แนวทางการปรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 11 May 2022 11:40
- Hits: 5902
แนวทางการปรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง แนวทาง หลักการ และการดำเนินการปรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (แผนแม่บทฯ) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เสนอดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ รายงานว่า
1. ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทฯ 23 ประเด็น ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2561 และวันที่ 18 เมษายน 2562 ตามลำดับ โดยยุทธศาสตร์ชาติจัดเป็นแผนระดับที่ 1 ตามนัยของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาประเทศที่ครอบคลุมในทุกมิติ รวมทั้งมีความยืดหยุ่นตามบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกและประเทศ พร้อมรองรับผลกระทบเชิงลบในมิติต่างๆ ที่เกิดขึ้น และถ่ายระดับเป้าหมายและประเด็นการพัฒนาจากยุทธศาสตร์ชาติ (Ends) ไปสู่แผนระดับที่ 2 แผนแม่บทฯ (Ways) ซึ่งเป็นแผนที่ใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศในมิติต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน โดยมีการบูรณาการระหว่างยุทธศาสตร์ชาติด้านที่เกี่ยวข้องและมีการกำหนดค่าเป้าหมายที่จะต้องบรรลุอย่างเป็นรูปธรรมในแต่ละห้วงการพัฒนา ห้วงละ 5 ปี ซึ่งจะใช้ถ่ายทอดไปสู่การปฏิบัติในแผนระดับที่ 3 (แผนปฏิบัติราชการ/โครงการ) ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. ข้อมูลจากรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2564 ที่ สศช. ได้จัดทำขึ้น ในส่วนของการประเมินผลความก้าวหน้าตามเป้าหมายของแผนแม่บทฯ ทั้ง 23 ประเด็น ซึ่งประกอบด้วย เป้าหมายระดับประเด็นแผนแม่บทฯ 37 เป้าหมาย และเป้าหมายระดับแผนย่อยของแผนแม่บทฯ 140 เป้าหมาย และได้ใช้ข้อมูลสถิติ สถานการณ์ งานวิจัย และดัชนีชี้วัดที่จัดทำขึ้นจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ กับสถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงการดำเนินงาน/โครงการที่หน่วยงานของรัฐที่ถูกนำเข้าในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) สิ้นสุด ณ เดือนตุลาคม 2564 จำนวน 62,641 โครงการ พบว่า
2.1 สถานะการบรรลุค่าเป้าหมายระดับประเด็นแผนแม่บทฯ ทั้ง 37 เป้าหมาย มีการพัฒนาลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนค่าสีจากสถานะสีเหลืองเป็นสีส้มและสีแดงมากขึ้น อย่างไรก็ดี มีเป้าหมายระดับประเด็นแผนแม่บทฯ ที่สามารถบรรลุค่าเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในปี 2565 (เป้าหมายห้วงปี 2561 - 2565 (สีเขียว) จำนวน 7 เป้าหมาย หรือคิดเป็นร้อยละ 18.9 ของเป้าหมายระดับประเด็นแผนแม่บทฯ ซึ่งเป็นเป้าหมายระดับประเด็นเดิมจากปี 2563 ที่บรรลุตามค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2565 แล้ว
2.2 สถานะการบรรลุเป้าหมายระดับแผนย่อยของแผนแม่บทฯ รวม 140 เป้าหมาย มีการพัฒนาขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562 และปี 2563 โดยมีสถานการณ์บรรลุค่าเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในปี 2565 (สีเขียว) จำนวน 39 เป้าหมาย หรือคิดเป็นร้อยละ 27.9ของเป้าหมายระดับแผนย่อยทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับค่าเป้าหมายสีเหลืองและส้มที่มีจำนวนน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
3. โดยที่พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 11 บัญญัติให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปี ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติจะครบกำหนด 5 ปี ในวันที่ 13 ตุลาคม 2566 และมาตรา 10 วรรคสี่ บัญญัติให้ในกรณีที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเห็นว่า มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทฯ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงหรือความจำเป็นของประเทศ ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีก่อน ซึ่ง สศช. ได้ดำเนินการพิจารณาทบทวนยุทธศาสตร์ชาติตามความในมาตรา 11 ดังกล่าวพบว่า สถานการณ์ของโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติแต่อย่างใด ดังนั้น จึงจะยังคง “เป้าหมาย” ตามยุทธศาสตร์ชาติ (Ends) ไว้เช่นเดิม แต่จะมีการปรับแผนแม่บทฯ (Ways) โดย สศช. พิจารณาแล้วเห็นว่า แผนแม่บทฯ มีข้อจำกัดในส่วนของเป้าหมาย ตัวชี้วัด ค่าเป้าหมายและแนวทางการพัฒนา ทั้งนี้ ข้อจำกัดในส่วนของเป้าหมายอาจมีสาเหตุมาจากการกำหนดตัวชี้วัดที่ไม่สะท้อนต่อเป้าหมายของแผนแม่บทฯ ดังนั้น ในการปรับแผนแม่บทฯ จึงไม่มีการปรับเป้าหมายแต่จะดำเนินการปรับเฉพาะในส่วนของตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย และแนวทางการพัฒนาเท่านั้น
4. สศช. ได้มีการจัดประชุมหารือร่วมกับประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 6 คณะ และได้เสนอหลักการและแนวทางการปรับแผนแม่บทฯ ต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีมติเห็นชอบหลักการ/แนวทาง และการดำเนินการปรับแผนแม่บทฯ และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป มีสาระสำคัญของแนวทางดำเนินการสรุปได้ ดังนี้
หลักการ |
แนวทางการดำเนินการ |
ตัวชี้วัด |
ดำเนินการพิจารณาตัวชี้วัดของเป้าหมายในระดับประเด็นแผนแม่บทฯ และระดับแผนย่อย โดย (1) กรณีใช้ตัวชี้วัดเทียบเคียง (Proxy)1 แบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้ (1) กรณีไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดจัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัด จะพิจารณาใช้ตัวชี้วัดเทียบเคียงหรือตัวชี้วัดอื่นที่เหมาะสมเป็นตัวชี้วัดแทน หากตัวชี้วัดเดิมเหมาะสมอยู่แล้ว ให้มอบหมายหน่วยงานดำเนินการจัดเก็บข้อมูล (2) กรณีมีการยกเลิกการจัดเก็บข้อมูลของตัวชี้วัด จะพิจารณาใช้ตัวชี้วัดหรือตัวชี้วัดอื่นที่เหมาะสมเป็นตัวชี้วัดหลักแทน หากตัวชี้วัดเดิมมีความเหมาะสมอยู่แล้ว ให้มอบหมายหน่วยงานดำเนินการจัดเก็บข้อมูล (3) กรณีไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัดที่ต่อเนื่อง จะพิจารณาใช้ตัวชี้วัดเทียบเคียงเป็นตัวชี้วัดเพิ่มเติม เพื่อใช้ประเมินผลควบคู่กับตัวชี้วัดหลักตัวเดิม |
(2) กรณีตัวชี้วัดที่กำหนดอาจไม่สะท้อนเป้าหมายแผนแม่บทฯ ที่กำหนดไว้ จะพิจารณาตัวชี้วัดใหม่ที่สามารถสะท้อนเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม |
|
(3) กรณีตัวชี้วัดที่กำหนดไม่มีนิยามหรือคำจำกัดความที่ชัดเจน จะพิจารณาคำนิยามหรือคำจำกัดความของตัวชี้วัดให้มีความชัดเจน เพื่อให้สามารถจัดเก็บข้อมูลที่สะท้อนเป้าหมายและประเมินผลการดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม |
|
(4) กรณีตัวชี้วัด 1 ตัวชี้วัด ใช้วัดผลมากกว่า 1 เป้าหมาย จะพิจารณาว่าตัวชี้วัดที่กำหนดสามารถสะท้อนเป้าหมายใดได้มากที่สุดและจะกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดของเป้าหมายนั้น โดยจะพิจารณากำหนดตัวชี้วัดใหม่ให้กับอีกเป้าหมายที่เคยใช้ตัวชี้วัดร่วมกัน |
|
ค่าเป้าหมาย |
ดำเนินการทบทวนค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดย (1) กรณีสถานะการบรรลุเป้าหมาย ณ ปี 2564 ได้มีการบรรลุค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในห้วงที่ 2 ของการพัฒนา (ปี 2566 - 2570) เรียบร้อยแล้ว จะพิจารณาปรับค่าเป้าหมายให้มีความท้าทายมากขึ้นและสอดคล้องกับบริบทของสถานการณ์ในปัจจุบัน |
(2) กรณีไม่ได้มีการกำหนดค่าเป้าหมายที่จะบรรลุในแต่ละห้วง 5 ปี ของการพัฒนาจะพิจารณากำหนดค่าเป้าหมายในแต่ละห้วงการพัฒนา ทั้งนี้ ค่าเป้าหมายที่กำหนดจะต้องมีความท้าทายและสอดคล้องกับบริบทของสถานการณ์ในปัจจุบัน |
|
(3) กรณีค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแต่ละห้วง 5 ปี ของการพัฒนาอาจไม่มีความชัดเจน จะพิจารณาปรับคำหรือกำหนดคำนิยามของค่าเป้าหมายให้มีความชัดเจน |
|
แนวทางการพัฒนา |
ดำเนินการทบทวนแนวทางการพัฒนาในกรณีที่พบว่า แนวทางการพัฒนาในแต่ละแผนย่อยอาจไม่สอดคล้องหรือครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทย (Final Value Chain Thailand: FVCT)2 รวมทั้งไม่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด ให้พิจารณาปรับแนวทางการพัฒนาให้มีความครอบคลุม และสอดคล้องกับห่วงโซ่คุณค่าฯ |
ทั้งนี้ ในส่วนของการดำเนินการปรับแผนแม่บทฯ จะมอบหมาย สศช. ดำเนินการปรับแผนแม่บทฯ ทั้ง 23 ประเด็น เนื่องจากแผนแม่บทฯ มีการกำหนดประเด็นในลักษณะที่มีความบูรณาการและเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ชาติด้านที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบหลักการแนวทาง และการดำเนินปรับแผนแม่บทฯ ตามที่ สศช. เสนอในครั้งนี้แล้ว สศช. จะดำเนินกระบวนการแก้ไขปรับแผนแม่บทฯ และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ก่อนเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทฯ ฉบับปรับปรุงตามลำดับแล้วจึงประกาศใช้ต่อไป โดยคาดการณ์ว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2565
____________________
1เนื่องจากตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลหรือมีการเลื่อนการดำเนินการ ทำให้ต้องอ้างอิงตัวชี้วัดเทียบเคียง (Proxy) ในการติดตามและประเมินผลแทน
2สศช. ได้จัดทำห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทย (FVCT) (ฉบับแก้ไข ปี 2566) จำแนกรายแผนแม่บทฯ 23 ประเด็น ประกอบด้วย 140 เป้าหมายระดับแผนย่อย ทั้งนี้ เมื่อหน่วยงานทราบเป้าหมายที่หน่วยงานมีความเกี่ยวข้อง หน่วยงานจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจ FVCT ของเป้าหมายระดับแผนย่อยนั้นๆ เพื่อพิจารณาวิเคราะห์ว่า หน่วยงานมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยและองค์ประกอบใดของ FVCT เพื่อใช้ประกอบการจัดทำโครงการ/การดำเนินงานของหน่วยงาน เพื่อการขับเคลื่อนเป้าหมายระดับแผนย่อยตามห่วงโซ่คุณค่าของเป้าหมายระดับแผนย่อยนั้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 10 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5275