สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2/2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 11 May 2022 11:53
- Hits: 6006
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2/2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอ สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกลและ ให้ส่วนราชการรับประเด็นและมติของที่ประชุม กตน. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ในการประชุม กตน. ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 โดยมีรัฐมนตรีประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ มีผลการประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
ความเห็น/ข้อสังเกต/มติที่ประชุม กตน. |
|
1) การฉ้อโกงหลอกลวงการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ 1.1) รายงานการดำเนินงานและแผนงานของหน่วยงาน เช่น 1.1.1) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้รับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ในปี 2564 จำนวน 5,943 เรื่อง ยุติแล้ว 3,116 เรื่อง (ร้อยละ 53.2) โดยตั้งแต่ปี 2561-2563 มีสถิติเรื่องร้องทุกข์การซื้อขายออนไลน์ ธุรกิจขายตรง และตลาดแบบตรง รวม 10,713 เรื่อง รวมทั้งได้แก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าออนไลน์กำกับดูแลการโฆษณาสินค้าที่อวดอ้างสรรพคุณเกินความจริงและพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการ 1.1.2) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้จัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางสื่อต่างๆ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เช่น เฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสี่อต่างๆ โดยพบการกระทำผิด 22,166 รายการ และดำเนินคดีและ สั่งระงับโฆษณา 1,502 คดี โดยมีคดีสิ้นสุดและมีการเปรียบเทียบปรับแล้ว 742 คดี รวมค่าปรับคดีโฆษณา 15.42 ล้านบาท 1.1.3) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-กุมภาพันธ์ 2565 ได้ตรวจสอบ รายการทีวีที่มีผู้ชมสูงสุด 15 รายการ โดยตรวจสอบเฝ้าระวัง 1,300 ครั้ง และยังไม่พบการกระทำความผิด 1.2) ข้อเสนอแนะ เช่น 1.2.1) สคบ. เสนอว่า (1) ควรพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาใช้ในการตรวจสอบ โฆษณาที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง และ (2) ควรสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคและพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจให้ประกอบธุรกิจอย่างมี ธรรมาภิบาล 1.2.2) อย. เสนอว่า (1) ควรขยายการทำบันทึกความเข้าใจกับแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลส ในการส่งข้อมูลผู้กระทำผิดให้หน่วยงานรัฐบังคับใช้กฎหมายด้วยความรวดเร็ว และ (2) ควรส่งเสริมจริยธรรมและสร้างสำนึกความรับผิดชอบของผู้ประกอบการผลิต 1.2.3) สมอ. เสนอว่า ควรจัดให้มีแนวทางในการดำเนินการตรวจติดตามให้ครอบคลุมการเสนอขายสินค้าผ่านช่องทางดาวเทียม และเครื่อข่ายอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตทีวี หรือเคเบิ้ลทีวีที่ต้องเป็นสมาชิก |
ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. : สคบ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค การกำกับดูแลการโฆษณาสินค้าที่อวดอ้างสรรพคุณเกินความจริง การใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหา และการทำงานเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังรวมทั้งประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของ สคบ. ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย มติที่ประชุม : รับทราบและเห็นควรให้ สคบ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอแนะของที่ประชุมฯ ไปพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป |
|
2) มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน 2.1) รายงานการดำเนินงานและแผนงานของหน่วยงาน เช่น 2.1.1) กระทรวงแรงงาน (รง.) ได้ดำเนินการ เช่น (1) จัดทำโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในระบบประกันสังคมที่มีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ให้ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งพยุงการจ้างงานให้ลูกจ้างสัญชาติไทยไม่ถูกเลิกจ้าง โดยรัฐจ่ายเงินอุดหนุนในอัตรา 3,000 บาทต่อคนต่อเดือนระยะเวลา 3 เดือน (2) ให้บริการจัดหางานในประเทศและต่างประเทศ และการพัฒนาการให้บริการด้วยระบบเทคโนโลยี เช่น ให้บริการจัดหางาน ณ สำนักงาน ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และให้บริการผ่านระบบ e-Sevice ที่เว็บไซต์มีงานทำ รถ Mobile Unit และการจัดงาน Job Expo และพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการจัดหางาน และ (3) ให้บริการแรงงานนอกระบบ โดยพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ 90,583 คน ก่อให้เกิดรายได้เฉลี่ย 6,353 บาทต่อคนต่อเดือน 2.1.2) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ดำเนินการ เช่น (1) ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ 8,294 คน (2) ส่งเสริมการฝึกทักษะ และส่งเสริมการมีงานทำให้กับผู้สูงอายุ 595,744 คน และ (3) สร้างอาชีพใหม่หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโรนา 2019 2.2) ข้อเสนอแนะของ รง. เช่น (1) ควรติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมเพื่อจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เมื่อประเทศปลายทางเปิดรับแรงงานไทยเข้าไปทำงาน (2) ควรปรับรูปแบบการทำงานเป็นการทำงานผ่านระบบออนไลน์ และ (3) ควรประชาสัมพันธ์การจ้างงานผู้สูงอายุและมาตรการจูงใจจากภาครัฐ (เช่น นำค่าจ้างมาหักภาษีได้ 2 เท่า) และข้อดีของการจ้างงานผู้สูงอายุ |
มติที่ประชุม : รับทราบ และเห็นควรให้ รง. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอแนะไปพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป |
|
3) รายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และงบประมาณที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป 3.1) ผลการใช้จ่ายงบประมาณ ณ วันที่ 4 มีนาคม 2565 โดยในภาพรวมมีผลการใช้จ่ายงบประมาณ จำนวน 1,565,157.55 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 1,210,578.54 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 354,579.01 ล้านบาท) 3.2) สรุปรายการผูกพันใหม่ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่มีวงเงินทั้งสิ้นเกิน 1,000 ล้านบาท ภาพรวมรายการผูกพันใหม่ฯ5 กระทรวง (กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคมและกระทรวงยุติธรรม) วงเงินภาระผูกพัน ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 9 รายการ 19,999.15 ล้านบาท |
มติที่ประชุม : รับทราบ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 10 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5278