ขอความเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำปี 2565 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 11 May 2022 00:41
- Hits: 7735
ขอความเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำปี 2565 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการต่อเอกสารผลลัพธ์ จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่
(1) แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำปี 2565 (กรณีที่รัฐมนตรีการค้าเอเปค ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจเอเปคไม่มีข้อขัดข้อง)
(2) แถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีการค้าเอเปค สำหรับการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำปี 2565 (กรณีที่เขตเศรษฐกิจเอเปคไม่สามารถเห็นชอบร่วมกันเพื่อรับรองเอกสารผลลัพธ์ตามข้อ (1))
(3) เอกสารแนบว่าด้วยบริการที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์
(4) แถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีการค้าเอเปค สำหรับการประชุมภาครัฐ-ภาคเอกชน (PPD)
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงเอกสารผลลัพธ์ดังกล่าวในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
1) ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ตามข้อ 1 (1) และ (3) หรือ
2) ออกประกาศแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีการค้าเอเปค สำหรับการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำปี 2565 ตามข้อ 1 (2) หรือ
3) ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ตามข้อ 1 (1) และ (3) พร้อมทั้งออกประกาศแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีการค้าเอเปค สำหรับการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำปี 2565 ตามข้อ 1 (2)
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามผลลัพธ์ของประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค
3. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ออกประกาศเอกสารผลลัพธ์ตามข้อ 1 (4) ในฐานะประธานรัฐมนตรีการค้าเอเปคสำหรับการประชุม PPD
4. ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 4 ภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรูเพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 4 ในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก
สาระสำคัญของเรื่อง
เอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำปี 2565 และพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 4 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำปี 2565 มีสาระสำคัญ ได้แก่ 1) ยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีและการนำไปสู่ผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (MC12) 2) ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการไหลเวียนสินค้าจำเป็น 3) ส่งเสริมวาระการปฏิรูปโครงสร้างในเอเปค และให้ความสำคัญกับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ 4) ตระหนักถึงความสำคัญของการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว 5) เน้นย้ำการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ สนับสนุนทักษะดิจิทัล 6) รับทราบความคืบหน้าการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Circular-Green (BCG) Economy Model เพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 7) เน้นการใช้นโยบายการค้าและสิ่งแวดล้อมที่สมดุล เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงความจำเป็นในการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน 8) สนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจเอเปคที่มีความพร้อม ดำเนินการคงสถานะการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล 9) ยินดีกับความคืบหน้าในการปรับปรุงพิกัดศุลกากรของสินค้าสิ่งแวดล้อมให้ทันสมัยและการจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึงเทคโนโลยีใหม่ด้วยความสมัครใจและไม่ผูกพัน 10) ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจและการเสริมสร้างขีดความสามารถสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) สตรีและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยส่งเสริม MSMEs ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินงานสีเขียว (Green transition)
2. ร่างแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีการค้าเอเปค สำหรับการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค
2.1 ในกรณีที่ที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคมีฉันทามติรับรองเอกสารตามข้อ 1 (1) และข้อ 1 (3) จะมีเอกสารผลลัพธ์ ได้แก่ แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำปี 2565 และเอกสารแนบว่าด้วยบริการที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ หรือแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำปี 2565 เอกสารแนบว่าด้วยบริการที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ และแถลงการณ์ประธานรัฐนตรีการค้าเอเปค สำหรับการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำปี 2565 เพื่อเสริมแถลงการณ์ร่วมฯ โดยอาจมีประเด็นอ่อนไหวหรือประเด็นที่ยังไม่มีฉันทามติจากทุกเขตเศรษฐกิจเพื่อสะท้อนเหตุการณ์การเมืองระหว่างประเทศและแสดงจุดยืนของไทยต่อเอเปค
2.2 ในกรณีที่ที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคไม่สามารถมีฉันทามติรับรองเอกสารผลลัพธ์ตามข้อ 1 (1) และข้อ 1 (3) จะมีเอกสารผลลัพธ์ ได้แก่ แถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีการค้าเอเปค สำหรับการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำปี 2565 โดยอาจมีประเด็นอ่อนไหวหรือประเด็นที่ยังไม่มีฉันทามติจากทุกเขตเศรษฐกิจเพื่อสะท้อนเหตุการณ์การเมืองระหว่างประเทศและแสดงจุดยืนของไทยต่อเอเปค
3. ร่างเอกสารแนบว่าด้วยบริการที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ มีสาระสำคัญได้แก่ การจัดทำนิยามของ “บริการที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์” คือกิจกรรมทางเศรษฐกิจสำคัญที่มีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นของห่วงโซ่อุปทานและทำให้สามารถคาดการณ์ได้ในเรื่องการขนส่ง จัดเก็บและส่งสินค้าและบริการ โดยรวมไปถึงการดำเนินการด้านพิธีการศุลกากร การจัดการคลังสินค้า การจัดเก็บโกดังสินค้า ค่าขนส่งสินค้า การส่งสินค้าข้ามประเทศ การกระจายสินค้าทั้งทางอากาศ ทางน้ำ ทางราง และทางบก รวมถึงโทรคมนาคม
4. ร่างแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีการค้าเอเปค สำหรับการประชุม PPD มีสาระสำคัญ ได้แก่ 1) รายงานว่ารัฐมนตรีการค้าเอเปคกับ ABAC ได้หารือเรื่อง FTAAP ในช่วงโควิด-19 และการดำเนินงานในอนาคต 2) ความท้าทายที่เกิดจากโควิด-19 กลับทำให้เรามุ่งมั่นที่จะผลักดันเรื่อง FTAAP เพื่อมีส่วนช่วยฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและเตรียมรับมือกับวิกฤตในอนาคต 3) รับทราบถึงการทำงานตามปฏิญญาลิมา ปี ค.ศ. 2016 ที่รองรับประเด็นการค้าดั้งเดิมและการค้าการลงทุนใหม่ 4) รับทราบพัฒนาการของการจัดทำ FTAAP ซึ่งครอบคลุมเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 5) รับทราบถึงการที่เอเปคมีความเห็นแตกต่างในบางประเด็นภายใต้วาระ FTAAP จึงสนับสนุนให้มีฉันทามติในประเด็นการค้า/การลงทุนใหม่ภายใต้บริบทโควิด-19 6) ABAC ได้นำเสนอมุมมองที่สำคัญ อาทิ ข้อบทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ FTAs การให้สตรีกับ MSMEs เข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลก การลดข้อจำกัดทางการค้าสินค้ายา/เวชภัณฑ์ และมาตรการรับมือประเด็นสิ่งแวดล้อมภายใต้ FTAs 7) รัฐมนตรีการค้าเอเปคยังให้ความสำคัญกับทั้งประเด็นการค้า/การลงทุนดั้งเดิมและประเด็นการค้า/การลงทุนใหม่ 8) เอเปคเป็นเวทีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งสนับสนุนข้อสั่งการของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา ปี ค.ศ. 2040 และแผนปฏิบัติการ Aotearoa และ 9) เน้นย้ำความเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมมีความรับผิดชอบร่วม และมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเรื่อง FTAAP ต่อไป
5. พิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 4 ภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรูเพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า มีสาระสำคัญ ได้แก่ 1) ปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อบทกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการค้าในปัจจุบันและในอนาคต อาทิ อนุญาตให้ใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ใช้การลงนามและประทับตราด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature and Seal: ESS) ยกเลิกข้อกำหนดให้การขนส่งสินค้าผ่านประเทศนอกภาคีต้องเป็นไปตามเหตุผลด้านภูมิศาสตร์ และเพิ่มเติมข้อบทให้รองรับการจัดทำหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-CO) ในอนาคต เพื่อให้ข้อบทด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง TPCEP มีความทันสมัยเท่าเทียมกับความตกลง FTA ฉบับอื่นๆ ที่ไทยเป็นภาคี และ 2) ปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าจากระบบฮาร์โมไนซ์ 2007 (HS 2007) เป็นระบบฮาร์โมไนซ์ 2017 (HS 2017) ซึ่งเป็นการดำเนินการทางเทคนิคให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติขององค์การศุลกากรโลกที่มีการปรับโอนพิกัดศุลกากรเป็นประจำทุก 5 ปี
ทั้งนี้ พิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 4 ถือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรูเพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า ภายใต้ความตกลง TPCEP โดยจะมีการลงนาม ใน 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษาสเปน โดยในกรณีที่มีความแตกต่างกัน ให้ถือตามฉบับภาษาอังกฤษ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 10 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5266