มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 04 May 2022 11:58
- Hits: 6193
มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการตามมาตรการดังกล่าว โดยรายงานให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สทนช. รายงานว่า สทนช. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2564 และกำหนดมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันต่อสถานการณ์ นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สทนช. ได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งปี 2565/2566 ด้วย ซึ่ง กนช. ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 มีมติเห็นชอบมาตรการฯ และโครงการดังกล่าวแล้วและให้เสนอคณะรัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 จำนวน 13 มาตรการ สรุปได้ ดังนี้
การดำเนินงาน/กลไก |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
|
มาตรการที่ 1 คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ (เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นไป) |
||
(1) ประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในช่วงเดือนมีนาคม - ธันวาคม 2565 และปรับปรุงข้อมูลทุกเดือนเพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เตรียมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน (2) ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนน้อยกว่าค่าปกติ และฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2565 เพื่อให้หน่วยงานนำไปกำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการในเชิงป้องกันล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยง |
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และ สทนช. |
|
มาตรการที่ 2 การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก (ภายในเดือนสิงหาคม 2565) |
||
(1) จัดทำแผนการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ/แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำหลากและเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ1ในช่วงฤดูน้ำหลาก บริหารจัดการเพื่อป้องกันและบรรเทาระดับความรุนแรงของน้ำท่วม รวมถึงจัดทำแผนเก็บกักน้ำไว้ใช้ก่อนสิ้นฤดูฝน เช่น พื้นที่ทุ่งบางระกำ และพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง (2) กำหนดหลักเกณฑ์การใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองและการจ่ายเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหาย |
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ มท. |
|
มาตรการที่ 3 ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ - กลาง และเขื่อนระบายน้ำ (ภายในเดือนเมษายน 2565) |
||
(1) ทบทวน ปรับปรุงหลักเกณฑ์และมาตรฐานการบริหารจัดการน้ำสำหรับใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น เกณฑ์การระบายน้ำเขื่อน/อาคารระบายน้ำ การคาดการณ์ฝน และประเมินน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ (2) ติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ - กลาง เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำหรือเกณฑ์ควบคุม (3) จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ - กลาง ในช่วงภาวะวิกฤต |
กษ. ทส. และกระทรวงพลังงาน (พน.) |
|
มาตรการที่ 4 ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน (ภายในเดือนกรกฎาคม 2565) |
||
(1) ตรวจสอบสภาพความมั่นคงและซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำ รวมทั้งระบบระบายน้ำ (2) ตรวจสอบสถานีโทรมาตรและซ่อมแซมให้มีสภาพพร้อมใช้งานสามารถตรวจวัด แสดงผล และเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้ทุกหน่วยงานใช้ในการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ได้อย่างต่อเนื่อง |
อว. กษ. ดศ. ทส. พน. และ มท. |
|
มาตรการที่ 5 ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ (ภายในเดือนกรกฎาคม 2565) |
||
(1) สำรวจและจัดทำแผนดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ชะลอน้ำ และการปรับปรุงคูคลองเพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำและระบายน้ำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว (2) ทบทวน/ตรวจสอบสิ่งที่กีดขวางการไหลของน้ำในระบบทางน้ำ จากการศึกษาการจัดทำผังน้ำเพื่อจัดทำแผนปรับปรุงแก้ไขต่อไป |
กษ. กระทรวงคมนาคม (คค.) ทส. และ มท. |
|
มาตรการที่ 6 ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา (ภายในเดือนกรกฎาคม 2565) |
||
(1) จัดทำแผนบูรณาการด้านเครื่องจักร เครื่องมือ/สารชีวภัณฑ์ ในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช และดำเนินการขุดลอกคูคลอง (2) ประชาสัมพันธ์และเชิญชวนประชาชนในชุมชนช่วยกันจัดเก็บหรือกำจัดผักตบชวา (3) มอบหมายคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวากำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาในช่วงก่อนฤดูฝนและระหว่างฤดูฝน ปี 2565 |
อว. กษ. คค. ทส. มท. และ สทนช. |
|
มาตรการที่ 7 เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ (ภายในเดือนกรกฎาคม 2565) |
||
(1) เตรียมความพร้อมแผนป้องกันและบรรเทาภาวะน้ำท่วม ฝนน้อยกว่าค่าปกติ ฝนทิ้งช่วง และแผนเผชิญเหตุ (2) เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม ฝนน้อยกว่าค่าปกติ ฝนทิ้งช่วง สำหรับให้ความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง (3) เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและเข้าช่วยเหลือได้ทันสถานการณ์ (4) ติดตามวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ฝนน้อยกว่าค่าปกติด้วยภาพถ่ายดาวเทียม และอากาศยานไร้คนขับ กำหนดแนวทางและเงื่อนไขของการแจ้งเตือนตามระดับความรุนแรงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น (5) การปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงฝนทิ้งช่วง |
กระทรวงกลาโหม (กห.) อว. กษ. คค. ทส. มท. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ |
|
มาตรการที่ 8 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน) |
||
(1) วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (2) ลดการสูญเสียน้ำโดยการปรับปรุงวิธีการส่งน้ำและซ่อมแซมระบบการส่งน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้น้ำให้ได้ประโยชน์สูงสุด |
กษ. ทส. พน. และ มท. |
|
มาตรการที่ 9 ตรวจความมั่นคงและปลอดภัยคัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน) |
||
ตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงของคันกั้นน้ำ ทำนบ และพนังกั้นน้ำ และซ่อมแซม/ปรับปรุงให้มีสภาพดี รวมทั้งเตรียมแผนเสริมความสูงหากจำเป็น (แผนชั่วคราว) |
อว. กษ. คค. มท. สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
|
มาตรการที่ 10 จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ (ภายในเดือนพฤษภาคม 2565) |
||
(1) บูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับชาติและในระดับพื้นที่ (2) วางแผนจัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุระดับต่างๆ (อย่างน้อยภาคละ 1 พื้นที่) |
มท. สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
|
มาตรการที่ 11 ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน) |
||
(1) ตั้งศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าสำหรับเผชิญเหตุในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมและการบริหารจัดการสถานการณ์ โดยใช้การจัดตั้งศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าภาคใต้เป็นต้นแบบ (2) บูรณาการการทำงานร่วมกับกลไกการทำงานของแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ |
กห. อว. กษ. ดศ. ทส. มท. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี [สปน. (กรมประชาสัมพันธ์)] สทนช. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
|
มาตรการที่ 12 การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน) |
||
สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ช่วงฤดูฝน ปี 2565 ให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้และเข้าใจผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด องค์กรผู้ใช้นำ เครือข่ายต่างๆ และประชาชน |
มท. สปน. (กรมประชาสัมพันธ์) สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
|
มาตรการที่ 13 ติดตาม ประเมินผล และปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน) |
||
(1) กำหนดประเด็นตัวชี้วัดการดำเนินการ (2) ติดตาม วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด (3) สรุปผลเพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน |
สทนช. และทุกหน่วยงาน |
หมายเหตุ มาตรการที่ 9 - 11 เป็นมาตรการเพิ่มเติมจากมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564
2. การจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 จำนวน 13 มาตรการ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (สทนช. ได้ประสานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จำเป็นต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จและสอดคล้องกับมาตรการดังกล่าว แต่ยังไม่มีแหล่งงบประมาณ)
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
วัตถุประสงค์ |
(1) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฤดูฝน ปี 2565 (2) เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงการเกิดอุทกภัย (3) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 2565/2566 |
|
พื้นที่เป้าหมาย |
(1) พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย ตามที่ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด (2) พื้นที่เสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไข/บรรเทาปัญหาโดยเร่งด่วน ตามที่หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดเสนอผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด |
|
ระยะเวลาดำเนินการ |
120 วัน นับตั้งแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ |
|
กิจกรรม และประเภทแผนงานโครงการ |
(1) การซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ (2) การปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดผักตบชวา (3) การขุดลอกคูคลอง (4) การเตรียมพร้อมวางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ (5) การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง |
___________________________
1 พื้นที่หน่วงน้ำ คือ พื้นที่สำหรับพักน้ำหรือเก็บกักน้ำฝนไว้ชั่วคราว ก่อนที่จะปล่อยระบายลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 3 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5072