รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 04 May 2022 12:04
- Hits: 6131
รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2565
การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีมูลค่า 23,483.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (770,819 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 16.2 การส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักทั่วโลกอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งภาคการผลิต และภาคการบริโภค สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 ทั้งนี้ แม้จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน แต่ระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศยังสามารถรับมือการระบาดได้ดี โดยเฉพาะมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในภาคอุตสาหกรรมของไทยที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกไม่หยุดชะงัก และยังสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังมีความไม่แน่นอนจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 การส่งออก มีมูลค่า 23,483.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.2 การนำเข้า มีมูลค่า 23,359.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.8 ดุลการค้าเกินดุล 123.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ 2 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-กุมภาพันธ์) การส่งออก มีมูลค่า 44,741.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 12.2 การนำเข้า มีมูลค่า 47,144.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 18.7 ดุลการค้า ขาดดุล 2,403.1 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนกุมภาพันธ์ 2565 การส่งออก มีมูลค่า 770,818.8 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 28.2 การนำเข้า มีมูลค่า 776,612.0 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 28.7 ดุลการค้า ขาดดุล 5,793.2 ล้านบาท ขณะที่ 2 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-กุมภาพันธ์) การส่งออก มีมูลค่า 1,479,131.1 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 24.5 การนำเข้า มีมูลค่า 1,579,300.8 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 31.6 ดุลการค้า 2 เดือนแรก ขาดดุล 100,169.7 ล้านบาท
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย และทวีปแอฟริกาที่ปรับดีขึ้น โดยหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน ด้วยอานิสงส์จากแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ทำให้มีความต้องการซื้อจากประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 15.8 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 27.2 จีน ร้อยละ 3.0 ญี่ปุ่น ร้อยละ 2.6 อาเซียน (5) ร้อยละ 31.5 CLMV ร้อยละ 14.4 และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 8.3 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 12.2 ขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 14.2 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 13.8 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 8.2 และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ร้อยละ 23.0 ขณะที่ทวีปออสเตรเลีย และทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 2.5 และร้อยละ 0.8 ตามลำดับ และ (3) ตลาดอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 260.8
2. ปัจจัยสนับสนุนและมาตรการส่งเสริมการส่งออก
การส่งออกของไทยที่ขยายตัวได้ดีมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป จีน เกาหลีใต้ และอาเซียน (ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์) และ (2) สถานการณ์ค่าระวางเรือและการขาดแคลนเรือขนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น
มาตรการและแผนส่งเสริมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ที่สำคัญ อาทิ (1) เพิ่มศักยภาพการส่งออกสินค้าเกษตร ตามยุทธศาสตร์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เช่น การจัดประกวดหาข้าวพันธุ์ใหม่เสริมศักยภาพส่งออก ให้ไทยมีพันธุ์ข้าวตรงต่อความต้องการตลาด ผลผลิตต่อไร่สูง ลดต้นทุนการผลิต แข่งขันด้านราคาได้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการส่งออก 7 ล้านตันในปี 2565 (2) ผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่ อาทิ ตะวันออกกลาง โดยเฉพาะการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้ากับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งสามารถผลักดันให้องค์การอาหารและยาซาอุดีอาระเบีย (SFDA) อนุญาตนำเข้าไก่จากไทยได้สำเร็จ (3) สนับสนุนการค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่างประเทศ เช่น การนำสินค้าไทยขายบนแพลตฟอร์ม PChome ของไต้หวัน และมีแผนร่วมมือกับแพลตฟอร์ม PINKOI เพิ่มช่องทางจำหน่ายให้สินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้า BCG และแพลตฟอร์มออนไลน์ของไปรษณีย์ไต้หวัน และ (4) ส่งเสริมกิจกรรม OBM และส่งเสริมการขายกับห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศต่อเนื่อง อาทิ การจัด OBM กลุ่มอาหารแห่งอนาคต สินค้า BCG สร้างมูลค่า 3,450 ล้านบาท (ชาติคู่เจรจา 5 อันดับแรก คือ อินเดีย เมียนมา ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายกับห้างดองกี้ของญี่ปุ่น ในสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป ผลไม้ และ ข้าว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 3 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5073