัน |
||
2.3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง |
มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 75 ราย ปริมาณเก็บสต็อกสูงสุดเดือนมีนาคม 2564 ปริมาณผลิตภัณฑ์รวม 0.97 ล้านตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ 68 ราย ใน 22 จังหวัด มูลค่าขอรับการชดเชยทั้งสิ้น 86.53 ล้านบาท |
มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 111 ราย วงเงินสินเชื่อจำนวน 14,851.24 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ |
||
2.4) โครงการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง |
(ไม่มีการดำเนินโครงการฯ ในปีนี้) |
สนับสนุนเงินทุนเพื่อจัดหาเครื่องสับมันสำปะหลังให้แก่กลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย (วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน หรือกลุ่มเกษตรกรอื่นที่อยู่ภายใต้การรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ) เพื่อผลิตมันเส้นช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม เป้าหมาย 650 เครื่อง เครื่องละ 15,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ |
2.2 การเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2563/64 ของเกษตรกรที่มีวันเพาะปลูกก่อน 1 เมษายน 2563 และเก็บเกี่ยวหลังวันที่ 1 ธันวาคม 2563 (เพิ่มเติม)
2.2.1 รับทราบข้อมูลเกษตรกรตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรตรวจสอบ สิทธิเกษตรกรที่มีสิทธิตามโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2563/64 เฉพาะในส่วนที่ได้ขยายระยะเวลา (ระหว่าง 1 ตุลาคม 2562 - 31 มีนาคม 2563) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 โดยมีช่วงเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 8 - 12 เดือน และไม่ซ้ำแปลง จำนวน 120,148 ครัวเรือน ประมาณการวงเงินชดเชย 1,191.18 ล้านบาท
2.2.2 เห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกมันสำปะหลัง โดยมีวันเพาะปลูกตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 - 31 มีนาคม 2563 และเก็บเกี่ยวหลังวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ภายใต้กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ทั้งนี้ ให้กรมส่งเสริมการเกษตร และ ธ.ก.ส. ตรวจสอบคุณสมบัติเกษตรกรก่อนการเบิกจ่าย ตามหลักเกณฑ์โครงการฯ
3. พณ. ได้รายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ที่ได้มอบหมายให้ พณ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในประเด็นต่างๆ สรุปได้ ดังนี้
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 |
ผลความคืบหน้า |
|
1) พิจารณากำหนดแนวทางในการตรวจสอบข้อมูลการลงทะเบียนพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูก มันสำปะหลังให้ถูกต้องแม่นยำ |
กรมส่งเสริมการเกษตร กษ. ได้กำหนดแนวทางในการตรวจสอบข้อมูลการลงทะเบียน ดังนี้ (1) แจ้งสำนักงานเกษตรจังหวัดตรวจสอบและยืนยันข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 เพื่อเป็นหลักฐานในการยืนยันความถูกต้องของข้อมูล (2) ประมวลผลข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังส่งให้ ธ.ก.ส. ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกร ผู้ปลูกมันสำปะหลัง ครั้งที่ 12/2564 (3) ตามคู่มือการขึ้นทะเบียนเกษตรกร กรอบการแจ้งการเพาะปลูกมันสำปะหลังของกรมส่งเสริมการเกษตรนั้น เกษตรกรสามารถมาแจ้งเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยสามารถแจ้งได้เมื่อเพาะปลูกแล้วอย่างน้อย 15 วัน ถึง 1 เดือนก่อนการเก็บเกี่ยว โดยสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือผ่านแอปพลิเคชัน สมุดทะเบียนเกษตรกรดิจิทัล โดยมีขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูล ดังนี้ (3.1) ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน (3.2) ระบบโปรแกรมตรวจสอบความถูกต้อง เช่น ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่และขอบเขตเอกสารสิทธิ์ น.ส.4 จากกรมที่ดิน (3.3) ตรวจสอบทางสังคม โดยจัดพิมพ์ข้อมูลติดประกาศเพื่อให้เกษตรกร ในหมู่บ้าน/ชุมชนนั้นตรวจสอบ (3.4) การตรวจสอบพื้นที่และจัดทำผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล ดำเนินการโดยใช้เครื่อง GPS ออกเดินสำรวจรอบแปลงพื้นที่จริง เพื่อวัดและจับพิกัดแปลง หรือวาดแปลงด้วยระบบ |
|
2) การเร่งรัดการขยายตลาดส่งออกสินค้ามันสำปะหลังไปยังต่างประเทศฯ |
พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ดำเนินการขยายตลาดส่งออกสินค้า มันสำปะหลังไปยังต่างประเทศ ดังนี้ (1) ตลาดใหม่ (เป้าหมายหลัก ได้แก่ สาธารณรัฐตุรกี ราชอาณาจักรนิวซีแลนด์ สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐเกาหลี และประเทศญี่ปุ่น) : กรมการค้าต่างประเทศได้จัดประชุมร่วมกับผู้ส่งออกมันสำปะหลังของไทย เพื่อเจรจาการค้ากับผู้ค้าในสาธารณรัฐตุรกี เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้ามันอัดเม็ดและกากมันอัดเม็ดเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของสาธารณรัฐตุรกี ทั้งนี้ สาธารณรัฐตุรกีมีความต้องการนำเข้าสูงมาก อย่างไรก็ดี เนื่องจากค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นและอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลลีราตุรกีมีความผันผวนสูงมากส่งผลให้ภาคเอกชนชะลอการซื้อขายกับสาธารณรัฐตุรกีออกไปก่อน (2) ตลาดเดิม (สาธารณรัฐประชาชนจีน) : เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 กรมการค้าต่างประเทศได้จัดประชุมร่วมกับผู้ส่งออกมันสำปะหลังของไทยและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารสัตว์ของไทย เพื่อเจรจาการค้ากับผู้ค้าในสาธารณรัฐประชาชนจีน (เมืองเซี่ยเหมิน) เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้ามันเส้นเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในจีน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่รองรับผลผลิตได้มาก โดยปัจจุบันสามารถสร้างมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นแล้ว 7,401 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 18 เมษายน 2565) (3) กิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (OBM) ระหว่างวันที่ 29 - 30 มีนาคม 2565 กรมการค้าต่างประเทศได้ดำเนินการร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดกิจกรรม OBM ระหว่างผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จาก 11 ประเทศ 1 เขตเศรษฐกิจ (เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น สหพันธรัฐมาเลเซีย เป็นต้น) คาดการณ์มูลค่าซื้อขายภายใน 1 ปี 650.88 ล้านบาท |
|
3) การดำเนินการทำประกันภัยผลผลิตมันสำปะหลังเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาในกรณีต่างๆ |
อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 10 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5282