ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนมีนาคม 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 04 May 2022 12:14
- Hits: 7054
ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนมีนาคม 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนมีนาคม 2565 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
1.1 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติผ่านการจัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ มีโครงการฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 571 โครงการ และประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 406 โครงการ ซึ่ง สศช. จะติดตามการดำเนินการและเร่งชี้แจงและทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยขณะนี้ สศช. อยู่ระหว่างเตรียมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้หน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ทั้ง 3 ระดับและทุกหน่วยงานของรัฐสามารถจัดทำโครงการฯ ที่มีคุณภาพและส่งผลต่อการขับเคลื่อนการบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทฯ ได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ สศช. ได้แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 การเตรียมการก่อนการประชุมเชิงปฏิบัติ การฯ โดยให้หน่วยงานพิจารณาทบทวนความเกี่ยวข้องต่อปัจจัยภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทยของเป้าหมายแผนแม่บทย่อย รวมถึงจัดทำร่างข้อเสนอโครงการฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระยะที่ 2 การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 และระยะที่ 3 การดำเนินการหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ โดยให้ทุกหน่วยงานจัดทำข้อเสนอโครงการฯ ตามแนวทางที่กำหนดเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณตามกระบวนการต่อไป
1.2 ความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) มีการตั้งคณะทำงานกำหนดขั้นการพัฒนาการแก้ปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อทำหน้าที่กำหนดค่ามาตรฐานสำหรับประเมินการหลุดพ้นของขั้นการพัฒนา (การอยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน) เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในระดับบุคคลและระดับครัวเรือนให้สามารถอยู่รอดและดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งได้ร่วมกับหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) สรุปบทเรียนบางกอกน้อยโมเดลที่มีจุดเน้นในการนำศักยภาพของภาคีการพัฒนาต่างๆ มาร่วมกันแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ตามเมนูแก้จนที่ครอบคลุม 5 มิติความขัดสน* และ 3 ขั้นการพัฒนา
2. ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้จัดทำรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (รอบเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564) โดยความคืบหน้าการดำเนินงานตามกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ทั้ง 62 กิจกรรม มีสถานะดีขึ้นเมื่อเทียบกับรายงานฯ รอบที่ผ่านมา สามารถดำเนินการได้ตามเผน 55 กิจกรรม (คิดเป็น ร้อยละ 89) และดำเนินการได้ล่าช้ากว่าแผน 7 กิจกรรม เช่น ด้านกระบวนการยุติธรรม กิจกรรมปฏิรูปที่ 3 การจัดหาทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจให้ครบทุกสถานีทั่วประเทศ กำหนดให้ภายในปี 2564 จะต้องขยายผลทนายความประจำสถานีตำรวจได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยดำเนินการไปแล้วเพียง 203 สถานี จาก 1,482 สถานี หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ซึ่งจำเป็นต้องเร่งขยายผลให้ครบถ้วนทุกสถานีภายในสิ้นปี 2565 ส่วนความคืบหน้าการจัดทำ/ปรับปรุงกฎหมาย 45 ฉบับ ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2565 โดยปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยคณะกรรมการชุมชนของเทศบาล พ.ศ. 2564 โดยกฎหมายที่เหลือ 43 ฉบับ อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของหน่วยงาน
3. การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) พัฒนาระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) โดยใช้แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลด้วยปัญญาประดิษฐ์ เพื่อใช้ในการสืบค้นข้อมูลโครงการ/การดำเนินงานในระบบ eMENSCR ในมิติต่างๆ และช่วยในการวิเคราะห์ความคล้ายหรือความซ้ำซ้อนของโครงการ/การดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงการจัดทำนโยบายและวางแผนการพัฒนาประเทศเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติบนหลักการบริหารงานคุณภาพ (Plan-Do-Check-Act: PDCA) ทั้งนี้ ได้จัดอบรมวิธีการใช้งานส่วนที่พัฒนาเพิ่มเติมของระบบดังกล่าวให้กับหน่วยงานของรัฐแล้ว เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565
4. การสร้างการตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้จัดทำสื่อข้อมูลเชิงภาพ (Data Visualization) แสดงภาพการถ่ายระดับของแผน 3 ระดับ ไปสู่การปฏิบัติ ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและรวมข้อมูลแผน 3 ระดับไว้ในที่เดียว โดยได้เผยแพร่สื่อข้อมูลดังกล่าวผ่านทางเว็บไชต์ของยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศด้วยแล้ว
5. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ สศช. ได้ขอให้หน่วยงานของรัฐจัดทำและพัฒนาข้อมูลสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ เช่น ข้อมูลสถิติ สถานการณ์ งานวิจัย หรือข้อมูลอื่นๆ พร้อมนำเข้าข้อมูลดังกล่าวในฐานข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อสนับสนุนการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ (Open Data Portal for Monitoring and Evaluation Government Projects under National Strategy: Open-D) ให้เป็นปัจจุบันและสม่ำเสมอ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐนำเข้าระบบ สรุปได้ ดังนี้ (1) ข้อมูลสถิติ สถานการณ์ ยังขาดความครอบคลุมในประเด็นแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติบางประเด็น เช่น ประเด็นศักยภาพการกีฬาและประเด็นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (2) การนำเข้าข้อมูลงานวิจัยมีจำนวนน้อยและขาดความครอบคลุมในหลายประเด็น (3) หน่วยงานมีการนำเข้าข้อมูลในรูปแบบไฟล์ PDF ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการประมวลผลข้อมูลและไม่เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรัดการนำข้อมูลสถิติ สถานการณ์ หรือข้อมูลอื่นๆ ที่จัดทำและพัฒนาในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา รวมถึงงานวิจัยที่แล้วเสร็จและมีความสอดคล้องกับห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทยของเป้าหมายแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เข้าในระบบ Open-D โดยต้องอยู่ในรูปแบบไฟล์ที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลได้ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการปรับปรุงแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดจนให้ทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเปิดของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ
_______________
*5 มิติความขัดสน ประกอบด้วย (1) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (2) การศึกษาและทักษะที่จำเป็น (3) สถานะทางสุขภาพ (4) คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และ (5) การเข้าถึงบริการ ความช่วยเหลือ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 3 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5076