WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

(ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570)

GOV 5

(ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (.. 2566 - 2570)

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้

          1. เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (.. 2566 - 2570) (ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13) ตามที่ สศช. เสนอ

          2. มอบหมาย สศช. นำเสนอร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ต่อรัฐสภาเพื่อทราบก่อนกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป

          สาระสำคัญของเรื่อง 

          สศช. รายงานว่า

          1. การจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีกระบวนการดำเนินงานที่สำคัญ สรุปได้ ดังนี้

 

ช่วงเวลา

การดำเนินการ

เดือนมีนาคม

เมษายน 2564

สศช. นำกรอบร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) แล้ว เข้าสู่กระบวนรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน ผ่านช่องทางต่างๆ

เดือนมิถุนายน 2564

คณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้ดำเนินการยกร่างรายละเอียดของหมุดหมายการพัฒนาทั้ง 13 หมุดหมาย ตามที่กำหนดไว้ในกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

เดือนกันยายน 2564

รับฟังความคิดเห็นในเวทีการประชุมประจำปี 2564 ของ สศช. ผ่านช่องทางออนไลน์และได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและสื่อมวลชนทราบถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่จะมีขึ้นในระยะต่อไป

เดือนพฤศจิกายน 2564 - มกราคม 2565

รับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ผ่านการประชุมระดมความเห็นใน 18 กลุ่มจังหวัด และ 7 กลุ่มเฉพาะในส่วนกลาง และได้ส่งหนังสือเพื่อขอความเห็นไปยังหน่วยงานต่างๆ

เดือนกุมภาพันธ์ 2565

- สภาพัฒนาฯ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่ได้ปรับปรุงตามผลการรับฟังความคิดเห็นข้างต้น ตามที่ สศช. เสนอ

- คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีมติเห็นชอบและให้นำร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

 

QIC 720x100

 

          2. ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เป็นแผนระดับที่ 2 ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติและกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ประเทศควรมุ่งเน้นในระยะ 5 ปีถัดไป (.. 2566 - 2570) เพื่อให้ ประเทศไทยมีความมั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

 

ประเด็น

สาระสำคัญ

หลักการแนะแนวคิด

หลักการและแนวคิด 4 ประการ ได้แก่

(1) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

(2) การสร้างความสามารถในการล้มแล้ว ลุกไว

(3) เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs)

(4) การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green Economy: BCG)

วัตถุประสงค์

พลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน

เป้าหมายหลัก

ของการพัฒนา

มีเป้าหมายหลัก 5 ประการ ได้แก่

(1) การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม

(2) การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่

(3) การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม

(4) การเปลี่ยนผ่านการผลิตและบริโภคไปสู่ความยั่งยืน

(5) การเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่

ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย

ของแต่ละเป้าหมายหลัก

(1) รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 9,300 ดอลลาร์สหรัฐ (300,000 บาท[ปี 2564 รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 7,097 ดอลลาร์สหรัฐ (227,000 บาท)]

(2) ดัชนีความก้าวหน้าของคน1 อยู่ในระดับสูง เท่ากับ 0.7209 (ปี 2563 ความก้าวหน้าของคนอยู่ในระดับปานกลาง เท่ากับ 0.6501)

(3) ความแตกต่างของความเป็นอยู่ (รายจ่าย) ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุดร้อยละ 10 และต่ำสุดร้อยละ 40 มีค่าต่ำกว่า 5 เท่า

(ปี 2562 ความแตกต่างของความเป็นอยู่ (รายจ่าย) มีค่าเท่ากับ 5.66 เท่า)

(4) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบเคียงกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกปกติที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ปี 2561 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ลดลงร้อยละ 16)

(5) ดัชนีรวมสะท้อนความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง2 มีค่าไม่ต่ำกว่า 100

หมุดหมายการพัฒนา

มีทั้งหมด 13 หมุดหมายการพัฒนา จำแนกออกได้เป็น 4 มิติ ดังนี้

 

1. มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย (6 หมุดหมาย)

- หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง

- หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน

- หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก

- หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง

- หมุดหมายที่ 5 ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค

- หมุดหมายที่ 6 ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน

2. มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม (3 หมุดหมาย)

- หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้

- หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน

- หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม

3. มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2 หมุดหมาย)

- หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ

- หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

4. มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ (2 หมุดหมาย)

- หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต

- หมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

 

แนวทางการขับเคลื่อน

ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่

 

ส่วนที่ 1 กลไกการขับเคลื่อน

ประกอบด้วย 2 กลไกการ ได้แก่

(1) กลไกการบูรณาการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ร่วมมือกับภาคีจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานที่มีความสำคัญในระดับสูงต่อการบรรลุเป้าหมายของแต่ละหมุดหมาย โดยเฉพาะการดำเนินงานที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานการดำเนินงานที่เป็นการริเริ่มขึ้นใหม่ หรืออยู่นอกเหนือจากภารกิจปกติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

(2) กลไกตามภารกิจและกลไกในระดับพื้นที่ ขับเคลื่อนผ่านการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานและการดำเนินงานในระดับพื้นที่ โดยการจัดทำแผนระดับที่ 3 ให้สนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

ส่วนที่ 2 กลไกงบประมาณ

ผลักดันให้ระบบการจัดสรรงบประมาณของประเทศเป็นไปในทิศทางที่มุ่งสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ โดยการผนวกประเด็นการพัฒนาที่ต้องการมุ่งเน้นในแต่ละปีเข้ากับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ รวมถึงสนับสนุนให้ภาคเอกชนและภาคีการพัฒนาต่างๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมลงทุน

ส่วนที่ 3 การเสริมสร้างบทบาทของทุกภาคส่วนในการร่วมขับเคลื่อนแผน พัฒนาฯ ฉบับที่ 13

สนับสนุนการประสานกำลังของบวร” (บ้าน วัด โรงเรียน) เพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนการเสริมสร้างความร่วมมือกับประชาคมและองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นการพัฒนาที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค

 

แนวทางการติดตาม

ประเมินผล

ครอบคลุมการดำเนินงาน 3 ส่วน ได้แก่

(1) การติดตามความก้าวหน้า (สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ)

(2) การประเมินผลสัมฤทธิ์ (สำหรับโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ)

(3) การประเมินผลกระทบ (การศึกษาวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13)

 

ais 720x100

 

          3. หมุดหมายการพัฒนา จำนวน 13 หมุดหมาย ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เป็นการถ่ายทอดเป้าหมายหลักไปสู่การขับเคลื่อนที่ชัดเจนซึ่งมีที่มาจากการประเมินโอกาสและความเสี่ยงของประเทศไทย แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และผลการพัฒนาในประเทศในระยะเวลาที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

 

หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง

เป้าหมาย

- การเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป

- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริหารจัดการของภาคเกษตรเพื่อคุณภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และความยั่งยืนของภาคเกษตร

- การเพิ่มศักยภาพและบทบาทของผู้ประกอบการเกษตรในฐานะหุ้นส่วนเศรษฐกิจของห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับส่วนแบ่งประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

ตัวอย่างตัวชี้วัด

และค่าเป้าหมาย

- ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสาขาเกษตรเติบโต ร้อยละ 4.5 ต่อปี

- มีตลาดกลางสินค้าเกษตรภูมิภาคในภาคเหนือ 2 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง ภาคใต้ 2 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคตะวันออก 1 แห่ง เมื่อสิ้นสุดแผน

- พื้นที่ที่สามารถลดความเสี่ยงภัยน้ำท่วม-น้ำแล้ง และเกิดระบบจัดการน้ำชุมชน จำนวน 4,000 ตำบล เมื่อสิ้นสุดแผน

- ผู้ประกอบการเกษตรเพิ่มขึ้น ปีละ 4,000 ราย

ตัวอย่างกลยุทธ์

- การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า เพื่อให้เกิดการยกระดับกระบวนการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่ม

- การส่งเสริมการผลิตและการขยายตัวของตลาด ของสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปที่มีมูลค่าสูง

- การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรให้มีความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน รวมทั้งการใช้น้ำซ้ำ

- การส่งเสริมให้เอกชนลงทุนพัฒนาตลาดกลางและตลาดออนไลน์สินค้าเกษตร รวมถึงสินค้ากลุ่มปศุสัตว์และประมง

- การสนับสนุนระบบประกันภัยและรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปที่เกษตรกรเข้าถึงได้

- การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการฟาร์มและกิจกรรมหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าผลผลิตของเกษตรกร

- การยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

หมุดมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน

เป้าหมาย

- การเปลี่ยนการท่องเที่ยวไทยเป็นการท่องเที่ยวคุณภาพสูงที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและบริการที่มีศักยภาพอื่นๆ

- การปรับโครงสร้างการท่องเที่ยวให้พึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศและมีการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น

- การท่องเที่ยวไทยต้องมีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนในทุกมิติ

ตัวอย่างตัวชี้วัด

และค่าเป้าหมาย

- นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติมีค่าใช้จ่ายต่อวันเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี

- รายได้จากการท่องเที่ยวของเมืองท่องเที่ยวรองเฉลี่ยทุกเมือง เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี (ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของเมืองรองทั้งหมด)

- ผู้ประกอบการและแหล่งท่องเที่ยวได้รับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี

ตัวอย่างกลยุทธ์

- การส่งเสริมการพัฒนากิจกรรม สินค้า และบริการ การท่องเที่ยวมูลค่าเพิ่มสูง

- การยกระดับบริการและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดสากล

- การปรับปรุงกฎหมาย/กฎระเบียบ และขั้นตอนที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจและการขอใบอนุญาตของผู้ประกอบการรายย่อย

หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก

เป้าหมาย

- การสร้างอุปสงค์ของรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ เพื่อการใช้ในประเทศและส่งออก

- ผู้ประกอบการเดิมสามารถปรับตัวไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและมีการลงทุนเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญภายในประเทศ

- การสร้างความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนอย่างเป็นระบบ

ตัวอย่างตัวชี้วัด

และค่าเป้าหมาย

- ปริมาณการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์) จำนวน 380,250 คัน คิดเป็นร้อยละ 17 ของยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2570 

- อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นฐานการผลิตอันดับ 1 ในอาเซียน และ 1 ใน 10 ของโลก

- จำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ/หัวจ่ายชาร์จเร็ว เพิ่มขึ้น 5,000 หัวจ่าย ภายในปี 2570

ตัวอย่างกลยุทธ์

- การส่งเสริมให้ผู้ใช้ในภาคส่วนต่างๆ ของประเทศปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

- การกำหนดเป้าหมาย/แผน และดำเนินการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า อย่างเป็นระบบชัดเจนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ในระยะ 5 ปี

- การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไร้คนขับ

- การปรับปรุงและจัดทำกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เอื้อกับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและให้ความสำคัญกับการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน

หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง

เป้าหมาย

- ไทยมีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากสินค้าและบริการสุขภาพ

- องค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีศักยภาพเอื้อต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการทางสุขภาพ

- ประชาชนไทยได้รับความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ

- การเปลี่ยนผ่านการผลิตและบริโภคไปสู่ความยั่งยืน

ตัวอย่างตัวชี้วัด

และค่าเป้าหมาย

- สัดส่วนมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการสุขภาพต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 1.7 

- มูลค่าการนำเข้าครุภัณฑ์ทางการแพทย์ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 (20,000 ล้านบาท) เมื่อสิ้นสุดแผน

- สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนต่อค่าใช้จ่ายสุขภาพทั้งหมดไม่เกินร้อยละ 12

ตัวอย่างกลยุทธ์

- การส่งเสริมบริการทางการแพทย์ที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

- การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพระดับโลก

- การสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ

- การสร้างเสริมขีดความสามารถทางวิชาการด้านการศึกษา วิจัย และเทคโนโลยีทางการแพทย์

- การยกระดับศักยภาพระบบบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเพื่อลดผลกระทบต่อบริการทางเศรษฐกิจและสุขภาพ

หมุดหมายที่ 5 ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค

เป้าหมาย

- ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนในภูมิภาค

- ไทยเป็นห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค

- ไทยเป็นประตูและทางเชื่อมโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาค

ตัวอย่างตัวชี้วัด

และค่าเป้าหมาย

- อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ (โดยสถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการ) มีอันดับดีขึ้น

- มูลค่าการลงทุนรวมในประเทศขยายตัวเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 ต่อปี หรือสัดส่วนการลงทุนรวมต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 27 ต่อปี

- สัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศน้อยกว่าร้อยละ 11

ตัวอย่างกลยุทธ์

- การสร้างจุดยืนของไทยภายใต้บริบทโลกใหม่

- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยสนับสนุนเพื่อเป็นประตูการค้าการลงทุนและฐานเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาค

- ผลักดันการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายสู่ไทยแลนด์ 4.0

หมุดหมายที่ 6 ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน

เป้าหมาย

- เศรษฐกิจดิจิทัลภายในประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

- การส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของประเทศเพิ่มขึ้น

- อุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของประเทศมีความเข้มแข็งขึ้น

ตัวอย่างตัวชี้วัด

และค่าเป้าหมาย

- สัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ภายในปี 2570

- มีบุคลากรที่มีทักษะด้านผู้บูรณาการระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ จำนวน 400,000 ราย ภายในปี 2570

- จำนวนสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 6,000 แห่ง ภายในปี 2570 โดย 1 ใน 3 เป็นผู้ประกอบการที่ย้ายมาจากต่างประเทศ

ตัวอย่างกลยุทธ์

- การขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจไทยด้วยดิจิทัล

- การพัฒนาต่อยอดฐานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

- การพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล

หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้

เป้าหมาย

- วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตและแข่งขันได้

- วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีศักยภาพสูงในการดำเนินธุรกิจ สามารถยกระดับและปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันใหม่

- วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงและได้รับการส่งเสริมอย่างมีประสิทธิผลจากภาครัฐ

ตัวอย่างตัวชี้วัด

และค่าเป้าหมาย

- สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40

- ส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 ในปี 2570

ตัวอย่างกลยุทธ์

- การพัฒนาระบบนิเวศให้เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจและการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

- การส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เป็นผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล

- การพัฒนาระบบนิเวศให้เอื้อต่อการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม รวมทั้งให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม และเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายระดับโลก และยกระดับสู่ตลาดต่างประเทศ

- การส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมให้มีศักยภาพการดำเนินการในเชิงธุรกิจ

หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน

เป้าหมาย

- การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคและการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษขยายตัวเพิ่มขึ้น

- ความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้ของภาคลดลง

- การพัฒนาเมืองให้มีความน่าอยู่ อย่างยั่งยืน มีความพร้อมในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึง

ตัวอย่างตัวชี้วัด

และค่าเป้าหมาย

- มูลค่าการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ .. 2561 - 2580 ประเด็น 9 เขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีมูลค่าการลงทุน 500,000 ล้านบาท พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้มีมูลค่าการลงทุน 100,000 ล้านบาท และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมีมูลค่า 10,000 ล้านบาท

- เมืองอัจฉริยะมีจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 105 พื้นที่ ภายในปี 2570

ตัวอย่างกลยุทธ์

- การสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก การส่งเสริมกลไกความร่วมมือภาครัฐ เอกชน ประชาชน และประชาสังคมเพื่อการพัฒนาพื้นที่และเมือง

- การสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และดิจิทัลรองรับพื้นที่เศรษฐกิจหลักและเมือง

หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม

เป้าหมาย

- ครัวเรือนที่มีแนวโน้มกลายเป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น มีโอกาสในการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม จนสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างยั่งยืน

- คนไทยทุกช่วงวัยได้รับความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

ตัวอย่างตัวชี้วัด

และค่าเป้าหมาย

- อัตราการเข้าเรียนสุทธิแบบปรับของเด็กจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100 และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70

- แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของกำลังแรงงานรวม

- สัดส่วนของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่เข้าถึงบริการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำว่าร้อยละ 70

ตัวอย่างกลยุทธ์

- การแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นแบบมุ่งเป้าให้ครัวเรือนหลุดพ้นความยากจนอย่างยั่งยืน

- การสร้างโอกาสที่เสมอภาคแก่เด็กจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น

- การยกระดับความคุ้มครองทางสังคมสำหรับคนทุกช่วงวัย

- การพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมให้มีประสิทธิภาพ

หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ

เป้าหมาย

- การเพิ่มมูลค่าจากเศรษฐกิจหมุนเวียน และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

- การอนุรักษ์ ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

- การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

ตัวอย่างตัวชี้วัด

และค่าเป้าหมาย

- มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มขึ้น สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ในปี 2570

- พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นโดยเป็นป่าไม้ธรรมชาติ ร้อยละ 33 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ร้อยละ 12 ของพื้นที่ประเทศภายในปี 2570

- สัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนต่อปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 24 ภายในปี 2570

ตัวอย่างกลยุทธ์

- การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ

- การสร้างรายได้สุทธิให้ชุมชน ท้องถิ่นและเกษตรกรจากเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ

- การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาดบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เป้าหมาย

- ความเสียหายและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลดลง

- ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลดลง

- สังคมไทยมีภูมิคุ้มกันจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตัวอย่างตัวชี้วัด

และค่าเป้าหมาย

- จำนวนประชาชนที่เสียชีวิต สูญหาย และได้รับผลกระทบโดยตรงจากภัยธรรมชาติลดลงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ในแต่ละภัย

- มีแผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพื้นที่

- มีกองทุนเพื่อสนับสนุนการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการศึกษาวิจัยและเป็นแหล่งเงินรับประกันภัยต่อ

ตัวอย่างกลยุทธ์

- การป้องกันและลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่สำคัญ (พื้นที่ชุมชนเมืองและสิ่งปลูกสร้าง พื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและประวัติศาสตร์)

- การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูงมุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต

เป้าหมาย

- คนไทยได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพในทุกช่วงวัย มีสมรรถะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่มีคุณลักษณะตามบรรทัดฐานที่ดีของสังคม มีคุณธรรม จริยธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมฉับพลันของโลก สามารถดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข

- กำลังคนมีสมรรถนะสูง สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตเป้าหมายและสามารถสร้างงานอนาคต

- ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ตัวอย่างตัวชี้วัด

และค่าเป้าหมาย

- ดัชนีพัฒนาการเด็กสมวัยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 88 เมื่อสิ้นสุดแผน

- จำนวนผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาความยากจนหลายมิติลดลงร้อยละ 20 ของจำนวนผู้สูงอายุที่ยากจนต่อปี

- การจัดอันดับในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถ สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจมีคะแนนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี

ตัวอย่างกลยุทธ์

- คนไทยทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ

- การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง

หมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

เป้าหมาย

- การบริการภาครัฐ มีคุณภาพ เข้าถึงได้ (สะดวก ประหยัด ตอบโจทย์ประชาชน)

- ภาครัฐที่มีขีดสมรรถนะสูง คล่องตัว (เปิดกว้าง ทันสมัย โปร่งใส)

ตัวอย่างตัวชี้วัด

และค่าเป้าหมาย

- ความพึงพอใจในคุณภาพการให้บริการของภาครัฐ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90

- ผลการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ในองค์ประกอบ ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ ดัชนีทุนมนุษย์ และดัชนีการให้บริการภาครัฐออนไลน์ ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก และมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 0.82

ตัวอย่างกลยุทธ์

- พัฒนาคุณภาพการให้บริการภาครัฐที่ตอบโจทย์ สะดวก และประหยัด

- ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการและโครงสร้างของภาครัฐให้ยืดหยุ่น เชื่อมโยง เปิดกว้าง และมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ

- สร้างระบบบริหารภาครัฐที่ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนและพัฒนาบุคลากร ให้มีทักษะที่จำเป็นในการให้บริการภาครัฐดิจิทัล และปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ มาตรการภาครัฐให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ

_________________

1 ความก้าวหน้าของคน ประกอบด้วยตัวชี้วัด 8 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา ชีวิตการงาน รายได้ ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมชีวิตครอบครัวและชุมชน การคมนาคมและการสื่อสาร และการมีส่วนร่วม ทั้งนี้ ในปี 2563 ความก้าวหน้าของคนอยู่ในระดับปานกลาง (0.6501)

2 ตัวชี้วัดย่อยสำหรับดัชนีรวมสะท้อนความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย 4 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) ขีดความสามารถของการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศและการเตรียมความพร้อมฉุกเฉินด้านสุขภาพ (2) อันดับความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ (3) อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล และ (4) อันดับประสิทธิภาพของรัฐบาล (สศช. อยู่ระหว่างการพัฒนาตัวชี้วัดดังกล่าวเพื่อใช้ในการติดตามความก้าวหน้าของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13)

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 3 พฤษภาคม 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A5068

 Click Donate Support Web 

EXIM One 720x90 C J

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100GC 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!