WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2565

GOV8

สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2565

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

          สาระสำคัญ 

          1. สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ดังนี้

          ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนมีนาคม 2565 เท่ากับ 104.79 (ปี 2562 = 100) สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 5.73 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากสินค้าและบริการในประเทศปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุน ทั้งราคาพลังงาน วัตถุดิบที่นำเข้า และค่าขนส่ง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และพันธมิตร ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบที่รุนแรงเพราะต้นทุนทางเศรษฐกิจมีความเปราะบาง สำหรับสินค้าในกลุ่มอาหารสดปรับสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วไม่มาก ขณะที่ข้าวสาร ผลไม้สด ค่าเช่าบ้าน เสื้อผ้าและรองเท้า ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพิจารณาดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เทียบกับเดือนที่ผ่านมา สูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.66 (MoM) เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว โดยสินค้าบางรายการราคาปรับลดลง

          ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคมอยู่ที่ร้อยละ 5.73 (YoY) ยังคงเป็นราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ที่สูงขึ้นร้อยละ 32.43 (YoY) โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นร้อยละ 31.43 และค่ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้นร้อยละ 39.95 ซึ่งเป็นไปตามราคาพลังงานในตลาดโลก สินค้าประเภทอาหาร ได้แก่ เนื้อสัตว์ (เนื้อสุกร และไก่สด) ไข่ไก่ ผักสดบางชนิด (มะนาว ผักคะน้า ผักกาดขาว และพริกสด) เครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช ซีอิ๊ว และกะปิ) และอาหารปรุงสำเร็จบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง และอาหารตามสั่ง) ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ รวมทั้งฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ในระดับต่ำมีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่จำเป็นอีกหลายรายการที่ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ ข้าวสาร ผลไม้สด เสื้อผ้าและรองเท้า และค่าเช่าบ้าน เป็นต้น

 

AXA 720 x100

aia 720 x100

 

          ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สูงขึ้นร้อยละ 0.66 (MoM) เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 (เดือนก่อนหน้าสูงขึ้นร้อยละ 1.06) จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นร้อยละ 6.87 เป็นสำคัญ นอกจากนี้ อาหารปรุงสำเร็จบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน (ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง กับข้าวสำเร็จรูป และข้าวแกง/ข้าวกล่อง) เครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช ซอสปรุงรส และซอยหอยนางรม) ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่ราคาปรับลดลง ได้แก่ เนื้อสุกร ข้าวสาร นมและผลิตภัณฑ์นม (นมข้นหวาน และนมถั่วเหลือง) รวมถึงของใช้ส่วนบุคคล (แป้งผัดหน้า น้ำยาบ้วนปาก สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว) ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค ไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 4.75 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 1.91 (QoQ)

          สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมีนาคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 11.4 (YoY) ตามต้นทุน การผลิตและราคาวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง (เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี) รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าเกษตรสำคัญ ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้นร้อยละ 8.6 (YoY) เป็นการสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้าตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตวัสดุก่อสร้าง (น้ำมัน เหล็ก ถ่านหิน และอลูมิเนียม) ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.8 จากระดับ 44.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยลบจากราคาพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือที่ภาครัฐทยอยออกมาเพิ่มเติม และราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มสูงขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะต่อไป

          2. แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2565

          กระทรวงพาณิชย์ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2565 เป็นระหว่างร้อยละ 4.0 - 5.0 (ค่ากลางที่ ร้อยละ 4.5) จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในเดือนธันวาคม 2564 ระหว่างร้อยละ 0.7 – 2.4 (ค่ากลางที่ร้อยละ 1.5) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง ทั้งนี้ มาตรการของภาครัฐ ทั้งการกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น การพยุงราคาพลังงาน และการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทย

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 3 พฤษภาคม 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A5074

 Click Donate Support Web 

EXIM One 720x90 C J

วิริยะ 720x100

GC 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!